เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
จุดเด่นประการสำคัญของยุโรปคือสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพสูง เรียนฟรี 12 ปี เข้าถึงหลักประกันการรักษาพยาบาล การประกันสังคมดีเช่นบำนาญชราภาพที่จ่ายหนัก การดูแลผู้พิการ ผู้ว่างงาน คนจน เป็นต้น เพื่อสร้างสังคมอุดมคติที่ช่องว่างคนรวยคนจนนั้นแคบ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการจ่ายภาษีหรือจ่ายค่าประกันสังคมอย่างมโหฬารราวครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เงินเดือนคนยุโรปจึงต้องสูงมากๆส่งผลให้สินค้าที่ผลิตได้แพง ความสามารถในการแข่งขันของยุโรปก็ลดลงไป
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทย จีน อินเดีย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยแรงงานที่ราคาถูก เหตุที่ค่าแรงต่ำเงินเดือนน้อย เพราะไม่มีการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมควบคู่กันขึ้นมา ไม่มีระบบหลักประกันในอนาคต มีรายได้และเงินเดือนแค่พอให้เอาตัวรอดเดือนต่อเดือน แถมยังมีการเก็บภาษีต่ำ ลดภาษีสารพัดเพื่อจูงใจนักลงทุน ลดความเข้มงวดในการบำบัดมลพิษ ทำทุกอย่างเพื่อให้ต้นทุนสินค้าราคาถูก ขายได้ถูก จนฝรั่งต้องกุมขมับ
ด้วยการแข่งขันสูง รัฐบาลในยุโรปก็ต้องเดินตามเกมการตลาดทุนนิยม มือที่มองไม่ให้เห็น(invisible hand)ที่ทำหน้าที่อย่างดีจนทำให้ยุโรปก็ต้องลดภาษีลง จากปี คศ..1995 คนยุโรปเสียภาษีเฉลี่ยราว 47.5%ของรายได้ ปัจจุบันเหลือราว 37.1% ของรายได้ ยุโรปต้องหันมาลดภาษีลงบ้างเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ภาษีลดลงมากเท่าไหร่ช่องว่างคนรวยจนจะสูงขึ้นเท่านั้น แต่คนเอเชียก็อยู่ในสภาวะที่ยอมแพ้ไม่ได้ ต้องขายของให้จงได้ รัฐจึงลดภาษีลงอีกหรือทำเป็นมองไม่เห็นมลพิษที่ปล่อยออกมา ต่างคนต่างลดต้นทุนลดภาษีลงปีละนิด ผลคือโลกมีสินค้าราคาถูกบริโภค แต่ทั้งโลกจะไม่มีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีได้ วงจรอุบาทว์แห่งการทำกำไรนี้ยังไร้ทางออก
ในขณะนี้ในยุโรปเข้าสู่สังคมชราภาพ คนสูงอายุมากขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้นในการดูแล แต่ เงินภาษีรายได้ที่ลดลงไปถึง 10% นี้ทำให้รายได้ของรัฐสำหรับการจัดสวัสดิการสังคมนั้นหายไปอย่างมาก ในขณะที่ภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ช่องว่างทางสังคมวันนี้กว้างกว่ายุคหลังสงครามโลกหลายเท่า ในยุโรประบบสวัสดิการสังคมกำลังสั่นคลอน ทำท่าจะโคม่า แต่สำหรับเมืองไทยเนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมยังไม่ถึงไหน ดังนั้นกลุ่มคนที่เข้าขั้นโคม่าเรื้อรังมานานแล้วก็คือคนจน
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส