สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 23 : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตอนที่ 3)

photo  , 642x480 pixel , 35,853 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งของเบลเยียม มีบริษัทเอกชนชื่อ electrobel เป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่า รัฐบาลทำสัญญาให้เอกชนคือบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ บริหารแบบมืออาชีพ เพราะความมั่นคงทางพลังงานนั้นสำคัญ อีกทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นธุรกิจผูกขาด ที่ไม่มีใครมาแข่งขันได้ ทฤษฎีมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ของอดัม สมิธ ที่เชื่อในกลไกการแข่งขันเสรีในตลาดจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้นศักยภาพในการต่อรอง การตกลงสัญญา การควบคุมกำกับของรัฐต่อบริษัทผลิตไฟฟ้าเช่นนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความผาสุกของประชาชน ดูเหมือนที่นี่จะทำได้ดี มองเมืองไทยกับการจะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้น รัฐพร้อมแล้วจริงหรือในการควบคุมกำกับ

เมื่อผมไปดูงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังแล้วก็เคลิบเคลิ้มไปกับความสำเร็จของเขา โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ก็น้อยมากๆ หากไม่รั่วไม่มีอุบัติเหตุก็เป็นพลังงานที่สะอาดน่าใช้อย่างยิ่ง พอดีระหว่างเดินกลับมาขึ้นรถผมเกิดสะดุดก้อนหิน ทันใดนั้นผมก็ตื่นพร้อมกับคำถามที่ลืมถามเขาไปว่า ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ผู้คนในรัศมี 30 กิโลเมตรนี้ราว 5-6 แสนคนรอบโรงไฟฟ้านี้จะอพยพไปไหนอย่างไร แต่วันนี้สำหรับยุโรปภูมิภาคที่บริโภคพลังงานมหาศาลเช่นนี้ ผู้คนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงกันไปก่อน จนกว่าพลังงานหมุนเวียน renewable energy จะได้รับการพัฒนาและเข้ามาแทนที่ในอนาคต อีกไม่เกิน 20 ปีเตาปฏิกรณ์ที่มีก็จะถูกปิดตายฝังไว้ที่นี่ตามพันธะสัญญาของรัฐบาลต่อประชาชน

คิดแล้วสำหรับเมืองไทย แผ่นดินไทยปนเปื้อนยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงยังถูไถไปได้ แต่หากเปื้อนกัมมันตรังสี คนตายแผ่นดินร้าง แม้โอกาสเกิดน้อย แต่วิธีเดียวที่ไม่ให้โอกาสนั้นเกิดเลยก็คือ อย่าไปสร้างมันเลยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว