เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
วันหนึ่งในขณะที่นักเรียนไปเที่ยวบ้านอาจารย์ Marjan Pirard ซึ่งอยู่ไกลในเมืองเล็กทางตะวันตก อาจารย์ Wim Van Damme ศาสตราจารย์แห่งวิชานโยบายสาธารณสุขก็ได้มาตามนักเรียนไปดูดอกไม้สีม่วงสวยงาม ถามว่ารู้จักไหม เพราะนี่คือดอกดิจิทัลลิส (Digitalis) ที่แพทย์และเภสัชกรคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นยาสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ มนุษย์ในยุโรปรู้จักยาตัวนี้ดีตั้งแต่สมัยโบราณเช่นเดียวกับดอกฝิ่นที่คนเอเชียรู้จักดีมาก่อนใคร ดอกดิจิทัลลิสจากรูปที่เห็นนี้มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Digitalis purpurea เป็นไม้ล้มลุกอายุราวสองปี ยามหน้าหนาวจะเจียมตัว ยามหน้าร้อนออกดอกสวยงาม ชื่อพื้นเมืองคือดอกสวมนิ้ว เพราะดอกสามารถสวมที่ปลายนิ้วได้เหมือนเหล็กสวมปลายนิ้วที่คนสอยผ้าในอดีตใช้ป้องกันเข็มแทงนิ้วกัน อาจารย์วิมยังเล่าแถมด้วยว่าในสมัยโบราณในยุโรปนั้นสถานที่ 4 แห่งมักจะอยู่ด้วยกันคือ โบสถ์ โรงพยาบาล สุสาน และสวนพฤกษศาสตร์หรือสวนสมุนไพร ชวนให้นึกถึงบริบทประเทศไทยในปัจจุบันที่สี่ที่ว่านี้ในปัจจุบันคือโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา และร้านขายโลง
การแพทย์ในสมัยโบราณก็ใช้การสังเกต การทดลอง ลองผิดลองถูก จดบันทึกสะสมความรู้มาเรื่อย เชื่อว่าอย่างดอกดิจิทัลลิสก็อาจเรื่มจากที่คนนำมาชงชากินหรือเด็ดดอกเด็ดใบมาชิมแล้วปรากฎว่าอาการโรคหัวใจของตนเองดีขึ้น ก็นำมาสู่การทดลองสังเกตบอกต่อ บางคนชงเข้มข้นไปเกิดอาการข้างเคียง บางคนถึงตาย เพราะพิษของมัน ความรู้ต่อยอดสะสมรุ่นต่อรุ่นจนเป็นความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จากพืชที่ต้องปลูกก็สกัดออกมาจนรู้เคมีที่เป็นสารออกฤทธิ์ ต่อมาวิชาเคมีก้าวหน้าก็สังเคราะห์สารเหล่านั้นเองในห้องทดลองโดยไม่ต้องไปหาจากธรรมชาติอีกต่อไป มีเนื้อยาคงที่ไม่ขึ้นกับดินกับอากาศ เป็นแนวคิดยาเดี่ยวแห่งโลกตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากคนละขั้วกับแนวคิดยาแผนตะวันออกที่ไม่เน้นยาเดี่ยว แต่เน้นไปที่สมดุล แม้แต่ยาก็ต้องมีสมดุลของร้อนเย็น ธาตุดินน้ำลมไฟ รากไม้สี่ห้าชนิดจึงจะเกิดความสมดุล
เภสัชวิทยาในอดีตเริ่มในป่าและสวนพฤกษศาสตร์ ความรู้แบ่งปันช่วยกันแต่งเติม ไม่มีเจ้าของ ไม่อาจบ่งบอกว่าเป็นของใคร แต่เภสัชวิทยาในสมัยนี้เริ่มกันในหลอดทดลอง ความรู้เป็นเสมือนคาถามนต์ดำพึมพำที่ยากจะเข้าใจ มีรั้วมีเจ้าของ จำกัดเป็นความลับ จดทะเบียนสิทธิบัตร ด้วยวลีสวยหรู”ทรัพย์สินทางปัญญา” จัดขายเพื่อทำกำไร กำไรบ้างไม่ว่าถ้าไม่เกินไป แต่นี่เลยเถิดจนไม่เหลือความเมตตา โดยเฉพาะสิทธิบัตรยาที่ผูกขาดนานถึงยี่สิบปี เชื่อว่ายิ่งทำให้การคิดค้นพัฒนาต่อยอดของความรู้ชะลอตัวลง โลกวันนี้ก็ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะกลับไปต้มดอกดิจิทัลลิสกินเป็นยาแล้ว การลดระยะเวลาการผูกขาดสิทธิบัตรจึงเป็นการปลดปล่อยมวลมนุษยชาติจากการทำกำไรที่เกินพอดี
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส