เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
บรัสเซลส์ เมืองหลวงของประเทศเบลเยียมที่มีประชากรล้านเศษ มีทั้งฟากฝั่งเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยอาคารอนุรักษ์ และฟากฝั่งเมืองใหม่ที่เต็มไปด้วยตึกสูงมากมายที่ใช้กระจกรูปทรงทันสมัย ในขณะที่เมืองอื่นๆรวมทั้งแอนเวิร์ปนั้นมีตึกสูงเกินสิบชั้นจำนวนมามากนักและส่วนใหญ่เป็นอาคารพักอาศัยย่านชานเมือง แต่บรัสเซลส์ก็เทียบไม่ได้กับกรุงเทพที่ตึกสูงหนาแน่นเรียงรายแออัดจนแทบไม่มีที่ว่างสำหรับพื้นที่สีเขียวและทางเท้าของผู้คน ที่นี่ถนนมีรถน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะขนส่งมวลชนที่ดี รถยนต์นั้นมีกันทุกบ้าน แต่ไม่ได้มีไว้ขับทุกวัน คงมีไว้ขับวันเสาร์อาทิตย์ไปพักผ่อนหรือยามจำเป็น
ด้วยความเป็นเมืองหลวงของยุโรป แต่ละประเทศนอกจากจะมีสำนักงานสถานทูตประจำประเทศเบลเยียมแล้ว ยังต้องมีสำนักงานของสถานทูตประจำสหภาพยุโรปและสถานทูตทหารประจำนาโต้ด้วย ความเป็นชุมชนนานาชาติทำให้บรัสเซลส์มีคนว่างงานมากที่สุดในประเทศเพราะตลาดงานต้องการคนมีความรู้ มีทักษะทางภาษา มีบุคลิกภาพเชิงธุรกิจ ซึ่งคนต่างชาติที่อาศัยที่นี่มักจะมีทักษะที่ไม่สูงพอ และเช่นเดียวกับเมืองหลวงทุกประเทศ คนไร้บ้านคนขอทานมีให้เห็นโดยทั่วไปในย่านท่องเที่ยว รวมทั้งมิจฉาชีพนักล้วงกระเป๋ามืออาชีพที่ชอบนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นพิเศษ
คำถามที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ประเทศเหล่านี้เขาทำมาหากินอะไรกัน ถึงมีเงินทองมากมายมาสร้างตึกสร้างขนส่งมวลชนสร้างสาธารณูปโภคและสังคมสวัสดิการได้มากมายเพียงนี้ ถนนก็มีรถวิ่งไม่มาก ขนส่งมวลชนดีเยี่ยม ความเจริญสูงสุด ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศก็แทบจะไม่มีมากไปกว่าประเทศไทย ไม่มีป่าไม้ ไม่มีน้ำมัน ไม่มีเหมืองแร่ ไม่มีแปลงเกษตรขนาดใหญ่โตนอกจากทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว ไม่มีแม้แต่ปลาในทะเลหน้าบ้านประเทศตนเอง เพราะจับจนหมดแล้ว แต่กลับมีเงินทองมากมาย ในปี 2010 เมื่อดู GDP ที่ปรับค่าความเท่าเทียมของอำนาจซื้อต่อประชากร (GDP-purchasing power parity per capita)ของเบลเยียมเท่ากับ 37,800 US$ ส่วนของไทย คือ 8,700 US$ หรือน้อยกว่าเบลเยียมราว 4.3 เท่า ซึ่งถือว่าประเทศไทยตีตื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วจนธนาคารโลกจัดไทยให้อยู่ในกลุ่มระดับบนของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (upper middle income country) แต่ไม่ว่ารวยจนต่างกันจะกี่เท่านั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนในประเทศนั้นต่างกันมากน้อยแค่ไหนต่างหาก
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส