เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
หลังคาบ้านกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (photovoltaic solar power) หรือเซลสุริยะเริ่มเป็นของคู่กัน มีไว้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และอีกแบบเพื่อผลิตน้ำร้อนไว้ใช้ เพราะเป็นเมืองหนาว น้ำอาบ น้ำใช้ล้วนต้องผสมน้ำร้อนทั้งสิ้น โดยเยอรมันมีการติดตั้งเซลสุริยะต่อประชากรสูงที่สุดในโลก ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 25,000 เมกtวัตต์ ในช่วงที่แดดสาดแสงแรงจัด
เบลเยียมใช้สองกลไกในการเพิ่มการติดตั้งโซลาร์เซล คือกลไกที่หนึ่งเขาใช้กลไกราคาค่าไฟที่แพงและผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต้องมีส่วนในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์เซลด้วยผ่านบิลค่าไฟ กลไกที่สองนี้ก็นำเงินจากค่าไฟแพงและภาษีมาสมทบใช้กลไกการเงินจูงใจให้ติดตั้งโซลาร์เซลไว้บนหลังคา โดยบ้านเรือนพักอาศัยจะได้รับเงินชดเชยคืนทุกๆ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KW-h) เป็นเงิน 15-45 ยูโรเซนต์ โดยเงินส่วนนี้จะหักลดจากบิลค่าไฟที่ต้องจ่ายรายเดือน ส่วนถ้าบริษัทนั้นจะได้รับการลดภาษีด้วย ผลของสองมาตรการนี้รวมกับกระแสสีเขียว ทำให้มีการติดตั้งเซลสุริยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2011 เป็นปีทองของการติดตั้งเซลสุริยะ ปีเดียวมีการติดตั้งรายใหม่มากถึง 880 เมกะวัตต์ หรือเกือบเท่ากับเตานิวเคลียร์ 1 เตาที่ผลิตได้ 1,000 เมกะวัตต์ มากกว่าศักยภาพของโรงไฟฟ้าจะนะที่ผลิตได้ราว 750 เมกะวัตต์ แน่นอนว่าวันที่แดดน้อยไฟฟ้าก็ผลิตได้น้อย แต่หากทุกบ้านติดตั้งย่อมจะไปถึงซึ่งเป้าหมายที่จะปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในสิบยี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งไม่ไกลเกินจริง
แม้ว่าในปี 2012 มาตรการการช่วยเหลือด้านการเงินและการลดภาษีจะยกเลิกไปเพราะวิกฤตการเงินยูโรโซน แต่ด้วยราคาแผงสุริยะจากประเทศจีนที่ราคาถูกลงมาก ทำให้ความจุดคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 7 ปี จากอายุการใช้งานของเซลสุริยะที่ 20 ปี และเขาเชื่อว่าในปี 2015-2016 ราคาต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าใช้เองที่บ้านจากจากเซลสุริยะจะถูกกว่าราคาต่อหน่วยจากโรงไฟฟ้า ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ปัญหาใหม่คือเขาก็คือ การมีพื้นที่บนหลังคาไม่เพียงพอต่อการผลิตใช้เอง เทคโนโลยีหน้าต่างเคลือบเซลสุริยะเพื่อช่วยผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังพัฒนาขึ้นมาช่วยเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ทุกเม็ดที่สาดแสงมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ให้เกิดทัศนะอุจาดที่ทั้งเมืองเต็มไปด้วยแผงโซลาร์เซลตามสนามตามพื้นดิน
แม้แสงแดดที่นี่จะไม่จัดและหายากยิ่งในฤดูหนาว แต่นี่คือพลังงานสะอาดที่เขาจูงใจให้ทุกบ้านผลิตเองใช้เองตามปรัชญาพอเพียงและการพึ่งตนเอง แต่เมืองไทยที่แดดทั้งแรงและร้อน ผู้มีอำนาจไฉนจึงคิดถึงแต่โรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส