สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

พื้นที่ต้นแบบ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ สู่ตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน

ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ...สู่ตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน

"สระเพลง"  เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลทางพูน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่พบว่ามีคนหนุ่ม-สาวออกจากหมู่บ้านเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ หลังจบการศึกษาภาคบังคับจำนวนไม่น้อย งานที่คนกลุ่มนี้ทำ คือ งานตัดเย็บเสื้อผ้าในกิจการขนาดเล็ก  เมื่อทำงาน 10-15 ปี จนเกิดทักษะ ความชำนาญ เฉพาะด้าน "เย็บ"  แต่ขาดทักษะด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง หลังจากแต่งงานมีครอบครัวในกรุงเทพฯ แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่กลับภูมิลำเนาเดิม เพราะรายได้ไม่เพียงพอกับภาระหรือค่าครองชีพในกรุงเทพฯ  งานที่แรงงานกลุ่มนี้มองหาและต้องการทำในชุมชน คือ การรับเสื้อผ้ามาเย็บที่บ้าน เพราะภาระต้องดูแลครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน  นอกจากนี้ มีคนส่วนหนึ่งที่ไปไม่ออกไปทำงานนอกชุมชน แต่มีที่ดินของตนเอง จึงปลูกพืชผลไม้เพื่อขาย ซึ่งพบว่าหลายครอบครัวใช้สารเคมีในการทำเกษตรของตนเองนั้นเสี่ยงต่อสุขภาพของคนในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างกว้างขวาง ในยามที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรคนกลุ่มนี้ไปทำงานเป็นแรงงานรับจ้าง "งานก่อสร้าง" นอกชุมชน ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพ ความปลอดภัยจากการทำงานสูง รวมทั้งขาดหลักประกันและผู้รับผิดชอบหากแรงงานกลุ่มนี้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และยังถูกเบี้ยวค่าแรง โดยไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใครหรือช่องทางใด

"ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ" เกิดขึ้นภายใต้การปรึกษาหารือร่วมของคณะทำงานระดับปฏิบัติการ(คปก.) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบตำบล    สระเพลงและองค์การบริหารส่วนตำบลทางพูนซึ่งมีปลัดอบต.เป็นผู้แทนของอบต.ในการดำเนินการเรื่องนี้ จากสภาพปัญหาและต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ  และบทบาทสำคัญของศูนย์ฯ คือ การให้ข้อมูล /ให้คำปรึกษา/คำแนะนำด้านกฎหมาย สุขภาพ หลักประกันสุขภาพ อาชีพ และการประสานงานเพื่อการแก้ไขปัญหาของคนในชุมชนเบื้องต้น และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่  ศูนย์ฯ นี้ ตั้งและดำเนินงานอยู่ในอบต. ทางพูน
ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ...สู่ตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน การเปิดตัวศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบต่อชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการโดยอบต.และคปก.ตำบลทางพูน รวมทั้งการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมและรับรู้ข้อมูล/นโยบายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด และประกันสังคม เป็นต้น  จึงเสนอให้มีการทำงานปฏิบัติการร่วมกันของหน่วยงานระดับจังหวัดด้านแรงงานและสวัสดิการกับศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบในชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชนด้านต่าง ๆ โดยเลือกตำบลทางพูนเป็นตำบลต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน

นี่คือ...บทพิสูจน์และท้าทายคปก. และชุมชนต่อการกำหนดทิศทางจุดยืนของชุมชน ภายใต้การทำงานร่วมกับภาครัฐที่เน้นดำเนินงานตามนโยบายที่ส่วนกลางกำหนด คือ...สร้างตำบลต้นแบบ

เรียบเรียงโดย น.ส. พันธ์  วรรณบริบูรณ์ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพแรงงานนอกระบบภาคใต้

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว