สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แนวทางสู่การสร้างสงขลาพอเพียง

สงขลาพอเพียง

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสครบรอบพระชนมายุ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดสงขลาจึงเห็นร่วมกันกับภาคีทุกภาคส่วน ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานสร้างสุขภาวะภายในจังหวัดสงขลาให้มีจุดหมายร่วมที่สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกพื้นที่ และในทุกภาคส่วน ร่วมผลักดัน “วาระพลเมืองเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสงขลา : สงขลาพอเพียง”

โดยมีเป้าหมายสูงสุด ก็คือ การทำให้คนพอเพียง และชุมชนพอเพียง สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์

ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี 1

แนวทางสู่การสร้างสงขลาพอเพียง

คนและชุมชนพอประมาณ

การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวดำเนินการโดยใช้ยุทธศาสตร์หลักดำเนินการ ได้แก่ การสร้างค่านิยมร่วม โดยมุ่งเน้นความสำเร็จในด้านต่างๆดังนี้

  1. คนสงขลามีผู้นำที่ดี ร่วมมือกันยกย่องต้นแบบผู้นำแห่งการทำความดี ที่สอดคล้องกับภาวะหรือคุณลักษณ์ผู้นำที่ต้องการ กล่าวคือต้องมีความเสียสละ เห็นแก่เรื่องส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มีคุณธรรม จริยธรรม หรือเป็นผู้นำทางความคิด นำในการปฎิบัติ เก่ง ดี มีสุข(เช่น มีสัมมาอาชีพ/สุขภาพดี) หรือเป็นผู้นำทางปัญญา มีหลายระดับ สามารถเป็นแบบอย่างของชีวิตทุกด้าน 7 ด้านได้แก่ ด้านจิตวิญญาณ ด้านจิตใจ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านการเงิน ด้านครอบครัว และด้านชีวิตสมรส อีกทั้งควรเป็นคนถ่อมใจฟังคนอื่น รับใช้คนอื่น หรือมีความสอดคล้องกับอุดมการณ์สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระบิดา

    “ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง

    ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง”

    และแนวคิดของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ “เกิดมาเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

  2. คนสงขลามีความรักชาติ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบความเป็นชาติ กล่าวคือต้องมีดินแดน มีประชาชน(พลเมืองกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะ เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ มีบทบาทในการพัฒนา) มีผู้นำ(ในที่นี่หมายรวมตั้งแต่รัฐบาลไปถึงความเป็นพ่อหรือครอบครัวที่สามารถเป็นแบบอย่าง) มีกฎกติการ่วม มีวัฒนธรรมร่วมที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น อาหาร “ไข่ครอบ” ภาษา “สะกอม”อาคารที่อยู่อาศัย “เรือนไทยเกาะยอ” “เรือนไทยลุ่มน้ำทะเลสาบ” การแต่งกาย/ภูมิปัญญาต่างๆ และเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

  3. คนสงขลาพออยู่ พอกิน พึ่งตนเองได้ กล่าวคือ เราต้องพึ่งตนเองได้ทางปัญญา ทางความคิด และการกระทำ วัดได้จากการแสดงออก โดยมุ่งเน้นกิจกรรมปฎิบัติได้ในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น มีความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ซื้อแต่น้อย ทำใช้เองให้มาก ลด ละ เลิก ค่านิยมที่ไม่ดี เช่น หน้าใหญ่ใจเติบ การจัดงานบุญ/งานแต่ง/งานศพที่ฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองเงินทอง ไม่ดีต่อสุขภาพ ร่วมสร้างผู้นำต้นแบบ เน้นอยู่ร่วมกัน ให้รู้คุณค่าฐานทรัพยากรที่เป็นต้นทุนทางสังคม รวมไปถึงการสร้างการพัฒนาต้นแบบทั้งเชิงพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านในฝัน ระดับตำบล ได้แก่ ตำบลสุขภาวะ หรือตำบลจัดการตนเองเน้นแนวทางพื้นที่จัดการตนเอง บนฐานหลักคิด รู้ คิด ทำ และเกิดผลพอเพียง

  4. คนสงขลามีคุณธรรมประจำใจ โดยยึดคำสอนทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม อาทิ วิถีมุสลิมมุ่งเน้น “ตักวา”(ความเคารพยำเกรงพระเจ้า) วิถีพุทธ มุ่งเน้นการทำดีละชั่วกลัวบาป และวิถีคริสต์ รักพระเจ้า รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

ผลผลิต ในช่วงปี 2554 เน้นการค้นหาตัวอย่างผู้นำบุคคลและชุมชนที่มีค่านิยมสอดคล้องกับค่านิยมร่วม นำมาขยายผล สร้างกระแสการรับรู้อย่างกว้างขวาง

  • ตัวอย่างผู้นำพอเพียง 84 คน ที่มีค่านิยมสอดคล้องกับค่านิยมร่วมทั้ง 4 ด้าน
  • ตัวอย่างชุมพอเพียง ประมาณ 16 ชุมชนที่มีค่านิยมสอดคล้องกับค่านิยมร่วมทั้ง 4 ด้าน

คนและชุมชนมีเหตุผล

การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวดำเนินการโดยใช้ยุทธศาสตร์หลักดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาคนและสร้างความรู้ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและการสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นความสำเร็จในด้านต่างๆดังนี้

  1. คนสงขลาพร้อมเรียนรู้ มีการต่อยอดความรู้ ได้แก่ การต่อยอดพื้นที่ต้นแบบ เช่น พื้นที่ตำบลสุขภาวะ(ตำบลท่าข้าม ตำบลปริก ตำบลควนรู ฯลฯ) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งขององค์กรและเครือข่ายเชิงประเด็น(เกษตร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เด็ก ผู้พิการ ศูนย์พัฒนาครอบครัว ผู้สูงอายุ สวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน สถานีอนามัยฯลฯ)กองทุนสุขภาพตำบล พัฒนาชุมชน สภาองค์กรชุมชน เป็นต้น การผลิตสื่อของเศรษฐกิจพอเพียง/สงขลาพอเพียง การต่อยอดความรู้เชิงประเด็น/บุคคล และสร้างความรู้ในระดับพื้นที่

  2. คนสงขลารู้จักตนเอง รู้จักเรียนรู้รากเหง้า เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำภูมิปัญญามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีแห่งยุคสมัย เช่น การนำภูมิปัญญาตามวิถีโหนด นา เล คาบสมุทรสทิงพระมาปรับใช้ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การที่ภาคีคนรักสงขลาร่วมพัฒนาและฟื้นฟูย่านเมืองเก่า การส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมของคนสงขลา

  3. คนสงขลารู้จักปัญหาและทรัพยากร รู้จักปัญหาของชุมชน ในด้านต่างๆ เช่น หนี้สิน รู้ค่าใช้จ่ายของชุมชน รู้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญ รู้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทุนทางสังคมในด้านต่างๆ นำมาสู่การสร้างความรู้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูดูแล มีการใช้ความรู้ประกอบการผลักดันนโยบายสาธารณะในด้านต่างๆร่วมกับองค์กรภาคประชาชน

  4. คนสงขลามีแผนสุขภาวะชุมชน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานราก แต่ละชุมชนมีแผนชุมชน หรือแผนสุขภาพชุมชน มีการจัดทำแผนสุขภาวะเชิงประเด็น ครอบคลุมสภาพปัญหาและทุนทางสังคมที่มี มีการทำแผนที่ดี ใช้ความรู้ในการทำแผน มีการวางแผนในลักษณะที่เป็นยุทธศาสตร์ มีแผนงาน/โครงการ ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม สามารถปฎิบัติได้ มีการบูรณาการแผนงานของแต่ละองค์กรอย่างมีเอกภาพและมีเป้าหมายการพึ่งตนเองให้ได้หนึ่งในสี่ของแผนงาน และนำมาสู่การร่วมกำหนดนโยบายการพัฒนา จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ผลผลิต ในช่วงปี 2554

  • 100 แหล่งเรียนรู้สำหรับคนสงขลา
  • วิถี อัตลักษณ์คนสงขลา
  • อุทยานอาหารเพื่อสุขภาพและแบรนด์ “สงขลาพอเพียง”
  • การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคาบสมุทรสทิงพระ
  • การพัฒนาศูนย์ราษฎร์พัฒนาสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุสงขลา
  • การปรับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุในพื้นที่โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ
  • 20 ตัวอย่างกองทุนสุขภาพตำบล
  • การสวมหมวกกันน็อค 100%
  • ตัวอย่างครัวเรือนที่มีถังดักไขมัน
  • แผนชุมชนเพื่อการรับมือน้ำท่วม 2 แห่ง และระบบข้อมูลรวมเพื่อการรับมือน้ำท่วม
  • ครัวเรือนที่มีการทำบัญชีครัวเรือน
  • ศูนย์พัฒนาครอบครัวตัวแบบ 4 แห่ง สมัชชาครอบครัว 1 ครั้ง
  • ตัวแบบหมู่บ้านในฝัน 4 แห่ง
  • แผนสุขภาวะชุมชนระดับตำบล(แผนสุขภาพ/แผนชุมชน) 40-45 แห่ง

คนและชุมชนมีภูมิคุ้มกัน

การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวดำเนินการโดยใช้ยุทธศาสตร์หลักดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาระบบสนับสนุน และการสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นความสำเร็จในด้านต่างๆดังนี้

  1. คนสงขลามีระบบการบริหารจัดการที่ดี ชุมชนมีกลไกที่มาจากการประสานพลังการทำงานของคณะผู้นำ มีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ระดับองค์กรสามารถบูรณาการทำงาน ไม่คิดแยกส่วน ต่างคนต่างทำ รวมไปถึงการมีระบบสนับสนุนที่ดี เช่น ระบบฐานข้อมูล ระบบการสื่อสารสาธารณะ ระบบการติดตามประเมินผล

  2. คนสงขลามีระบบการผลิต การแปรรูป การตลาด มีการวิเคราะห์รายได้รายจ่าย นำมาสู่การพัฒนาระบบการผลิต ระบบการตลาด ดำเนินการด้านปัจจัยพื้นฐานการกินอยู่ในชีวิต มีการผลิตอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ มีการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมกลุ่มการผลิต มีการสร้างแบรนด์และมาตรฐานร่วม มีการทำวิสาหกิจชุมชน มีเครือข่ายเชื่อมโยงระดับจังหวัด

  3. คนสงขลามีระบบทุน มีการออมอย่างกว้างขวาง มีกองทุนเพื่อสวัสดิการในด้านต่างๆ ครอบคลุมประชาชนที่ด้อยโอกาส เช่น กองทุนสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ มีกองทุนสุขภาพตำบล มีกองทุนช่วยเหลือในขณะเกิดอุบัติภัย มีกองทุนกลางเพื่อการพัฒนาระดับหมู่บ้าน ตำบล และจังหวัด และมีระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน

  4. คนสงขลามีระบบทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน มีการจัดทำระเบียบกติกาชุมชนเพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากร เช่น กรณีการสร้างธรรมนูญลุ่มน้ำภูมี การต่อต้านการระเบิดเขาคูหา มีการรวมกลุ่มกันพิทักษ์ป่า ปลูกป่าของกลุ่มประชาคมผาดำ หรือกลุ่มอนุรักษ์คอหงส์ มีการลดละเลิกการใช้สารเคมีในการเกษตร มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ การจัดการภัยพิบัติต่างๆ มีการพัฒนาพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่างๆ

  5. คนสงขลามีระบบสุขภาพ โดยยึดหลัก “สร้างนำซ่อม” มีการส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมการกินอาหารพื้นบ้านอาหารเพื่อสุขภาพ มีการเรียนรู้การกินอาหารเป็นยา ส่งเสริมการผลิตอาหารด้วยตัวเอง มีการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข มีอาสาสมัครที่ดีมีความรู้ในด้านการดูแลสุขภาพ

ผลผลิต ในช่วงปี 2554

  • กลไกประสานงาน/บริหารจัดการการทำงานของภาคีความร่วมมือ 12 องค์กร
  • กลไกบูรณาการระดับตำบล 40-45 แห่ง
  • ระบบฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพของภาคีในจังหวัดสงขลา
  • ระบบสื่อสารสาธารณะของภาคีในจังหวัดสงขลา
  • กองทุนกลางระดับหมู่บ้าน กองทุนกลางระดับตำบล 1 แห่ง กองทุนย่อยเชิงประเด็น 7 กองทุน
  • กองทุนเพื่อสวัสดิการภาคประชาชนมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จำนวน....
  • ระบบการสนับสนุนสินค้าชุมชนและ SME ในด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
  • ธรรมนูญกองทุนกลางตำบลพิจิตร
  • ธรรมนูญลุ่มน้ำภูมี
  • 20 หมู่บ้านสุขภาวะ
  • สัปดาห์สงขลาพอเพียง นำเสนอผลสำเร็จเชิงนโยบายของวาระ “สงขลาพอเพียง”
ไฟล์ประกอบเอกสาร
  1. songkhlaporpiang_guideline.pdf - ดาวน์โหลด
ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว