เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
การจะประท้วงโดยกฎหมายของเบลเยียม ต้องไปขออนุญาตประท้วงที่สถานีตำรวจ โดยต้องกรอกแบบฟอร์ม ที่ระบุรายละเอียดว่าจะประท้วงเรื่องอะไร เพราะอะไร จะชุมนุมที่ไหน มีแผนการชุมนุมอย่างไร คนร่วมกี่มากน้อย จะเดินไปที่ใด ใช้เครื่องเสียงแบบใด และจะยุติการชุมนุมเมื่อใด แบบฟอร์มคำขอต้องขอก่อนการชุมนุม 10 วัน โดยคำขอจะถูกส่งไปให้นายกเทศมนตรีของเมืองนั้นเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ บ้านเขาไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นนายกเทศมนตรีก็เสมือนผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอนั่นเอง แต่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อได้รับอนุญาตให้มีการชุมนุม ตำรวจก็มีหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม
นายกเทศมนตรีไม่สามารถตัดสินใจอนุมัติหรือไม่อนุมัติตามอำเภอใจ แต่มีกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพหลายฉบับค้ำคออยู่ และหากไม่อนุมัติ ผู้จัดการชุมนุมก็สามารถอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ดังเช่นในปี 2002 ที่เมืองแอนเวิร์ป กลุ่มมุสลิมขอชุมนุมประท้วงอเมริกาและอิสราเอลต่อกรณีปาเลสไตน์ นายกเทศมนตรีไม่อนุมัติเพราะเมื่อสองเดือนก่อนนี้เพิ่งมีการจราจลจากการประท้วงอิสราเอลที่เมืองนี้ แต่สุดท้ายศาลปกครองพิพากษาให้จัดการชุมนุมได้เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ผู้ชุมนุม 600 คนตะโกนด่าประธานาธิบดีบุชและมีการเผาคัมภีร์ของชาวยิว ต่อมาในปี 2007 กลุ่มขวาจัดขอจัดการชุมนุมที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อใช้รัฐบาลหยุดยั้งขยายตัวของอิสลามในยุโรป โดยเลือกชุมนุมในวันที่ 11 กันยายน นายกเทศมนตรีกรุงบรัสเซลส์ไม่อนุมัติ ผู้จัดการชุมนุมอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลพิพากษาปกป้องยืนตามที่นายกฯตัดสินไป ด้วยเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมายและเสรีภาพเพราะมีลักษณะเหยียดผิวและเหยียดศาสนาอื่น ผู้จัดการชุมนุมจึงต้องล้มเลิกการชุมนุมไป และรณรงค์ความคิดความเห็นของกลุ่มผ่านสื่อผ่านช่องทางอื่นๆไป
ประเทศไทยเองมีเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน หลายรัฐบาลเคยคิดที่จะออกกฎหมายให้การชุมนุมต้องขออนุญาตก่อนเสมอดังเช่นบทเรียนในยุโรป แต่ได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวาง เพราะเชื่อว่าหลักการดีแต่ผู้มีอำนาจยังไม่สามารถแยกแยะสิทธิเสรีภาพกับผลประโยชน์และพวกพ้องได้ อีกทั้งกลไกทางกฎหมาย กลไกทางศาล และการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่แข็งแรงพอในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ท่าทางหากมีกฎหมายเช่นนี้น่าจะเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เรื่องนี้คงยังไม่ถึงเวลาสำหรับประเทศไทย
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 72 : สิทธิด้านสุขภาพของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในฝรั่งเศส