สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 22 : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตอนที่ 2)

photo  , 640x480 pixel , 38,364 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากๆ ดังนั้นหนึ่งในการรณรงค์สร้างภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือการช่วยลดโลกร้อน เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดตราบใดที่ไม่มีการรั่วไหลของกัมมันตรังสีที่มีการป้องกันอย่างดี จากภาพปล่องสูงสองปล่องกับไอน้ำที่เห็นในรูปนั้นเป็นเพียงปล่องระบายความร้อน แต่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นอยู่ภายในอาคารที่มีหลังคาเป็นโดมกลมสีขาว เป็นอาคารกำแพงหนาชั้นละเป็นเมตรรวมสองชั้น เพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสีหรือการก่อวินาศกรรมจากภายนอก เช่นป้องกันแรงกระแทกจากเครื่องบินชนแบบเหตุการณ์ 911ได้

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์คือยูเรเนียม 235 ซึ่งนำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้ ในรูปของยูเรเนียมไดออกไซด์ที่มียูเรเนียม 4% การผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์นั้นใช้ยูเรเนียมไดออกไซด์เพียงปีละ 27 ตันเท่านั้น กากยูเรเนียม 27ตันนี้ จะส่งไปแปรสภาพที่ฝรั่งเศสให้เป็นพลูโตเนียมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะเหลือกากจริงๆเพียง 1 ตัน/ปีเท่านั้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิตเดียวกันต้องใช้ถ่านหินถึงปีละ 3 ล้านตัน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 7 ล้านตัน และฝุ่นอีกมหาศาล

การกำจัดกากนิวเคลียร์นั้นเบื้องต้นเขาก็จะเก็บไว้ในส่วนพักใต้น้ำข้างเตาปฏิกรณ์ราว 8 ปีเรียกว่า wet storage หลัง 8 ปีก็เอาใส่ถังโลหะหนาและปิดตาย เรียกว่า dry storage ขนไปแปรสภาพ แต่เป็นที่น่าตกใจคือ หลังจากฝรั่งเศสออกกฎหมายว่ากากนิวเคลียร์ที่หลงเหลือหลังการแปรสภาพต้องส่งกลับประเทศนั้นๆ และรัฐบาลเบลเยียมก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรเพราะที่นี่ไม่มีที่ทิ้งกากนิวเคลียร์ กากนิวเคลียร์จึงยังคงเก็บใต้น้ำข้างเตาปฏิกรณ์ต่อไปอย่างไร้ทางออก ในบ้านเราเอาขยะทั่วไปจากเขตเทศบาลไปทิ้งในเขต อบต.ก็ปวดหัวมากแล้ว กากนิวเคลียร์ที่ต้องขนข้ามประเทศไปทิ้งฝรั่งเศส เยอรมัน หรืออเมริกาเขาก็ไม่รับ จึงน่าปวดหัวหนัก แล้วหากประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากจะสร้างจังหวัดไหนแล้ว อีกโจทย์ใหญ่คือกากนิวเคลียร์จะไว้ที่จังหวัดไหนดี อันนี้ใครจะช่วยตอบที

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว