เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ในหลายประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่ายุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมทั้งอินเดีย จะมีย่านหนึ่งที่เราอาจเรียกว่าเป็นย่านโคมแดง หรือที่เบลเยียม เนเธอร์แลนด์เขาเรียกว่า red-light district คือเป็นย่านพื้นที่เฉพาะสำหรับหญิงบริการ ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเพศ เช่น sex-shop หรือสถานบันเทิงที่ห้ามเด็กเข้า เป็นการจัดโซนนิ่งไม่ให้กระจายไปทั่วเมือง ลักษณะเด่นของย่าน red-light district จะเป็นห้องแถวที่กระจกบานใหญ่ให้ผู้คนสามารถมองเห็นภายในตู้กระจกได้ มีหญิงบริการยืนนุ่งน้อยห่มน้อยชักชวนเรียกแขกที่เดินผ่านไปมา มีทุกสีผิวหลากหลายเชื้อชาติ คนที่เดินผ่านไปมาสามารถเดินชมได้แต่ห้ามถ่ายรูป สนนราคาที่อัมสเตอร์ดัมเริ่มต้นที่ 50 ยูโรต่อครั้งในเวลาราว 15-20 นาที ในขณะที่ค่าแรงทั่วไปเช่นการเป็นเด็กเสริฟในร้านอาหารนั้นอยู่ที่ราว 8.5-10 ยูโรต่อชั่วโมง ส่วนภาพนี้คือหัวถนนที่จะเดินสู่ย่านนี้ในกรุงบรัสเซลส์
หญิงบริการในยุโรปตะวันตกยกเว้นนอร์เวย์และสวีเดนเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย แต่ต้องขึ้นทะเบียนและปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมโรค ทั้งนี้เพื่อสุขภาพของทั้งตัวหญิงบริการและลูกค้า รวมทั้งเป็นการคุ้มครองหญิงบริการจากการปฏิบัติที่ก้าวข้ามเกินกว่าความยินยอมของหญิงบริการ การทำร้ายร่างกายหรืออาชญากรรม ที่เนเธอร์แลนด์ถึงขนาดมีสหภาพแรงงานหญิงบริการด้วยเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขา ด้วยหลายเหตุผลรวมทั้งการมีระบบการดูแลหญิงบริการ ทำให้ในยุโรปตะวันตกอัตราการติดเชื้อ HIV นั้นต่ำมากๆ เช่นในปี 2009 เบลเยียมมีผู้ติดเชื้อ HIV 0.2% ของประชากร หรือราว 14,000 ราย ส่วนใหญ่ติดในกลุ่มชายรักชาย ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ราว 6 แสนรายหรือ 1.3%ของประชากร และเป็นประเทศที่มีความชุกของผู้ติดเชื้อ HIV สูงอันดับต้นๆของทวีปเอเชีย ส่วนแอฟริกาใต้หนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อหนาแน่นที่สุดนั้นมีผู้ติดเชื้อถึง 17.8%ของประชากรในปี 2009
หญิงบริการหรือชายบริการเป็นหนึ่งในอาชีพเก่าแก่ของมนุษยชาติ ยิ่งในโลกแห่งการบริโภคนิยม เสรีภาพและวัตถุนิยมแสงสีในปัจจุบัน วิธีคิดแบบตะวันตกคือการทำให้อาชีพนี้ผิดกฎหมายไม่สามารถหยุดหรือลดจำนวนผู้คนที่จำเป็นต้องผ่านเข้ามาในถนนสายนี้ได้ รังแต่จะยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากในชีวิตคนชายขอบเหล่านั้นและกระทบสังคมโดยรวม ประเทศไทยนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีย่านโคมแดงเพียงแต่รัฐไม่ยอมรับการมีอยู่อย่างเป็นทางการเท่านั้น การยอมรับการมีตัวตนและการดูแลการปกป้องสิทธิของคนกลุ่มนี้เป็นหนทางสำคัญในการจัดระบบสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง แม้จะไม่ถึงขนาดการยอมรับให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่เราก็สามารถสร้างระบบการดูแลสังคมที่ดีกว่านี้ได้
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส