สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 31 : ประกันสังคม รู้แล้วจะหนาว

photo  , 640x480 pixel , 68,117 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

มนุษย์เงินเดือนทุกคนที่เบลเยียม เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเอกชน ที่เห็นเดินกันขวักไขว่ตามท้องถนนนั้นต้องถูกหักเงินเดือนเข้ากองทุนประกันสังคม 13.07%ของเงินเดือนทุกเดือน และเป็นแบบไม่มีเพดานด้วย ฐานคิดของเขาคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข รับมากก็ต้องช่วยคนรับน้อย ในขณะที่ของไทยหัก 5% ของเงินเดือน และมีเพดานไม่เกินคนละ 750 บาท เพราะคิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ใครมีเงินเดือนเป็นแสนก็หักเพียง 750 บาท อันนี้ไทยเรายึดหลักความเท่าเทียมรวยจนจ่ายเกือบเท่ากัน เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขบ้าง เรียกได้ว่าไทยกับเบลเยียมนั้นยืนอยู่บนฐานคิดคนละหลักการกัน

ส่วนนายจ้างที่นี่ต้องสมทบอีก 24.77% หรือเกือบสองเท่าของลูกจ้าง แต่ในประเทศไทยนั้นนายจ้างจ่าย 5% และรัฐบาลสมทบอีก 2.75% คนเบลเยียมนั้นหลังหักประกันสังคมก็ยังถูกหักภาษีอีกทุกเดือนเฉลี่ยคนทั่วไปเสียภาษีรายได้ราว 40% ของเงินที่เหลือ สังคมที่นี่จ่ายภาษีและประกันสังคมกันเกินครึ่งของรายได้ จึงไม่แปลกที่ที่นี่ค่าแรงจะแพงมาก เพราะครึ่งหนึ่งคือภาษี จนธุรกิจต้องย้ายโรงงานไปเอเชียเพื่อลดต้นทุนเพราะค่าแรงถูก และสวัสดิการลูกจ้างก็จ่ายน้อยกว่า

เงินจำนวนนี้นำไปจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ประกันตนและครอบครัวใน 7 มิติ ที่สำคัญคือ เงินบำนาญหลังเกษียณ 16% การรักษาพยาบาล 7% และครอบครัวสงเคราะห์ 7% การประกันการว่างงาน อุบัติเหตุจากงาน โรคจากการทำงาน พิการหรือทุพพลภาพ รวมเป็น 7 มิติ แน่นอนว่าเงินก้อนนี้ยังไม่พอ รัฐบาลจึงต้องสมทบจากภาษีอีกราว 34% ของเงินทั้งหมด

เงินทั้งหมดรัฐบาลยกให้สำนักงานประกันสังคมบริหาร แต่สำนักงานนี้ก็ไม่ได้บริหารเอง แต่เล่นบทควบคุมกำกับภาพรวม เงินรักษาพยาบาลก็ยกให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหาร เงินบำนาญก็มีสำนักงานบำนาญแห่งชาติบริหาร งานด้านสังคมสมเคราะห์และคนว่างงานก็อีกสำนักหนึ่งแยกออกไปบริหาร อำนาจมีไว้กระจาย ภารกิจมีไว้ผ่องถ่าย องค์กรแม่คอยตรวจสอบควบคุมกำกับและคิดเชิงยุทธศาสตร์ แต่ของเราต่างกันขอกระจุกรวบไว้ก่อนกระจายไม่เป็น

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว