เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมฟาร์มวัวนมแห่งหนึ่ง ภาคเกษตรกรรมแห่งโลกตะวันตกนั้นมีสิ่งที่ต้องทำไม่ต่างจากภาคอุตสาหกรรมคือใช้วิทยาศาสตร์ ใช้เทคโนโลยี ใช้มาตรฐานมากมายไม่แพ้ภาคอุตสาหกรรม เช่นวัวทุกตัวต้องติกแท็กที่ใบหูเหมือนบัตรประชาชน ต้องขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูลยุโรป ต้องฉีดวัคซีนต้องตรวจโรคโดยสม่ำเสมอ ต้องทำประวัติราวอาชญากร ยามแก่ส่งเข้าโรงเชือดก็ปิดแฟ้มประวัติรายนี้ไป อาหารที่กินก็มีสูตรเฉพาะ ไม่ได้กินแต่หญ้าในท้องทุ่งเท่านั้นอีกต่อไป ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรือนมากกว่าในทุ่งหญ้า มีมาตรฐานฟาร์ม มีกฎระเบียบมากมายที่ต้องปฏิบัติ
วัวนมตัวใหญ่พันธ์ดีแห่งฟาร์ม hollebeekhoeve ให้นมตัวละ 30-40 ลิตรต่อวัน ที่มีมีวัวนม 140 ตัว ชีวิตที่คนเบลเยียมวันนี้ แม้จ้างแพงก็หาคนยอมตื่นตีสี่มารีดนมทุกวันวันละ 2 เวลาก็ยังหายาก แรงงานขาดแคลนมากจนในที่สุด เครื่องรีดนมวัวอัตโนมัติก็เข้ามาแทนที่ เครื่องละ 5 ล้านบาท ต่อวัว 70 ตัว เครื่องตั้งอยู่เฉยๆ วัวจะเบียดเข้ามาให้เครื่องรีดนมเอง เพราะอึดอัดเต้านมและต้องการขนมที่เครื่องจะให้กินเป็นรางวัล เมื่อวัวเข้าซองเรียบร้อย แปรงจะทำความสะอาดเต้า เซนเซอร์จะหาหัวนมแล้วสวมดูดนมจนได้ที่ เครื่องก็จะจี้ไฟฟ้าให้วัวต้องเดินออกไป เพื่อเปิดทางให้วัวตัวใหม่เข้ามา วัวทุกตัวมีแถบที่คอ ตัวไหนมารีดนมไม่ครบวันละ 3 ครั้ง ตัวไหนนมมีอุณหภูมิสูงซึ่งอาจหมายถึงไม่สบาย ตัวไหนให้ปริมาณนมน้อย ตัวไหนเป็นวัวหัวหมอชอบเข้ามาให้รีดนมเพื่อจะเอาขนมโดยที่เต้ายังมีนมไม่เต็ม เครื่องจะบันทึกและออกรายงานทุกวัน สัตว์แพทย์ วิศวกรช่างเทคนิค เข้ามาทำหน้าที่ตามรอบรายสัปดาห์รายเดือน
ได้นมมาแล้วจะนำมาผ่านเครื่องจักรเพื่อทำการฆ่าเชื้อด้วยกระบวนการพาสเจอร์ไรเซชั่น บรรจุกล่อง นำส่งตลาดห้างร้าน รายวัน ทุกอย่างแทบจะอัตโนมัติ ส่วนเกษตรกรรายย่อยในละแวกนั้นที่ไม่มีเครื่องฆ่าเชื้อบรรจุกล่องก็นำส่งนมสดมาขายให้ฟาร์มแห่งนี้ กลายเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่รัฐไม่ต้องส่งเสริม แต่กลไกตลาดช่วยสร้างขึ้นมา
ที่ดินกว้างใหญ่ในชนบทมองไปราวกับว่าทุกคนในหมู่บ้านมีที่ดินเกษตรกันทุกคน แต่พอถามไถ่ไปกลับตรงกันข้าม คนในหมู่บ้านกว่าครึ่งทำงานเป็นลูกจ้างในเมือง ส่วนน้อยเป็นลูกจ้างภาคเกษตร และส่วนน้อยที่สุดเป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเกษตรกรตัวจริง ที่นี่เกษตรกรจึงเป็นชนชั้นที่มีอันจะกิน ไม่รวยก็ทำการเกษตรยากเพราะทุกอย่างต้องลงทุน ใช้เครื่องจักร ใช้สารเคมี ใช้ความรู้ ใช้การบริหารจัดการ และมีมาตรฐานกำกับหนาแน่น ในวิกฤตยูโรโซนเมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่คนไทยกลับบ้านนอกไปปลูกข้าวปลูกผักเลี้ยงชีพนั้น จึงไม่เกิดขึ้นในยุโรป คนว่างงานก็ต้องรอรัฐบาลสร้างงานเป็นหลัก
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส