เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ชีวิตคนยุโรปตะวันตกนั้นมีเวลาเป็นเครื่องกำกับชีวิตยิ่งกว่ากฎหมายหรือกฎศีลธรรม นาฬิกาเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตในโลกตะวันตก ร้านขายยาทุกแห่งหนมักจะมีป้ายไฟที่บอกเวลาและอุณหภูมิ นาฬิกาประจำเมืองที่สวยสง่าก็ได้รับการดูแลไม่ให้ตาย รูปที่เห็นนี้คือนาฬิกาดาราศาสตร์แห่งเมืองลิเออร์ (Lier) สร้างในปี 1930 บนอาคารเก่าแห่งศตวรรษที่ 14 โดยมีนาฬิกา 12 เรือนในการบอก 12 มิติของเวลา เช่นเวลา วัน วันที่ เดือน ปี ฤดูกาล พระจันทร์ พระอาทิตย์ น้ำขึ้นน้ำลง เป็นต้น ทุกเมืองหรือโบสถ์ใหญ่ก็มักจะมีนาฬิกาประจำเมือง เพื่อบอกเวลาในครั้งที่คนสมัยก่อนไม่ได้มีนาฬิกากันทุกคน
การปลูกฝังให้ตรงเวลานั้นเป็นการปลูกฝังโดยไม่รู้ตัว เพราะที่นี่รอรถเมล์หรือรถไฟใต้ดินก็มีป้ายบอกว่าอีกกี่นาทีรถจะมาถึง ไปสถานีรถไฟรถไฟก็มาถึงและออกตรงเวลา หรือหากมาช้าก็จะบอกว่าช้าไปกี่นาที แม้ว่าเราจะพยายามวิ่งจนเกือบจะถึงประตูรถไฟแล้ว และคนขับรถไฟก็เห็นเราแล้ว แต่รถไฟก็ออกตรงเวลาอย่างที่ไม่มีปราณี ทั้งๆที่รอเราอีกแค่ 30 วินาทีก็ไม่ได้ ตกรถไฟจึงเป็นเรื่องปกติ นั่งรอขบวนต่อไป
การนัดหมายแพทย์ นัดหมายในการติดต่อราชการ ก็ต้องตรงเวลา หากมาสายก็จะหลุดคิวและต้องนัดใหม่ กว่าจะได้คิวใหม่อาจจะอีกหลายวัน ไม่สามารถมาแซงคิวในวันนั้นได้ แม้แต่ร้านค้าก็เปิดปิดตามเวลาที่ปิดป้ายไว้ ถึงแม้ลูกค้าจะยังเต็มร้าน แต่เมื่อถึงเวลาปิดก็ปิดร้านไม่มีเกรงใจ มาที่ห้องเรียนหรือการประชุมเขาก็เริ่มตรงเวลา วิทยากรเริ่มตามเวลาโดยไม่รอผู้ฟัง การนำเสนอก็จะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่ให้เกินเวลาจนไปล่วงล้ำเวลาวิทยากรคนอื่น การจัดการสัมมนาก็จัดจะจัดแบบแน่นคือ ไม่มีการสัมมนาเรื่องเดียวสามชั่วโมงโดยวิทยากรสองสามคนลากไปเรื่อยแบบบ้านเรา แม้แต่พิธีเปิดโดยคนใหญ่คนโตก็ไม่เกิน 15 นาที การสัมมนาจะใช้วิทยากรชั่วโมงละสองสามคน ไม่ให้พูดยาวแต่ให้พูดสกัดเอาเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับผู้ฟัง เพราะหากให้เวลามากเกินไปก็จะเต็มไปด้วยน้ำและเรื่องที่วิทยากรอยากเล่าแต่มีสาระน้อย นอกจากเริ่มตรงเวลาแล้ว ยังเลิกตรงเวลาอีกต่างหาก
ทั้งหมดทั้งมวลของชีวิตประจำวันสอนให้ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเวลา ทุกวันทุกวัน ไม่มีข้ออ้างว่ารถติดหรืออีกภารกิจเลิกช้า ทุกคนต้องบริหารจัดการตนเองให้ได้ เพราะเวลาคือการเคารพในสิทธิของผู้อื่น คือวินัยและคือประสิทธิภาพ
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส