สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 15 : คลินิก โรงพยาบาลและการนัดหมาย

photo  , 640x480 pixel , 60,944 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ในยุโรป ระบบบริการสุขภาพด่านหน้าที่ย่อยที่สุดคือคลินิกแพทย์ ซึ่งเป็นเอกชน คลินิกป้ายเล็กครับ ต้องสังเกตสัญลักษณ์งูพันคบเพลิงเอา ที่นี่ไม่มีสถานีอนามัย เป็นระบบบริการที่ใช้แพทย์เป็นฐานจริงๆ คือป่วยมาพบแพทย์ที่คลินิก หากแพทย์รักษาไม่ได้ก็ส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ไม่สามารถเดินเข้าโรงพยาบาลเองโดยไม่ได้ส่งต่อหรือนัดหมาย ประชาชนที่นี่ทุกคนจะมีการประกันสุขภาพ ยกเว้นเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น ระบบของเบลเยียมเมื่อเจ็บป่วยจะไปหาหมอที่คลินิกไหนก็ได้ไม่ว่าแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วไม่ดีเพราะไม่มีระบบแพทย์ประจำครอบครัวแบบที่อังกฤษมีซึ่งแพทย์อาจจะรู้จักผู้ป่วยมากกว่าคู่ครอง ที่นี่เสรีภาพสูงแต่ประสิทธิภาพในระบบต่ำ

ยามเจ็บป่วยสิ่งที่จุกอกที่สุดของคนยุโรปคือ appointment ต้องโทรศัพท์ไปนัดหมอก่อนเพื่อขอคิว แล้วไปตามเวลานัด แพทย์จัดคิวให้คนไข้คนละ 15 นาที วันหนึ่งๆแพทย์ตรวจเต็มที่ก็ได้คนไข้ราว 30 คน อาจได้คิวนัดพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ หากรอไม่ไหวก็ไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลได้แม้จะไม่ฉุกเฉินเท่าไหร่ ซึ่งก็อาจได้ยามากินพอให้ทุเลาแล้วนัดมาตรวจใหม่อยู่ดี ในโรงพยาบาลเองก็ต้องใช้ระบบนัดเท่านั้น ที่เดียวที่ไม่ต้องนัดคือห้องฉุกเฉิน จึงรอคิวกันนานยิ่งกว่าบ้านเรา

หลังจากพบหมอก็จะได้ใบสั่งยาเพื่อไปซื้อที่ร้านขายยา โดยมีค่าตรวจ (consultation fee) ราว 25 ยูโรหรือ 1,000 บาท ซึ่งสามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสุขภาพได้ราวๆ 85% ที่นี่ยึดหลักการต้องร่วมจ่าย เบิกคืนได้ไม่ครบ เพื่อให้ใช้บริการอย่างไตร่ตรอง คนไข้ต้องจ่ายเองไปก่อน ไม่ต้องจัดระบบเรียกเก็บตามจ่ายให้ปวดหัว ใครไม่มีเงินก็ต้องหยิบยืมเอา

นี่ถ้าแพทย์ตรวจวันละ 30 คน รายได้จะขนาดไหนก็คิดเอาเองแล้วกันนะครับ แม้จะโดนภาษี 60% แต่ก็ยังมีเงินเหลือเก็บมากมายครับ

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว