สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 35 : ศาลาว่าการเมืองแอนเวิร์ป

photo  , 640x480 pixel , 59,828 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ฝรั่งเขาเรียกอาคารนี้ว่า town hall เป็นสำนักงานเทศบาลเมืองแอนเวิร์ป ปัจจุบันเป็นที่นั่งทำงานของนายกเทศมนตรี ไม่ใช่ศาลากลางที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งทำงาน เพราะที่นี่ไม่มีการปกครองส่วนผู้ภูมิภาคไม่มีผู้ว่าเหมือนบ้านเรา วันนี้เขามีธงชาติ 5ผืนเด่นสง่าหน้าสำนักงานไล่มาตั้งแต่ธงสหประชาชาติ ธงสหภาพยุโรป ธงประเทศเบลเยียม ธงภูมิภาคเฟลมมิช และสุดท้ายธงจังหวัดแอนเวิร์ป แสดงถึงความเชื่อมต่อจากท้องถิ่นสู่ระดับโลก

ในราวศตวรรษที่ 16 นั้น แอนเวิร์ปเป็นเมืองที่ประดุจแมนฮัตตันแห่งยุโรป เป็นท่าเรือใหญ่รองมาจากรอตเตอร์ดัมแห่งเนเธอร์แลนด์ การค้าขายการธนาคารเจริญรุ่งเรืองมาก ผู้บริหารเมืองได้ว่าจ้างสถาปนิกชาวอิตาลีเป็นผู้ออกแบบอาคารนี้ตามศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ในยุคเรอเนซองส์ เขากระจายอำนาจมาตั้งแต่เก่าก่อน แต่ละเมืองสามารถออกแบบ town hall ได้เอง ไม่มีแบบมาตรฐานหรือราคากลาง เป็นเรื่องที่แต่ละเมืองต้องคิดกันเอง วาดแบบมาแล้ว งบของเมืองไม่พอ ผู้บริหารก็เลยสร้างในที่ดินสาธารณะกลางจตุรัส ชั้นล่างก็ให้ร้านค้าเช่าขายของ ชั้นบนจึงเป็นสำนักงานของเมือง อาคารนี้สร้างเสร็จในปี 1564 หรือเมื่อ 448 ปีที่แล้วซึ่งตรงกับปีขึ้นครองราชย์ของพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา

ในยุคนั้นโดยธรรมเนียมการสร้างศาลาว่าการ จะมีรูปปั้นเทพีสองรูปเสมอ นั่นคือ Lady Justitia เทพีแห่งความยุติธรรม (justice) และ lady Prudentia เทพีแห่งปัญญา (wisdom) เพื่อเตือนสติผู้บริหารให้มีทั้งความยุติธรรมและปัญญา มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไปไม่รอด ทั้งยังเป็นการเตือนชาวเมืองด้วยว่า จะเลือกใครขอให้เลือกคนที่มีทั้งสองคุณลักษณะ ส่วนตรงกลางนั้นเป็นรูปปั้นของ Madonna หรือพระนางมารีอาและบุตรพระเยซูคริสต์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นเมืองคาทอลิก

อารยธรรมตะวันตกนั้นแปลงปรัชญาสู่รูปธรรมของวัตถุสวยงามที่เห็นจากภายนอก แต่อารยธรรมตะวันออกนั้นนำปรัชญาเข้าสู่ไตร่ตรองที่ลึกซึ้งสู่การหลุดพ้นของจิตใจที่ลุ่มลึกอยู่ภายใน

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว