พื้นที่ต้นแบบ คปก... สู่การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนโดยชุมชน ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
คปก... สู่การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนโดยชุมชน
<img src="/library/img//funny/smile.gif" alt="" />ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่า "โหนด...นา... เล..." ซึ่งบ่งถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการประกอบอาชีพของคนในชุมชน อาชีพของคนในชุมชน คือ ทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนตามผลสำรวจ จปฐ. แต่คนเหล่านี้ต้องซื้อข้าวกิน นอกจากนี้ยังมีอาชีพขึ้นตาลโตนด แปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด เช่น ทำน้ำตาล ทำขนมจากจาวตาล ... การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน (ครอบครัว) หลายคนไปทำงานในโรงงานใกล้ชุมชน และมี "ผู้หญิง" วัยกลางคนส่วนหนึ่งที่ออกจากชุมชนหลังจากจบชั้นประถมศึกษา เพื่อเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พบว่าไปทำงานเย็บผ้าในกิจการขนาดเล็ก เมื่อมีครอบครัวจึงกลับบ้านเพราะไม่สามารถดำรงชีพได้ด้วยค่าแรงที่ได้รับ งานที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ทำ คือ รับงานตัดเย็บเสื้อผ้าจากนอกชุมชนมาทำที่บ้าน เนื่องจากประสบการณ์การทำงาน 5-10 ปีในกรุงเทพฯ ทำจนเกิดเป็นทักษะ ความชำนาญ แต่เป็นทักษะเฉพาะด้าน คือ "เย็บ" เท่านั้น คนอีกส่วนหนึ่งมีทักษะการเย็บ ออกแบบและตัด จึงรับงานหน้าร้านมาทำและรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าให้คนในชุมชน และเมื่อปี 2534 ได้เกิดกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าคลองรีขึ้น แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ล้มเลิกกลุ่มเนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการภายในกลุ่ม อย่างไรก็ตามภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบภาคการผลิต:ภาคใต้ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน:ตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 23 คนได้รวมกลุ่มกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อการช่วยเหลือกันและมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงานมากกว่าการรวมกลุ่มเพื่อรับงานมาทำร่วมกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากบทเรียนของกลุ่มที่ล้มไปเพราะมุ่งเน้นผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากเกินไปและมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ
บทเรียน...พัฒนาการของคณะทำงานระดับปฏิบัติการ(คปก.)เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบตำบลคลองรี คปก. เกิดขึ้นปลายปี 2547 ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้แทนกลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 15 คน ซึ่งได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะในการทำงานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานนอกระบบในชุมชน ...หลังดำเนินการไปแล้ว 6 เดือน คปก. เห็นว่าคณะกรรมการฯ บางคนมีเงื่อนไขเรื่องภารกิจงานหลายด้าน "หมวกหลายใบ" จึงมีการปรับเปลี่ยน "ตัวคน" ที่มีเงื่อนไขสอดคล้องกับงานของคปก. ให้มากขึ้น เช่น เป็นผู้นำชุมชนที่หลายฝ่ายให้ความเชื่อถือ และสามารถทำงานร่วมกับภาคีอื่น ๆ ได้ มีเวลาทำงาน เห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพ จึงได้มี "ทีมใหม่" ที่ลงตัว และสิ่งสำคัญที่ทีม คปก. ค้นพบให้การดำเนินงานด้านสุขภาพในชุมชนเป็นไปได้อย่างดี คือ มีคนทำงานหลักที่เป็นที่ยอมรับของคนชุมชนในเรื่องความซื่อสัตย์ เสียสละ และในพื้นที่มีทุนทางสังคม "บุคคล" ของชุมชน ที่มีความคิด อุดมการณ์ เสียสละ มีความสามารถ และทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่น ๆ จำนวนมาก พร้อมทั้งมีเวทีประชุมหารือและดำเนินกิจกรรมตามแผนงานของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง...
คปก...กับการสร้างต้นแบบชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้า "การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน"
คปก. กับสมาชิกกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าคลองรีได้สร้างเครื่องมือให้ความรู้ กติกาข้อตกลงร่วมและแบบบันทึกรายบุคคล และรูปแบบการติดตามเพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนักสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มอาชีพในชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า "อาสาสมัครด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในชุมชน" ซึ่งขณะนี้สมาชิกร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ได้ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานและเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าของชุมชนอื่น ๆได้
คปก. สู่...กองทุนสวัสดิการชุมชน รูปแบบการทำงานของ คปก. ที่มีองค์ประกอบหลากหลายของคน/องค์กรในชุมชนได้นำไปสู่การพัฒนาแนวคิดและปฏิบัติการทั้งในเชิงกลุ่มเป้าหมายมากกว่ากลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ แต่ขยับไปทำงานกับกลุ่มอาชีพอื่นในชุมชน เช่น กลุ่มคนขึ้นตาลโตนดที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัยมากอีกกลุ่มอาชีพหนึ่ง นอกจากนี้ได้ขยับไปทำงานในเชิงประเด็นนอกเหนือจากประเด็นสุขภาพ ...เช่น ประเด็นการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ และสวัสดิการ ซึ่งขยับจากประสบการณ์การทำงานที่เชื่อว่า การพัฒนา ส่งเสริมอาชีพต้องทำควบคู่กับเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ฉะนั้นจึงเป็นบทบาทสำคัญของ คปก. เช่นกัน
การทำงานที่ต่อเนื่อง มีคนทำงานจริงจัง เสียสละ มีรูปธรรมและทำงานใกล้ชิดกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองรี จนเป็นที่การยอมรับอบต. คลองรี ซึ่งมีโครงการงบประมาณในการจัดสวัสดิการดูแลกลุ่มคนขึ้นตาลด้านการบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต จึงเกิดรูปแบบการทำงานร่วมกันของอบต.และ คปก. ในรูปของคณะทำงานเพื่อบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชน โดย อบต.สมทบงบประมาณปีแรก 200,000 บาท ปีต่อไปปีละ 100,000 บาท (อยู่ในระหว่างการพิจารณา) สมาชิกสมทบรายปี ๆ ละ 300 บาท ต่อคน ขณะนี้มีสมาชิก 335 คน ประเภทสวัสดิการที่สมาชิกได้รับ ได้แก่ เงินทดแทนการเจ็บป่วยเมื่อนอนโรงพยาบาล กรณีตาย พิการ คลอดบุตร และเสียชีวิต
คปก. ในบทบาทคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทาย และต้องพิสูจน์...การมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารงบประมาณของอบต. และการสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ และคนในชุมชนในมิติต่าง ๆ
เรียบเรียงโดย น.ส. พันธ์ วรรณบริบูรณ์ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพแรงงานนอกระบบภาคใต้
Relate topics
- เฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล "วันแรงงานแห่งชาติ"
- ก.แรงงานดึงสตรี อบรมคุณภาพชีวิต
- กลุ่มเกษตรกรภาคอีสานประกาศจัดตั้ง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เกษตรพันธะสัญญาและรับจ้าง
- แรงงานไทยหนี้ท่วมกว่าแสน บ.ต่อคน แต่ชอบ ดวดเหล้า-ซื้อหวย
- พื้นที่ต้นแบบ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ สู่ตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน
- พื้นที่ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง...สู่ชุมชนปลอดภัย ต.กระแสสินธุ์ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา
- พื้นที่ต้นแบบ การจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กลุ่มรับซื้อน้ำยาง กอไผ่ หมู่ 10 ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขล
- แผนสุขภาพประเด็นการส่งเสริมสุขภาพวัยแรงงาน : แรงงานนอกระบบ (ปรับใหม่)
- รายงานพัฒนาโครงการประเด็นการส่งเสริมสุขภาพวัยแรงงาน : แรงงานนอกระบบ
- คนกรีดยาง-แม่บ้านสงขลาได้เฮรับสวัสดิการแรงงาน