เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
น้ำประปาในยุโรปดื่มได้ เปิดก๊อกน้ำก็ใส่แก้วดื่มได้เลย น้ำดื่มน้ำอาบน้ำซักผ้ามาจากท่อเดียวกัน ประปาดื่มได้ในยุโรปมีมาแต่สมัยโบราณ ในอดีตในชุมชนเมืองก็จะมีจุดแจกจ่ายน้ำสาธารณะ ส่วนใหญ่จะเป็นปั้มคันโยกเพื่อปั้มน้ำใต้ดินขึ้นมาอุปโภคบริโภคแก่คนที่เดินทางสัญจรผ่านไปมา หรือไม่ก็เป็นน้ำพุซึ่งในอดีตบางน้ำพุดื่มได้เพราะเป็นการปล่อยน้ำจากที่สูงลงมาโดยไม่ได้ใช้ไฟฟ้าปั้มน้ำ เป็นบริการทางสังคมอย่างหนึ่ง รูปปั้น manneken pis หรือรูปปั้นเด็กฉี่แห่งกรุงบรัสเซลส์นี้ ก็เป็นน้ำพุที่มีศิลปะในการออกแบบด้วยอารมณ์ขัน จนคนที่หิวน้ำอาจรู้สึกแปลกๆที่จะดื่มกิน
ประปาดื่มได้นั้นก็น่าสนใจแล้ว สิ่งที่น่านับถือกว่าในเบลเยียมคือเรื่องการเคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนในการเข้าถึงน้ำสะอาด โดยในภูมิภาคเฟลนเดอร์ตั้งแต่ปี 1997 ได้กำหนดให้แต่ละคนที่มีชื่ออยู่อาศัยตามทะเบียนในบ้านหลังนั้นมีสิทธิได้รับน้ำฟรีปีละ 15 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับคนละ 41 ลิตร/วัน หมายความว่าหากใช้น้อยกว่านี้ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำประปา ส่วนภูมิภาควอลโลเนียและบรัสเซลส์ตั้งกองทุนจากภาษีเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่คนจนที่ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าน้ำประปาซึ่งรวมถึงค่าไฟค่าก๊าซ เพื่อประกันสิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาด ไม่ถูกตัดน้ำตัดไฟตัดก๊าซซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานต่อของการมีชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน แต่ละภูมิภาคออกกฎของตนเองเพราะกระจายอำนาจกันจริงจัง
ค่าน้ำที่นี่เก็บในอัตราก้าวหน้า กล่าวคือยิ่งใช้มากจ่ายยิ่งแพง ตัวอย่างค่าน้ำของภูมิภาคบรัสเซลส์แบ่งราคาค่าน้ำเป็น 4 ช่วง ราคาช่วงสูงสุดคือเกิน 60 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปีนั้นสูงกว่าราคาช่วงต่ำสุดถึง 3.8 เท่า ใช้มากจ่ายมากเป็นทวีคูณนั้นเป็นวิธีการเดียวที่จะช่วยให้คนช่วยกันประหยัดน้ำ ค่าน้ำที่แพงนี้เพราะเขาไม่ได้คิดเฉพาะค่าผลิตและส่งน้ำประปาที่สะอาดเท่านั้น แต่คิดค่าบำบัดน้ำเสียรวมไปในค่าน้ำแล้วด้วย ราคาค่าน้ำที่นี่แพงเป็นอันดับต้นๆในยุโรป เฉลี่ยที่ลูกบาศก์เมตรละ 3 ยูโร หรือลิตรละ 12 สตางค์ ส่วนราคาค่าน้ำเมืองไทยลิตรละ 1 สตางค์ ก็เลยมีคุณภาพอย่างที่เห็นกระมัง
การบำบัดน้ำเสียนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่และยากในประเทศเขา กรุงบรัสเซลส์ก็เพิ่งจะมีระบบบำบัดน้ำเสียที่สมบูรณ์เมื่อปี 2007 นี่เอง ในยุโรปที่เราเห็นแม่น้ำลำคลองสวยใสสะอาดแม้ว่าจะผ่านใจกลางเมืองนั้น ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ แต่เพราะน้ำเสียจากน้ำทิ้งของทุกบ้านถูกนำไปบำบัดรวมก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ ทุกโรงงานมีระบบของตนเอง ซึ่งเป็นต้นทุนราคาแพงที่สังคมเขาต้องช่วยกันแบกรับ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดของทุกคน เมื่อน้ำในแม่น้ำสะอาด โรงกรองน้ำทำงานไม่หนัก และระบบท่อไม่แตกรั่ว ประปานั้นก็ดื่มได้ไปโดยปริยาย ไม่ต้องไปซื้อน้ำถังมาดื่มกิน
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส