กลุ่มเกษตรกรภาคอีสานประกาศจัดตั้ง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เกษตรพันธะสัญญาและรับจ้าง
กลุ่มเกษตรกรภาคอีสานประกาศจัดตั้ง "เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เกษตรพันธะสัญญาและรับจ้าง"สู้สัญญาที่ไม่เป็นธรรมและสวัสดิการที่ไม่เคยได้รับจากรัฐและนายทุน โดย สุเมธ ปานจำลอง
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานภาคเกษตร
เกษตรพันธะสัญญา 4 พื้นที่ภาคอีสาน
กลุ่มเกษตรกร 4 ภาคผู้ประสบปัญหาในการทำเกษตรแบบครบวงจรหรือเกษตรแบบพันธะสัญญาใน 6 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ กลุ่มผู้เลี้ยงหมู กลุ่มผู้ปลูกอ้อย กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดผักอ่อน กลุ่มปลูกยางพารา และกลุ่มผู้ใช้แรงงานรับจ้างในไร่อ้อย ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเสนอผลกระทบและปัญหาที่มีต่อเกษตรกร รวมทั้งเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของบริษัทและนายทุนที่มีต่อเกษตรกรผู้ผลิตและแรงงานรับจ้าง ตั้งแต่การพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงาน การไม่ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงทั้งการลงทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องสัญญาที่บริษัทและนายทุนได้ทำร่วมกับเกษตรกรและแรงงานรับจ้าง
ดูเสมือนว่าสัญญาที่ทำขึ้นจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพและให้ผลประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า สัญญาที่ทางบริษัททำขึ้นไม่มีความเป็นธรรมและมีการเอารัดเอาเปรียบมากมาย เช่น กรณีสัญญาของกลุ่มผู้เลี้ยงไก่และกลุ่มผู้เลี้ยงปลาที่ทางตัวแทนของบริษัทและนายทุนได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง โดยให้เกษตรกรรับภาระทำโรงเรือนหรือกระชัง ส่วนทางบริษัทจะช่วยในเรื่องพันธุ์ไก่และพันธ์ปลา อาหารปลา ตลาดปลา และวัสดุประกอบการเลี้ยง โดยมีข้อกำหนดว่าหากเกษตรกรผิดสัญญาทางบริษัทจะตัดสินให้เลิกเลี้ยง ในขณะที่ตัวหนังสือสัญญาทางบริษัทและห้างร้านจะเป็นคนจัดทำขึ้น โดยที่เกษตรกรจะไม่ได้รับรู้รายละเอียดสัญญาเลย การกระทำเหล่านี้มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว กลุ่มเกษตรกร 6 อาชีพ จึงรวมตัวกันขึ้น เพื่อ เรียกร้องให้มีกลไกรัฐและกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้ทำเกษตรพันธะสัญญาทั้งประเทศ
จากการสัมมนาแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันเสนอปัญหาโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจนตัวแทนเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ได้ข้อสรุปและมีมติร่วมกันประกาศจัดตั้ง "เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เกษตรพันธะสัญญาและรับจ้าง" เพื่อนำข้อเสนอผลักดันต่อสังคมในวงกว้าง โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันดังนี้
คำประกาศเจตนารมณ์
เครือข่ายเกษตรกรกลุ่มผู้ทำเกษตรพันธะสัญญาและรับจ้าง ซึ่งหมายถึงกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรภายใต้สัญญาของบริษัทจากทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรพันธะสัญญาเป็นการทำเกษตรที่เกษตรกรเป็นผู้ลงทุน เช่น การปลูกสร้างโรงเรือน การจัดเตรียมอุปกรณ์ การดูแลรักษา โดยมีสัญญากับบริษัททั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจา โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สินเชื่อ และรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริม โดยสังคมมักเข้าใจว่าเป็นระบบเกษตรที่ดี ที่สร้างผลผลิตได้มากและมีการประกันราคา แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรผู้เข้าสู่ระบบนี้ต้องเผชิญปัญหาและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทที่ร่วมทุนอย่างไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง
โดยภาพรวมของปัญหาคือ ระบบนี้เป็นระบบที่ซับซ้อน เกษตรกรไม่มีวันเข้าใจ ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร การกำหนดราคาที่เกษตรกรไม่ได้มีส่วนร่วม บริษัทเป็นฝ่ายกำหนดสัญญา และสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาได้ตลอดเวลา ขณะที่เกษตรกรต้องแบกหนี้สินในการลงทุนจำนวนมากแต่เกษตรกรต้องเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทโดยไม่มีสวัสดิการใดๆ รวมถึงเกษตรกรไม่สามารถรับรู้คุณภาพของอาหารหรือปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรลงทุนเอง
โดยรายละเอียด เช่น การคำนวณค่าตอบแทนการเลี้ยงไก่จากการคำนวณอัตราการแลกเนื้อโดยสัมพันธ์กับอัตราการตายของไก่ ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรไม่มีวันเข้าใจ กรณีการเลี้ยงปลาในกระชัง เกษตรกรเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโดยทำการผลิตแบบพันธะสัญญาจนระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม และส่งผลมาถึงเกษตรกรคือปลาตาย และทำให้เกษตรกรขาดทุน เป็นหนี้สินและถูกบริษัทยึดที่ดิน รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่เกษตรต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
บัดนี้ เกษตรกรผู้อยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างสุขภาพแรงงานนอกระบบเกษตรพันธะสัญญาและรับจ้างได้จัดประชาสังคมเรื่อง "เกษตรพันธะสัญญากับปัญหาแรงงานนอกระบบ พันธะสัญญาและหรือรับจ้าง" ณ ห้องประชุมทัณฑวาล์ธิเตอร์ อาคาร 31 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกษตรกรต้องแบกรับมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและสวัสดิภาพที่ไม่เคยได้รับ โดยผลจากการประชุมร่วมกันได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเด็นเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเกษตรกรพันธะสัญญาและรับจ้างเป็นการเฉพาะและมีองค์กรอิสระรับผิดชอบโดยตรงในการส่งเสริม กำกับดูแล พัฒนา เกษตรพันธะสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ว่าจ้างและเกษตรกรทั้งในเรื่องการทำสัญญา การควบคุมดูแลตรวจสอบคุณภาพของปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมทั้งการกำหนดและประกันราคาผลิตผล, การไกล่เกลี่ยและตัดสินกรณีพิพาทอันเกิดจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ประเด็นเรื่องสวัสดิการ เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้มีระบบการประกันสังคมที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของเกษตรพันธะสัญญา เพื่อเกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรพันธะสัญญาและรับจ้างเป็นการเฉพาะ โดยบริษัทคู่สัญญาจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการจ่ายเงินสมทบร่วมเพื่อให้มีระบบประกันสังคมที่มั่นคงแก่เกษตรกร
เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้มีการจัดทำ "กองทุนประกันความเสี่ยง" เพื่อช่วยเหลือและชดเชยในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตในทุกกรณี รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพทั้งที่เป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง
ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ในระบบฟาร์ม เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้มีการคิดค่าไฟฟ้าในอัตราของเกษตรกรที่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยอาจจะอยู่ในรูปของกองทุนชดเชยค่าไฟฟ้าและค่าเสียหายในกรณีที่ไฟฟ้าดับซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตในฟาร์ม
เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้มีกลไกในการส่งเสริมนโยบายเกษตรพอเพียง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรโดยยึดแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
เครือข่ายฯร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอื่นๆ ในการเรียกร้องเพื่อให้มีการทบทวนและคัดค้านข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่มีผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรทั้งที่ได้ทำไปแล้วหรือที่กำลังจะทำในอนาคต
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้ร่วมกันได้มีการนัดหมายเพื่อจัดทำรายละเอียดแผนการทำงานร่มกัน 4 ภาค เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายโดยการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และการประสานงานร่วมกับพันธมิตร โดยมีศูนย์ประสานงานชั่วคราวอยู่ที่ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานภาคเกษตร เกษตรพันธะสัญญา จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ภาคอีสานที่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน (043-789316) เพื่อจะทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรพันธะสัญญาให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นต่อไปในอนาคต จาก เว็บไซต์มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ประเทศไทย
Relate topics
- เฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล "วันแรงงานแห่งชาติ"
- ก.แรงงานดึงสตรี อบรมคุณภาพชีวิต
- แรงงานไทยหนี้ท่วมกว่าแสน บ.ต่อคน แต่ชอบ ดวดเหล้า-ซื้อหวย
- พื้นที่ต้นแบบ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ สู่ตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน
- พื้นที่ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง...สู่ชุมชนปลอดภัย ต.กระแสสินธุ์ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา
- พื้นที่ต้นแบบ คปก... สู่การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนโดยชุมชน ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
- พื้นที่ต้นแบบ การจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กลุ่มรับซื้อน้ำยาง กอไผ่ หมู่ 10 ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขล
- แผนสุขภาพประเด็นการส่งเสริมสุขภาพวัยแรงงาน : แรงงานนอกระบบ (ปรับใหม่)
- รายงานพัฒนาโครงการประเด็นการส่งเสริมสุขภาพวัยแรงงาน : แรงงานนอกระบบ
- คนกรีดยาง-แม่บ้านสงขลาได้เฮรับสวัสดิการแรงงาน