สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 16 : Apotheek อีกกลไกสุขภาพโดยเภสัชกร

photo  , 640x480 pixel , 61,834 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

หากมาในภาคพื้นยุโรปจะเห็นร้านที่มีเครื่องหมายกากบาทสีเขียว เขียนว่า apotheek แปลว่าร้านขายยา อันนี้เป็นภาษาดัตช์ครับ ภาษาเยอรมันใช้คำว่า apotheke ภาษาสวีเดนใช้ apotek ภาษารัสเซียก็ aптека ทั้งหมดมีรากศัพท์เดียวกัน ในขณะที่ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปนใช้คำที่มีฐานศัพท์เดียวกันจากคำว่า pharmacy หรือ farmacia

ระบบบริการสาธารณสุขของที่นี่แยกบทบาทของแพทย์กับเภสัชกรออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ในโรงพยาบาลจะไม่มีห้องยาสำหรับผู้ป่วยนอก ห้องยาในโรงพยาบาลนั้นสำหรับผู้ป่วยในเท่านั้น แปลว่าเมื่อไปพบแพทย์ไม่ว่าที่ใด แพทย์ก็จะตรวจโรควินิจฉัยและสั่งยา คนไข้ต้องเอาใบสั่งยาไปซื้อเองจากร้านขายยาที่มีโดยทั่วไปเท่านั้น แม้แต่กลางคืนก็ไม่เว้น หากไปห้องฉุกเฉิน แพทย์ให้กลับบ้านได้ คนไข้ก็ต้องไปซื้อยาเองแม้จะเป็นเวลาตีสาม เพราะจะมีร้านขายยาที่หมุนเวียนกันเปิดเพื่อมาจ่ายยาให้ผู้ป่วย ความสะดวกจึงมิอาจเอาชนะหลักการได้

หลักการที่ว่านี้เป็นหลักการตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกรซึ่งใช้กันทุกประเทศทั่วยุโรปและอเมริกา ด้วยถือหลักว่า ระบบที่ดีต้องมีการตรวจสอบ เมื่อแพทย์สั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วย เภสัชกรก็สามารถตรวจสอบการสั่งจ่ายยาและconsult ได้หากพบปัญหา หลักการนี้เคยมีการนำเสนอในประเทศไทย ปรากฏว่าถูกคัดค้านจนพับไป

แต่ถ้าหากปวดหัวตัวร้อนไอน้ำมูก จะไปซื้อยาที่ร้านขายยาเองก็ได้ จะได้ยาพื้นฐานมาทาน แต่ยาปฏิชีวนะหรือยาอันตรายนั้น เภสัชกรจะจ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ก็เป็นการควบคุมเภสัชกรมิให้ขายยาเกินความจำเป็น หากมีใบสั่งแพทย์ใบเสร็จจากร้านยานั้นสามารถนำมาทำเบิกเงินคืนได้ เฉลี่ยได้คืนที่ราว 70-85% ขึ้นกับประเภทและรายการยา ขอยกตัวอย่าง เพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นหวัด ขอคิวนัดหมอได้อีกสองวัน จึงไปซื้อยากินเอง ได้ยามาสองชนิดเสียค่ายาไป 17 ยูโรหรือราว 700 บาท ว่าไปแล้วหากต้องเดินทางไปต่างประเทศ การมียาพื้นฐานที่จำเป็นติดตัวไปด้วยจะสะดวกที่สุดครับ

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว