สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 29 : มือที่มองเห็น กับ invisible hand

photo  , 642x480 pixel , 108,679 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ที่ย่านถนนแมร์ (meir) ซึ่งเป็นถนนคนเดินย่านธุรกิจใจกลางเมือง Antwerp ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าขายของเมือง มีประติมากรรมรูปมือซึ่งเป็นหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ให้เป็นที่ปีนป่ายถ่ายรูปของเด็กๆ มือนี้คือมือของยักษ์ตามตำนานที่ได้ควบคุมการสัญจรของแม่น้ำสแกลท์ หากราไม่จ่ายค่าผ่านทางก็จะถูกตัดมือโยนทิ้งแม่น้ำไป ในที่สุดก็มีทหารกล้าชาวโรมันชื่อ บราโบ (Brabo) ได้ทำการฆ่ายักษ์และตัดมือของยักษ์สำเร็จ จุดที่มือที่ถูกโยนทิ้งตกน้ันในเวลาต่อมาได้กลายเป็นเมืองแอนเวิร์ปขึ้นมา อันนี้คือตำนานมือที่มองเห็นและจับต้องได้อย่างชัดเจน

แต่มือที่มองไม่เห็นนี่สิน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ invisible hand ของอดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก็อตที่มีชีวิตเมื่อราวกว่า 200 ปีก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมที่เชื่อว่า กลไกตลาดคือมือที่มองไม่เห็นในการจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการซื้อ(demand) กับการเสนอขายด้วยราคาที่เหมาะสม(supply) เชื่อในพลังแห่งผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคมีเสรีที่จะไม่ซื้อเพราะสินค้าแพงไป หรือคุณภาพต่ำไป ก็จะทำให้ผู้ผลิตนั้นต้องผลิตสินค้าคุณภาพที่ดีเพื่อขายในราคาที่สมเหตุสมผล รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่ง ปล่อยให้กลไกตลาด หรือมือที่มองไม่เห็นจัดการสมดุลในตัวมันเอง

แต่บทเรียนวันนี้เราพบว่า หลายกรณีกลไกตลาดนั้นล้มเหลวและไม่สามารถทำหน้าที่ตามทฤษฎีได้โดยเฉพาะมิติด้านการศึกษาและบริการสุขภาพ เพราะเป็นสินค้าสาธารณะที่จำเป็นต่อชีวิต จะรวยจนก็ต้องใช้ และควรมีสิทธิได้รับโดยไม่แยกรวยจน อีกทั้งยังเป็นบริการที่กึ่งผูกขาด ที่หากปล่อยให้กลไกตลาดจัดการตนเอง คนจนก็จะเข้าไม่ถึงบริการ รัฐจึงต้องเข้ามาช่วยจัดการ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ความสามารถของรัฐว่าจะมีปัญญาและความสามารถแค่ไหน

นี่เป็นหนึ่งบทเรียนของการเรียนสาธารณสุขศาสตร์ครับ เรียนเหมือนเป็ดยังไงไม่รู้ มือที่มองไม่เห็นดูจะซับซ้อนในโลกทุนนิยมปัจจุบัน ไหนจะสู้มือที่มองเห็นแบบที่ปีนป่ายถ่ายรูปได้ เข้าใจง่ายกว่ากันมากเลยครับ

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว