สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 48 : ประกันสุขภาพในเบลเยียม

photo  , 640x480 pixel , 46,407 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

บัตรประกันสุขภาพของผมที่เบลเยียมดังภาพที่เห็น พร้อมคูปองสีเหลืองนวลซึ่งต้องนำไปด้วยเมื่อไปใช้บริการ คูปองนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าเราไปใช้บริการจริงและประกอบใบเสร็จในการเบิกค่าใช้จ่าย ทุกคนในประเทศเบลเยียมถูกบังคับตามกฏหมายให้มีการประกันสุขภาพ โดยคนมีเงินเดือนก็หักจากรายได้รายเดือน คนไม่มีเงินเดือนก็ถูกบังคับตามกฎหมายให้ซื้อประกันสุขภาพจากกองทุนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีหลายบริษัท เพื่อเข้าระบบประกันสุขภาพของภาครัฐ ส่วนใครจะซื้อประกันสุขภาพจากเอกชนเพิ่มเติมก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่จะเป็นการซื้อเพื่อให้คลุมค่าใช้จ่ายเสริมเช่นห้องพิเศษ ค่าร่วมจ่าย (co-payment) ค่าชดเชยการขาดรายได้เป็นต้น เพราะประกันสุขภาพภาครัฐนั้นครอบคลุมค่ารักษาโรคครบถ้วนดีแล้ว

ระบบประกันสุขภาพในโลกนี้มีสองระบบใหญ่ๆคือ ระบบบิเวอร์ริจของอังกฤษใช้หลักการนำภาษีตัดมาให้สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารจัดการ ประชากรไม่ต้องจ่ายค่าซื้อประกันจากรัฐ ประเทศไทยเราก็ใช้ระบบนี้กับบัตรทองของ สปสช. ส่วนอีกระบบคือระบบบิสมาร์กของเยอรมัน คือประชาชนต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ แม้รัฐจะจ่ายด้วย แต่ประชาชนก็จ่ายโดยตรงแยกจากการจ่ายภาษี เบลเยียมใช้ระบบนี้ รวมทั้งกองทุนประกันสังคมในประเทศไทยด้วย

ผมในฐานะนักศึกษาก็ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพภาครัฐเป็นเงินเดือนละ 62 ยูโรผ่านกองทุนประกันสุขภาพ (mutual fund) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่เอากำไร ทุกคนมีสิทธิเลือกว่าจะประกันสุขภาพกับกองทุนใดก็ได้ ที่ได้รับความนิยมเช่นกองทุนคริสเตียน กองทุนสังคมนิยม ชื่อกองทุนนั้นบ่งบอกอัตลักษณ์ขององค์กรนั้นๆที่บริหารกองทุน โลกตะวันตกเป็นประเทศที่เชื่อมั่นในการแข่งขัน จึงมีกองทุนนี้ราว 5-6 องค์กรเพื่อการแข่งขันและเพิ่มคุณภาพบริการในการดูแลสมาชิก

องค์กร Mutual fund นี้จะนำส่งเงินเข้าระบบประกันสุขภาพของประเทศ คือเป็นคนกลางในการเชื่อมต่อกับสมาชิกแทนสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ เงินทุกก้อนจากทุกกองทุน ทุกท้องถิ่นและรัฐบาล ล้วนนำไปคลุกผสมกันในนามกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วบริหารจัดการเป็นกองทุนเดียว สิทธิประโยชน์จึงเท่าเทียมกัน ไม่มีสองสามมาตรฐานเฉกเช่นบ้านเรา ซึ่งเป็นฝันของการรวมกองทุนสุขภาพในประเทศไทยที่แม้แต่รัฐบาลที่เน้นขจัดสองมาตรฐานก็ยังไม่กล้าลงมือทำ

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว