สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 44 : รถม้าบ้านเขากับช้างเร่ร่อนบ้านเรา

photo  , 640x480 pixel , 47,125 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

การนั่งรถชมเมืองแอนเวิร์ปนั้น ที่ไม่ใช่รถรางหรือเดินเท้า ก็มีรถบัสสองชั้นเปิดหลังคาแบบที่เป็นสัญลักษณ์ของลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ดูไม่เป็นที่นิยมมากนัก ส่วนใหญ่ผู้คนจะเดินเท้าชมเมืองมากกว่า แต่อีกวิธีที่ดูจะได้รับความสนใจเช่นกันคือการนั่งรถม้าชมเมือง ม้ายุโรปตัวใหญ่ อ้วน แข็งแรง ขนดกเงาเป็นมัน และที่สำคัญเนื่องจากม้าจะถ่ายมูลตอนไหนไม่มีใครรู้ และคนขี่ม้าคงไม่สะดวกในการลงไปเก็บ จึงได้มีการทำเป็นตาข่ายละเอียดสีดำรอรับไว้ตรงใต้ท้องรถม้าด้วย ส่วนนั่งไปแล้วคนนั่งจะได้กลิ่นบ้างหรือไม่ อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบได้ เพราะค่านั่งรถม้านั้นคงแพงทีเดียว

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหัวใจของความมีชีวิตชีวาของเมือง เพราะภาคอุตสาหกรรมทั้งเล็กใหญ่และร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่นั้นอยู่นอกเมืองทั้งหมด อู่ซ่อมรถ เคาะพ่นสี โรงกลึงเชื่อมทำงานโลหะ หรือร้านขายวัสดุก่อสร้าง ไม่มีปรากฏให้เห็นในย่านใจกลางเมือง การติดต่อราชการหรือธุรกรรมเกือบทั้งหมดกับเอกชนก็สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ต ในเมืองจึงหนักไปทางบ้านอยู่อาศัย โรงเรียน การค้าขาย ร้านอาหาร และร้านบริการต่างๆเช่นทำผม ซักรีด หากไม่มีนักท่องเที่ยว ร้านค้าต่างๆคงเหงา และเมืองก็จะดูร้างไปมาก การจัดการสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงสำคัญอย่างยิ่ง

เห็นรถม้าพาชมเมืองแอนเวิร์ปชวนให้คิดถึงการนั่งช้างชมโบราณสถานที่ปางช้างแถวกรุงเก่าอยุธยา หรือรถม้าลำปาง ชวนให้คิดถึงช้างเร่ร่อนที่เดินขายกล้วยขายอ้อยให้นักท่องเที่ยวตามข้างถนนในเมืองใหญ่ สำหรับคนต่างชาตินั้นการเห็นช้างเดินบนถนนเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าคนไทยเห็นรถม้าที่แอนเวิร์ป แต่ครั้นจะให้ขึ้นช้างนั่งบนตั่งที่หลังช้างเลยก็ดูน่ากลัวเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเสี่ยงกับความสูงเช่นนั้น หากมีช้างลากรถก็อาจเป็นความคิดที่ไม่เลวจนเกินไป

หากไม่มีรถม้าเพื่อการท่องเที่ยว ม้าและคนเลี้ยงม้าก็จะตกงาน การนำช้างและคนเลี้ยงช้างเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจการท่องเที่ยวก็เช่นกัน คือคำตอบหนึ่งในโลกยุคใหม่ที่ทั้งคนและสัตว์ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา แต่คนเลี้ยงช้างนั้นเป็นคนชายขอบของสังคม ไม่มีเสียงไม่มีสิทธิ เทศบาลผู้เป็นตัวแทนการพัฒนาท้องถิ่น จึงควรทำหน้าที่ในการเปิดพื้นที่นี้ ให้เมืองมีพื้นที่หลากหลายสำหรับคนทุกคน เป็นยุทธศาสตร์ที่ win-win สำหรับทุกฝ่าย

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว