เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ทุ่งสีเหลืองทองหรือทุ่ง rapeseed เป็นภาพที่สวยงามของชนบทยุโรป ทุ่งแบบนี้ที่เบลเยียมเรียกว่าทุ่งต้น canola ปลูกเป็นทุ่งกว้างใหญ่เป็นพันไร่ ทั้งปลูกใส่ปุ๋ยใส่ยาและเก็บเกี่ยวล้วนใช้เครื่องจักร เราจึงไม่ได้เห็นเกษตรกรเดินตากแดดตากลมอยู่ในทุ่งเฉกเช่นบ้านเรา เวลาออกดอกมีสีเหลืองสวยงามเหมือนนาข้าวเหลืองอร่ามในบ้านเรา เกษตรกรที่นี่ เขาเอาเมล็ดมาสกัดน้ำมันนำมารับประทานได้ สกัดสารไปผลิตเป็นยา และที่สำคัญเขานำไปเป็นไบโอดีเซล ความน่าสนใจของทุ่งคาโนลาไม่ใช่แต่เรื่องไบโอดีเซลอย่างเดียว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือคดีฟ้องร้องในประเทศแคนาดา
บริษัทยักษ์ใหญ่มอนซาโต้เจ้าของยาฆ่าหญ้ายี่ห้อราวด์อัพ ได้พัฒนาพืชตัดแต่งพันธุกรรมจำนวนมากรวมทั้งต้นคาโนลาขึ้นมาให้ทนทานต่อยาราวด์อัพได้ เมื่อฉีดยานี้วัชพืชทุกชนิดจะตายหมดยกเว้นต้นจากมอนซานโต้ที่เมล็ดที่มียีนที่ทนต่อยานี้ และได้จดสิทธิบัตรและขายเมล็ดนี้ให้กับเกษตรกร เกษตรกรต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสิทธิบัตรนี้ทุกปีแม้จะใช้เมล็ดจากต้นที่ตนปลูกเองในปีต่อไปๆ คุณลุงเพอร์ซี ชไมเซอร์ (Percy Schmeiser) อายุ 70 ในชนบทได้นำเมล็ดที่ปนเปื้อนพันธุกรรมในแปลงของตนเองไปปลูก เพราะมันเข้ามาปนเปื้อนโดยธรรมชาติ และต่อมาถูกบริษัทมอนซานโต้ฟ้องให้จ่ายเงินชดเชยให้บริษัท ประเด็นการต่อสู้จึงอยู่ที่สิทธิในสิทธิบัตรของบริษัทต่อพันธุกรรมประดิษฐ์หรือสิทธิของชาวนาในการใช้เมล็ดพันธุ์จากไร่นาของตนเอง เพราะเมล็ดพันธุ์นั้นมีการปนเปื้อนของยีนส์ประดิษฐ์ตามธรรมชาติโดยไม่ได้ไปขโมยมา
ลุงชไมเซอร์สู้แพ้ไปสองศาล ผู้พิพากษาตัดสินยืนข้างสิทธิของเจ้าของสิทธิบัตรและให้ลุงต้องจ่ายค่าชดเชยคืนแก่มอนซานโต้ ส่วนประเด็นที่ลุงชไมเซอร์สูญเสียความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติและสูญเสียการเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ไปนั้นไม่ได้รับการพิจารณา การต่อสู้ของชาวนาสูงอายุเริ่มเป็นที่สนใจ ในที่สุดศาลสูงสุดตัดสินให้มอนซานโต้เป็นฝ่ายชนะ สิทธิในเมล็ดพันธุ์ประดิษฐ์ของบริษัทใหญ่กว่าสิทธิชาวนาต่อเมล็ดพันธุ์ในไร่ตนเอง แต่ได้ยกคำตัดสินของสองศาลแรกในการจ่ายค่าชดเชย ค่าใช้จ่ายของบริษัทในการสู้คดีรวมหลายแสนเหรียญไป แต่ถึงกระนั้นลุงชไมเซอร์ก็แทบหมดตัวจากค่าใช้จ่ายการสู้คดี 6 ปี จากชาวนาตัวเล็กๆกลายเป็น activistจำเป็นโดยไม่รู้ตัว ผันชีวิตจากเกษตรกรมาเดินสายต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกรไปทั่วโลก และได้รับรางวัลมหาตมะคานธี ในปีค.ศ. 2000 ในฐานะคนธรรมดาที่กล้าต่อสู้กับจักรวรรดินิยมมอนซานโต้เฉกเช่นมหาตมะคานธีที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอินเดียจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส