สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 18 : ภาษี VAT ไม่ใช่ 7%

photo  , 640x480 pixel , 33,998 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เป็นภาษีที่ทุกคนคุ้นเคย เมืองไทยเก็บ 7% เท่ากันทุกประเภทสินค้า แต่ที่นี่เขาเก็บในอัตราแตกต่างครับ มีตั้งแต่ไม่เก็บคือ 0% ได้แก่หนังสือพิมพ์ เก็บ 6% ได้แก่หมวดอาหาร ค่าเดินทางเช่นรถไฟรถราง ยา หนังสือ รวมทั้งค่าเข้าชมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและสวนสนุก รายการที่เก็บ 12% เช่น ค่าอาหารในร้านอาหาร ค่าเช่าเคเบิลทีวี และอัตราการเก็บสูงสุดคือ 21% ในเกือบทุกหมวดโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างกระเป๋า เหล้าเบียร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์หรือแม้แต่ซื้อบ้าน รวมทั้งค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าก๊าซและค่าน้ำมันด้วย ซึ่งนับว่าราคาสูงมากๆ

ภาษีเป็นเครื่องมือเพื่อกระจายความมั่งคั่งในสังคมจากคนมีสู่คนไม่มี ภาษี VAT เป็นภาษีทางอ้อม ในยุโรปมีอัตราสูงสุดตั้งแต่ 15% ไปจนถึง 25% แต่เนื่องจากไม่ค่อยตรงเป้าหมายในการกระจายความมั่งคั่งมากนัก เพราะคนรายได้น้อยก็ต้องบริโภคสิ่งจำเป็นแต่ต้องจ่ายภาษีเท่ากับคนมีเงิน เพื่อลดจุดอ่อนนี้ ประเทศต่างๆจึงมีการเก็บภาษี VAT ให้มีความต่างระหว่างสินค้าจำเป็นกับสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ประเทศไทยไปลอกเขามาไม่ครบ กลับใช้อัตราคงที่ 7%เพียงอัตราเดียว

ส่วนภาษีรายได้เป็นภาษีทางตรงนั้นเป็นไปตามหลักการคือคนรายรับมากจ่ายมาก และเก็บในอัตราก้าวหน้าด้วย เมืองไทยเพดานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 35% แต่ที่เบลเยียมสูงถึง 60% สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมยุโรปทุกประเทศจึงกำหนดอัตราภาษีสูงเช่นนี้ได้ อาจารย์ Jean-Pierre Unger ที่สอนผม บอกว่า เป็นเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักทั่วภาคพื้นยุโรป ประกอบกับอิทธิพลทางความคิดแบบสังคมนิยม จึงได้วางระบบสังคมทุนนิยมเป็นแบบรัฐสวัสดิการ ในช่วงนั้นตัวแทนของคนจนเข้าไปแทรกอยู่ในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าสหภาพแรงงาน พรรคการเมือง หรือองค์กรการสาธารณะต่างๆ มีผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และทำให้ในอดีตนั้นรัฐเป็นส่วนหนึ่งของคนจนด้วย จึงวางกติกาอัตราภาษีสูงและสังคมรัฐสวัสดิการได้สำเร็จและใช้มาจนถึงทุกวันนี้

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว