สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แรงงานไทยหนี้ท่วมกว่าแสน บ.ต่อคน แต่ชอบ “ดวดเหล้า-ซื้อหวย”

by kai @26 เม.ย. 50 19:05 ( IP : 58...52 ) | Tags : ประเด็นด้านสุขภาพวัยแรงงาน

แรงงานไทยหนี้ท่วมกว่าแสน บ.ต่อคน แต่ชอบ "ดวดเหล้า-ซื้อหวย"

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2550 16:48 น.

      สสส.-เอแบคโพลล์ เผย แรงงานไทยหนี้ท่วมแสนกว่าบาทต่อคน สำรวจรายจ่ายไม่จำเป็น ซื้อเหล้า-เบียร์ มากสุด 800 กว่าบาทต่อเดือน เจียดเงินซื้อหวยอีกเกือบ 400 บาท 7 ใน 100 คน สารภาพเครียดเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย
      วันนี้ (26 เม.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการแถลงผลการสำรวจเรื่องคุณภาพชีวิตลูกจ้างที่เป็นความร่วมมือสำรวจสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
      นางเพ็ญพรรณ จิตตเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะ สสส.กล่าวถึงการสำรวจคุณภาพชีวิตแรงงานไทยที่เริ่มการสำรวจมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2549) โดยเก็บตัวอย่างกลุ่มแรงงานตั้งแต่แรงงานระดับล่าง ไปจนถึงกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ทั้งสิ้น 3,468 คน จาก 13 จังหวัดทั่วประเทศ และทั้งหมดเป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมทั้งสิ้น
      ทั้งนี้ ผลออกมามีหลายจุดที่น่าเป็นห่วง ทั้งในเรื่องของสังคมบริโภคนิยมที่เป็นตัวผลักดันให้กลุ่มแรงงานจำเป็นต้องเข้าสู่วังวนของการกู้เงินและการมีหนี้สิน กล่าวคือ จากการสำรวจพบว่า คนแรงงาน 59.5% มีหนี้ และจำนวนหนี้เฉลี่ยต่อ 1 คนแรงงาน ในปีนี้สูงถึง 115,832 บาทต่อคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้นอกระบบ 24.5%
      อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาเรื่องหนี้สินของกลุ่มคนแรงงานแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในสิ่งที่ไม่จำเป็น โดยผลสำรวจระบุว่า กลุ่มคนแรงงาน 32.3% ใช้เงินซื้อเหล้า เบียร์ 815 บาทต่อเดือน, 16.8% ซื้อบุหรี่ 423 บาทต่อเดือน ซื้อหวย เสี่ยงโชค 395 บาทต่อเดือน ร้อยละ 62 ซื้อเครื่องสำอาง น้ำหอม 542 บาทต่อเดือน ซึ่ง 40.4% ระบุว่า มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยส่วนใหญ่ 56.5% มีรายได้ 5,000-10,000 บาทต่อเดือน
      นอกจากนี้ ผลสำรวจพนักงานออฟฟิศ พบว่า พฤติกรรมการดื่มเหล้ายังคงมีอยู่ แม้จะมีการพยายามเลิกอยู่บ้าง แต่กลุ่มคนแรงงาน 55% ให้ข้อมูลว่า ไม่เคยแม้แต่คิดจะเลิกดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ ส่วนเรื่องออกกำลังกายนั้นมีอยู่ค่อนข้างน้อย แสดงถึงความไม่ใส่ใจสุขภาพของตนเอง ซ้ำมีข้อมูลอีกว่าคนทำงาน 22% ไม่มีความสุขกับงานที่กำลังทำอยู่ และเกิน 90% อยากให้มีการจัดสรรเงินกองทุนประกันสังคม ให้กลับมายังพวกเขาในรูปของการให้บริการด้านสุขภาพที่มากกว่านี้ โดย 83.4% อยากให้มีแพทย์มาให้การดูแลอาการเจ็บป่วย และเกือบจะ 100% ที่เรียกร้องให้มีการสำรวจความคิดเห็นของคนแรงงานในเรื่องการดูแลด้านการสวัสดิการสังคมและการประกันสังคม
      "น่าเป็นห่วงมากๆ เพราะขณะนี้คนทำงานประมาณ 42.4% คือ เกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง เคยคิดจะลาออกจากงานในระยะ 1 ปีมานี้ และ 9% คิดจะฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ"
      ด้านนพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารักษ์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สสส.ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลในยุคนี้ ก็คือ สังคมของความเป็นบริโภคนิยม ที่สร้างค่านิยมการอยากได้ อยากมี ให้แก่เด็กและเยาวชนที่เพิ่งจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ซึมซับกับค่านิยมเหล่านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นก็เปรียบเสมือน "กับดักหนี้" ที่จะบีบให้เขาเข้าสู่วงโคจรของการเป็นหนี้เป็นสินไปโดยไม่รู้จบ
      "สังคมการบริโภคนิยมนี่น่ากลัว เด็กซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้ค่าขนมเพียง 500 บาท       แต่สามารถใช้เงินก้อนนั้นได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อเด็กคนนั้นศึกษาจบ และก้าวเข้าสู่ระบบของตลาดแรงงาน ทำให้เขาสามารถทำเงินให้ตัวเองได้เดือนละ 10,000 บาท แบบนี้ก็เลยกล้าผ่อน ผ่อนแอร์ ผ่อนทีวี ผ่อนรถ ลองเปิดประตูห้องเข้าไปดูสิ มีหมด แต่ทั้งห้องนั่นเงินผ่อนนะ นั่นแหละที่น่ากลัว คือ มันเป็นกับดักหนี้ เป็นระบบการสร้างหนี้ให้คนแรงงาน ทำให้หาไม่พอจ่าย รายได้น้อยกว่ารายจ่าย คุณภาพชีวิตก็แย่ลงไปด้วย ปีที่แล้วหนี้คนแรงงานเฉลี่ยคนละประมาณ 50,000บาท มาปีนี้พุ่งเป็นเฉลี่ยคนละ 100,000 กว่าบาท เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก"
      "คนแรงงานในที่นี้ คือ คนที่อายุ 15-60 ปี ซึ่งไทยเรามีอยู่ประมาณ 36 ล้านคน ใน 36 ล้านนี้มีแค่ 9 ล้านคนเศษๆ ที่เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม และอีกไม่มากนักเป็นสวัสดิการของราชการ ยังมีคนอีกมากที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากหน่วยงานใด และแรงงานนอกระบบนี่แหละที่ประสบปัญหา และทำให้สังคมมีปัญหาด้วย"
      อย่างไรก็ตาม นพ.ชาญวิทย์ ได้เปิดเผยถึงโครงการที่ทาง สสส.จะเดินหน้าผลักดันในเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนแรงงาน นั่นคือ โครงการพัฒนาแผนงานที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานด้านการเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสถานประกอบการ โดยยึดหลัก CRS หรือ Corperate Social Responsibility เพื่อรณรงค์ให้องค์กรและสถานประกอบการทุกแห่ง ลดการทำ Social Marketing เพื่อภาพลักษณ์ขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียวลง และหันมาให้ความสำคัญกับบุคลากรขององค์กร และสถานประกอบการมากขึ้น

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว