เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
ปัญหาขยะในคลองแหอันมีต้นทางมาจากเขตเทศบาลเมืองคอหงส์และเทศบาลนครหาดใหญ่ ทำให้ กลุ่มรักษ์คลองแหสร้างฝายดักขยะตัวแรกบริเวณหลังวัดคลองแห เมื่อปี 2548 ใช้กระสอบทรายทิ้งทับลงก้นคลอง หากแต่ต้านแรงไหลของน้ำที่มาพร้อมขยะจำนวนมากไม่ไหว จึงมีอายุใช้งานแค่ปีเดียว
ปี 2549 มีการปรับรูปแบบฝายใหม่ใช้เสาเข็มก่อสร้างที่เขาตัดทิ้งและเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้วตอกลงเป็นฝายแทน ทนอยู่ได้ถึงปี 2550 ก็พังอีกด้วยเหตุผลเดิม
ฝายดักขยะ ที่เปิดใช้งานเป็นทางการเมื่อ 7 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ก่อสร้างในบริเวณเดิมจึงนับเป็นตัวที่ 3 แต่กว่าจะออกแบบและก่อสร้างแล้วเสร็จมีการออกแบบร่วมระหว่างนายช่างชลประทาน โครงการชลประทานสงขลา และวิศวกรของเทศบาลคลองแห และนายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล สถาปนิก ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2551
มิถุนายน 2551 ทางสถาปนิกผู้รับผิดชอบออกแบบเห็นว่า ค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงทบทวนการออกแบบโดยเพิ่มวิศวกรอีก 1 คนคือ อาจารย์สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปรับปรุงเป็นแบบใหม่แบบที่ 2 เมื่อกลางเดือน กรกฎาคม2551 ต่อมา อาจารย์สมบูรณ์ ได้ทบทวนปรับปรุงเพื่อลดค่าใช้จ่าย และจัดการได้สะดวกจึงสรุปเป็นแบบที่ 3 ราวต้นเดือน สิงหาคม2551 และพร้อมจะเริ่มก่อสร้าง แต่เจอปัญหาฝนตกหนักในพื้นที่มาตลอดจนไม่สามารถทำได้ตามแผน มาเริ่มดำเนินการจริงๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2552 แต่เจอฝนที่ตกต่อเนื่องอีก ครั้นมาทำและก่อสร้างจริงใช้เวลาเพียง 2 เดือน
ฝายดักขยะชุดใหม่ใช้โครงเหล็ก มีตะแกรงดักขยะยกขึ้นลงได้ตามระดับน้ำเน้นการดักขยะที่ลอยมาตามผิวน้ำเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไม่ต้านแรงน้ำเหมือนที่ผ่านมา เมื่อขยะลอยมาติดหน้าฝาย ใช้แรงคนยกคันยกที่มีตะแกรงช้อนขยะมาเทรวมเอาไว้ในบ่อซิเมนต์ริมคลอง เพื่อรอการคัดแยกและขนส่วนไม่ใช้งานไปกำจัดต่อไป
การดำเนินการครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิโคคาโคลา ประเทศไทย และมูลนิธิชุมชนไทย 1,300,000บาท ในพิธีเปิดฝายอย่างเป็นทางการมีผู้มาร่วมราว 100 คน นายไสว สุวรรณธนะ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองคลองแห ในฐานะผู้แทนกลุ่มรักษ์คลองแห กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันคลองแหรับผลกระทบน้ำเสียจากคลองเตย ซึ่งต้นน้ำมาจากเทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองคอหงส์ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งช่วยฟื้นฟูสภาพน้ำอย่างเร่งด่วน
“กลุ่มรักษ์คลองแหในฐานะเป็นองค์กรรับผิดชอบงานร่วมกับวัดคลองแห และเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ มีความพยายามพัฒนารูปแบบ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในคลองแหมาอย่างต่อเนื่องกล่าวได้ว่า การทำฝายดักขยะครั้งนี้ได้มีการวางแนวทางดำเนินการมาตั้งแต่ 2547 จนปัจจุบันมีความมุ่งหวังว่าจะเป็นอีกทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
กลุ่มรักษ์คลองแหเกิดจากชาวบ้านไม่กี่คนที่เห็นและศรัทธาความพยายามของพระครูปลัดสมพร เจ้าอาวาสวัดคลองแหผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำแห่งนี้อย่างจริงจัง ทางกลุ่มทำงานพัฒนาต่อเนื่องกันมากว่าทศวรรษ ล่าสุดมี สมาชิกราว 200 คน
ก่อนที่ นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ ท้องถิ่น จังหวัดสงขลา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด จะได้ลั่นฆ้อง เทน้ำหมักชีวภาพและโยนจุลินทรีย์แห้งบำบัดน้ำเสียลงคลองแห เพื่อเปิดการใช้ฝายอย่างเป็นทางการ ได้กล่าวต่อผู้มาร่วมงาน ใจความสำคัญว่า
...ทุกวันนี้น้ำในลุ่มน้ำอู่ตะเภาถูกย่ำยี แม้น้ำกินเอามาจากตรงนี้ แต่น้ำที่ใช้แล้ว จาก บ้านเรือน ชุมชน โรงงาน ผู้ประกอบการทั้งหลาย ก็ทิ้งลงตรงนี้
“ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่าคลองแห่งนี้เป็นท่อระบายน้ำ ขณะเดียวกันเอาน้ำนี้มากินมาใช้ เราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ท่านตั้งโจทย์ให้ราชการที่เกี่ยวข้องคิดเรื่องนี้และหาทางออก”
นายวิญญ์กล่าวว่าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทราบดีว่าการที่จะทำ ถ้าเปรียบคลองอู่ตะเภาเป็นคนอยู่ในอาการหายใจรวยรินแล้ว แต่เชื่อว่าคลองจะอยู่ต่อไปได้ และไม่ใช่ฝ่ายรัฐอย่างเดียวที่เข้ามาดูแลทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน
“กรณีตัวอย่างสำคัญที่เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นคือ ภายใต้การนำของพระครูปลัดสมพร แห่งวัดคลองแห ท่านพยายามทำเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแบบล้มลุกคลุกคลาน คนอื่นมาช่วยบ้าง ทำเองบ้าง จนถึงที่สุดแล้ว ฝายตัวนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนคือมูลนิธิโคคาโคลา แห่งประเทศไทยที่ได้เล็งเห็น ว่าคนจะอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นนิมิตหมายให้พวกเราช่วยกันคิดว่า มาถึงวันนี้ภายใต้การนำของ ท่านเจ้าอาวาสวัดคลองแหและ การทำงานร่วมกันพวกเรา เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม จิตใจ เอื้ออาทรต่อธรรมชาติพี่น้องร่วมโลก โดยเฉพาะแหล่งน้ำ”
นายวิญญ์กล่าวว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีการกระทำส่งผลต่อ แม่น้ำลำคลอง ได้ตระหนักรู้และคิดต่อไปว่าทุกคนต้องรับผิดชอบลำน้ำร่วมกัน ถึงเวลาที่คนคลองแหและคนตลอดลำน้ำต้องมาช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อความยั่งยืนในการอยู่กับธรรมชาติ
“คลองแหเป็นปลายเหตุทำได้แค่เอาถุงพลาสติดขึ้นจากคลองแต่น้ำที่ไหลจากสะเดาไปถึงปากอ่าว แก้ไม่จบถ้ายังทิ้งกันเหมือนเดิม ผมจึงอยากฝากเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่เกี่ยวข้องว่าจะช่วยกันทำอย่างไร ให้มีบทบาท ชี้แนะ ตักเตือน อบรม สั่งสอนกับพ่อแม่พี่น้อง มีความเป็นผู้ใหญ่พอมองระบบให้ออก เพื่อเอาเรื่องเหล่านี้ไปคุยกับชาวบ้านในลักษณะจับเข่าคุยกันกับชาวบ้านว่าเราจะช่วยกันอย่างไรต่อไป”
นายวิญญ์กล่าวว่าภายใต้การนำของพระครูปลัดสมพรและการสนับสนุนของทุกภาคีเครือข่ายที่มองประเด็นสิ่งแวดล้อมบูรณาการเชิงความคิด กับทุกสิ่ง ไม่ว่า ศิลปะ วัฒนธรรม ความมีจิตใจอ่อนโยนของเด็กที่จะนำมาเกี่ยวข้องผูกโยงกันให้ได้ จึงอยากนำความคิดนี้มาใช้เพราะที่จริงทุกเรื่องมันเกี่ยวกันโดยเนื้อแท้ แต่ส่วนมากจะมองแยกส่วน
แม้กระทั่งตลาดน้ำคลองแหเองต้องคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่มองแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามจากการที่ได้เห็นความตั้งใจ มุ่งมั่น ของชาวคลองแหนายวิญญ์เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาถูกแล้วนับเป็นบุญกุศล กับชีวิต สังคม ธรรมชาติ เพียงแต่ทำอย่างไรจะขยายผลให้คน และชุมชนคิด ทำแบบนี้มากขึ้น หากทำได้จริงย่อมกำหนดชะตาชีวิตคนสังคม หรือแม้แต่ประเทศได้เลยทีเดียว ...
กลิ่นน้ำหมักโชยตลบคุ้งน้ำ ไม่น่าเชื่อว่า กลิ่นอันไม่น่าพิสมัยนี้เองลงไปปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น ก้อนจุลินทรีย์แห้งที่ช่วยกันขว้างลงไปก็ทำหน้าที่เดียวกัน เป็นความพยายามและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มรักษ์คลองแห
คณะโนรารุ่นเยาว์ จากวัดคลองแหที่มารำเปิดฝาย ได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงาน รวมทั้งยุวชนแลกเปลี่ยนจากประเทศญี่ปุ่นที่มาร่วมกิจกรรมด้วยความสนใจ หลังพิธีเปิดฝายช่วงต้นผ่านไป ผู้มาร่วมส่วนหนึ่งค่อยทยอยกลับไปบ้าง ก่อนการเสวนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำเสียของคลองแห ด้วยฝายดักขยะ” จะเริ่ม
การเสวนาดำเนินรายการโดย นายชาคริต โภชะเรือง และนาย ชัยวุฒิ เกิดชื่น มีการถ่ายทอดสดทางคลื่นความคิด สถานีวิทยุ FM 101.MHz
บรรยากาศสบายๆ ริมน้ำ ใต้เงาไม้ หน้าฝายดักขยะ นายชาคริต โภชะเรือง จากเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา กล่าวเปิดวงเสวนา โดยเล่าถึงความเป็นมาของกลุ่มรักษ์คลองแหว่าเริ่มเมื่อปลายปี 2546-47
“ทางผมใช้งบอุดหนุนจาก สสส. เริ่มเข้ามาอุดหนุนกิจกรรมแรกคือโนราโรงครู นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาหลัก ก็มีเรื่องวัฒนธรรมที่พยายามสนับสนุนอย่างจริงจังมีกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน เข้ามาช่วยซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมาก
ภารกิจเชิงวัฒนธรรมต่อยอดมาถึงงานย้อนวัฒนธรรมคลองแห ซึ่งคิดโครงการใหญ่ ที่จะแก้ปัญหาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม”
นายชาคริตเล่าว่าแนวคิดการทำฝาย เริ่มต้นเริ่มจากพระครูปลัดสมพร เจ้าอาวาสวัดคลองแหกับเครือข่ายกลุ่มรักษ์คลองแหได้ไปดูงานที่ลานวัดตะโหมด จังหวัดพัทลุงได้รูปแบบสภาลานวัดตะโหมดกลับมาทำจนเกิดวงพูดคุยของกลุ่มรักษ์คลองแห จนเป็นที่มาของงานย้อนตำนานคลองแห
ไปคราวนั้นได้ไปดูงานทำฝายด้วย แต่ฝายที่ตะโหมดเป็นฝายชะลอน้ำ กลุ่มรักษ์คลองแหมาปรับเป็นฝายดักขยะ คราวแรกออกแบบเป็นฝายเฉียงรูปเหลี่ยม ใช้ไม้ และกระสอบทรายเป็นหลัก โดยท่านเจ้าอาวาสจัดงานก่อเจดีย์ทรายในวัด เมื่อได้ทรายจึงนำมาใส่กระสอบมาปูรองพื้นลงคลอง ใช้ไม้ปักรับเป็นฝายสามารถใช้ได้ดีระยะหนึ่ง อีกปีใช้เสาเข็มลง สามารถดักได้เฉพาะช่วงปกติ แต่พอน้ำมามาก ขยะมาเยอะ ก็ทานไม่อยู่อีก
ฝายดักขยะระยะที่ 3 ซึ่งที่เพิ่งปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ มีกรมชลประทาน นายช่างเทศบาล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาช่วยกันออกแบบ บนแนวคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นฝายกึ่งถาวร และระยะยาว
“โชคดีได้รับ การสนับสนุนจากมูลนิธิโคคาโคลา เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภาเข้ามาหนุนโครงการกลุ่มย่อยในพื้นที่คือกลุ่มรักษ์คลองแห”
นายประโชติ อินทร์ถาวร เล่าว่า ในปี 2547 ตนเองในฐานะเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา ที่เคลื่อนมาตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมืองหาดใหญ่ปี 43 มองเห็นว่าน้ำท่วมเพราะขยะ อุดตันทางน้ำทำให้น้ำไหลไม่ทัน ได้เริ่มรณรงค์เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภามาลงนั่งเรือดูสภาพคลองมาถึงคลองแห
“ผมเป็นคนเริ่มก่อตั้งกลุ่มรักษ์คลองแหตอนนั้นมีคน 30กว่าคนเท่านั้น นั่งคุยบนศาลาวัด มีพระครูปลัดสมพรนั่งอยู่ด้วย ยังมีคุณพิชยา แก้วขาวเป็นแรงผลักดันให้เกิดกลุ่มขึ้นมาต้องให้เครดิตเจ้าอาวาสกับชุมชน”
นายประโชติเล่าว่าการมาเล่นปัญหาขยะ เพราะเห็นว่ามีปัญหาจริง ๆท้องถิ่นก็ช่วย แต่ด้วยสภาวะปัญหางบประมาณหรือ อะไรต่างๆ พบว่าแรงจากท้องถิ่นยังไม่พอ พอเกิดกลุ่มรักษ์คลองแห มีคนมาหนุนเสริมทำให้มีพลังมากขึ้น
“ที่น่าดีใจคือเกิดตลาดน้ำขึ้นที่นี่ ฟังแล้วเป็นหน้าตาที่จะพัฒนาต่อ แต่ถ้าน้ำดำ(สกปรก)อย่างนี้ คนย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่า แม่ค้าจะเอาน้ำนี้ไปล้างอุปกรณ์หรือเปล่า หรือมีกลิ่นอะไรขึ้นมาคนก็ไม่มาจึงควรดูแล คลองแหมีสภาพน้ำเสียมากอันนี้ต้องยอมรับ”
สิบโทอุดม เพ็ชรธนู แกนนำกลุ่มรักษ์คลองแห เล่าสภาพเดิมของพื้นที่ว่า คลองแหในอดีตเป็นท่าเทียบเรือของพระยาวิเชียรชม เจ้าเมืองสงขลา โดยเจ้าเมืองสงขลาจะมีสวนอยู่ริมคลองแห่งนี้
“รุ่นผมเด็กคลองนี้จะใสมาก ต้นคลองมาจากบ้านในไร่ น้ำจะไหลทั้งปี ชาวบ้านแถวนี้ฝากวิถีชีวิตไว้กับคลอง ไม่ว่ากิน อาบ แต่ระยะหลังมีโรงงานรมยางของสยามปักษ์ใต้มาตั้งอยู่ หลังจากนั้นเขาก็มาปล่อยพวกเปลือกยาง ขี้ยาง น้ำล้างยางลงมา จากนั้น คลองจะเริ่มเสื่อมมาถึงวันนี้”
สิบโทอุดมเล่าว่าฝายดักขยะ ทำมา 2 ครั้งแต่พัง ที่ทำมาคิดเอาเอง ไม่มีคนออกแบบ เกี่ยวกับการต้านทานแรงน้ำฝายดักขยะตัวใหม่นี้มีอุปสรรคมาตั้งแต่ต้นเหมือนกัน มีการออกแบบถึง 3ครั้ง จนได้รับการอนุเคราะห์จาก อาจารย์สิทธิศักดิ์ ตันมงคล มาช่วยออกแบบ ใหม่ให้ เพราะแบบแรกๆมีปัญหาเรื่องราคาอุปกรณ์ ที่สูงเกินไปไม่เพียงพอกับงบที่เราได้รับการอุดหนุน ส่วนปัญหาอื่นเป็นเรื่องธรรมชาติจากฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้การก่อสร้างยืดเยื้อ
“ขยะในคลองแหจะมาหลังฝนตก 1 ชั่วโมงขยะลอยน้ำมายาวเหยียดเรียกว่าเดินขบวนกันมาเลย ไม่ต่ำกว่า 2 รถสิบล้อ มันเยอะมากโดยเฉพาะจำพวกกล่องโฟม ตั้งแต่แรกเริ่มเราใช้แรงงานคนลงมาคุ้ยแต่มากเข้าก็คุ้ยไม่ไหวมีตัวนี้ เราคิดว่าการจัดการขยะน่าจะดีกว่าเดิม ฝายนี้ต้านน้ำจะน้อยลง ปัญหาอาจมีว่าเอาขยะขึ้นมาแล้ว จะทิ้งที่ไหน ค่าใช้จ่ายค่าขยะและแรงงาน เท่าที่ทราบกิโลกรัมละ 1.75 บาท”
สิบโทอุดมเป็นผู้นำรณรงค์ คัดแยกขยะ ทุกวันนี้ทีบ้านเขาตั้งเป็นศูนย์คัดแยกขยะ สาธิตน้ำหมักชีวภาพแบบต่อเนื่อง ร่วมกับกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองคลองแหรณรงค์ คัดแยกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด นอกจากทำน้ำหมักแล้ว ยังพัฒนามาทำน้ำยาเอนกประสงค์ ทำสบู่ ชีวภาพไล่แมลง ปุ๋ยแห้ง ฯลฯ ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาชน ตลอดลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา
อุดมบอกว่าขยะพลาสติค และขยะรีไซเคิล เป็นที่ต้องการอยู่ สมัยก่อนหลังคัดแยกขยะที่ลอยมาตามน้ำ เหลือขยะที่ใช้งานไม่ได้นำขึ้นมาฝังกลบริมคลอง แต่ปัจจุบันไม่มีที่ทิ้งแล้ว จำเป็นต้องขนไปทิ้งที่อื่น ซึ่งทางกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองคลองแห ได้ฝากแจ้งว่าอยากให้เทศบาลเมืองคอหงส์และเทศบาลนครหาดใหญ่มาช่วย พร้อมกับเครนยกขยะและคนดำเนินการ
“ปลายปีที่แล้วเราไปสำรวจ เทศบาลคอหงส์ และหาดใหญ่ ว่ามีปากท่อระบายน้ำอยู่เท่าไร มีขยะ จากจุดไหนมากที่สุด แต่ถ้าทั้งสองแห่งมารณรงค์เรื่องขยะมากขึ้น ผมคิดว่าปัญหาจะน้อยลง”
จากประเด็นปัญหาการขนขยะจากฝายไปทิ้ง นายดิเรกฤทธิ์ ทวะกาญจน์ ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครหาดใหญ่ ประกาศในวงเสวนาว่า เนื่องจากเป็นส่วนงานที่ตนรับผิดชอบโดยตรงจะสั่งการให้มาเก็บขยะจากฝายนี้ฟรี บนหลักการว่าเมื่อทางเทศบาลเมืองคลองแหตักขึ้นมาใส่บ่อซิเมนต์ คัดแยกขยะ แล้วเหลือเท่าไร เทศบาลนครหาดใหญ่รับจะมาเก็บไปกำจัด ถ้าฝนตกเข้ามาเลยเพราะเป็นที่รับทราบว่าขยะจะมาติดฝายจำนวนมาก แต่ช่วงฝนไม่ตก จะเข้ามาเก็บขยะสัปดาห์ละครั้ง
“ส่วนเรื่องเครนผมรับประสานให้”นายดิเรกฤทธิ์กล่าว และว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ผ่านมา จะแก้กันที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือบ้านเรือนประชาชน เมื่อไรแก้ต้นเหตุได้ ปัญหาจะหมดสิ้น
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจโดยตรงใครทิ้งขยะลงคูระบายน้ำ คลอง จับปรับ 2,000 บาท ถ้าท้องถิ่นใส่ใจ สักนิดก็ไม่ต้องมานั่งแก้ แต่ในความเป็นจริงมาตรการทางกฎหมายไม่อาจใช้ได้ อาจกระทบฐานเสียงหรืออะไรแล้วแต่ หรือผลการเมืองเลยมาแก้ปลายเหตุ”นายดิเรกฤทธิ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบกรองขยะในคลอง นายดิเรกฤทธิ์เล่าว่าเทศบาลนครหาดใหญ่กำลังทำอยู่ แต่ปริมาณขยะที่เกิดในเขตเทศบาลมากมาย การจัดการ ก็มีอุปสรรคบ้าง แต่ไม่ได้นิ่งเฉยดูดาย
“กรณีนครหาดใหญ่สมมติจะสร้างฝายแบบนี้ลงในคลอง จะมีคนที่เห็นด้วย และคัดค้าน วิธีการของผมต้องทดลองทำแบบชั่วคราวก่อน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ ว่าจะทำจุดไหน ผลกระทบอย่างไร ปริมาณขยะเข้ามา ที่ผ่านมาเราทดลอง 3 จุดใช้อวนดักขยะ และเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ผลที่ดำเนินการ 2-3ปี จากจุด 3 จุดระยะ ทาง 10 กิโลเมตร พบว่าไม่เพียงพอต้องเพิ่มจุดเป็น 5-6 จุดซึ่งกำลังหาที่ดังกล่าว”
ถ้าระบบอวนดักขยะสำเร็จ นายดิเรกฤทธิ์บอกว่าเทศบาลนครหาดใหญ่ก็จะตั้งงบดำเนินการต่อ แต่จะให้ใหญ่โตก็ไม่ได้อีกเพราะจะมีปัญหากับภูมิทัศน์ ซึ่งโครงการแต่ละอย่างต้องใช้เวลาต่อสู้กับความคิดของชาวบ้าน และผู้บริหารกว่าจะมีการยอมรับ บางเรื่องนานถึง 3 ปี
“ในหาดใหญ่ มีทั้งฝ้ายค้านและฝ่ายเห็นด้วยในแต่ละเรื่อง แม้จะดูเป็นเทศบาลใหญ่ มีงบมากก็จริง ถ้าทุกคนเห็นเหมือนกันไม่ยาก แต่ปัญหาความเห็นต่างสำคัญ ถ้าทำแล้วไม่ตรงกับใจมวลชนลงสร้างแล้วจะมีปัญหาอื่นๆ นี่เป็นการบอกถึงข้อจำกัด แต่ไม่ได้ปฏิเสธ ยินดีที่จะทำค่อยทยอยทำกันไป แต่ช่วงนี้ทำแบบชั่วคราว ก่อน คือ กรองได้ขยะก้อนใหญ่ ก้อนเล็กยังไหลมาติดที่นี่”
นายดิเรกฤทธิ์ยอมรับว่าเมืองหาดใหญ่เป็นแหล่งก่อขยะรายใหญ่ ส่งลงคลองเตย ลงสู่คลองแห ขยะเกิดจากคนหาดใหญ่ และประชากรแฝง การแก้ปัญหาท้องถิ่นต้องมาร่วมมือกันในภาพรวม
“ตั้งแต่ปี 2547-48 เป็นต้นมา ในที่ประชุมชมรมรักษ์คลองแห เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ส่งตัวแทน เจ้าหน้าที่มาร่วมประชุม รับทราบปัญหามาตลอด และนำเสนอต่อผู้บริหาร ตามขั้นตอนราชการ เมื่อผู้บริหารทราบ ได้คิดหาวิธีการ ว่าจะช่วยคลองแห อย่างไรบ้าง”
นายดิเรกฤทธิ์กล่าวและว่าในความเป็นจริงผู้ปฏิบัติต้องฟังจากผู้บริหาร ในอำเภอหาดใหญ่มีการประชุมผู้นำท้องถิ่นอยู่เป็นประจำ แต่ได้รับความสนใจน้อย คิดว่าถ้าต้องการให้เกิดผลจริง ผู้ใหญ่(ผู้นำท้องถิ่น)คุยกันชัดเจน เพื่อคนทำงานจะได้สะดวก อยากให้หัวจับติดกัน “ผู้ใหญ่ไฟเขียว ฝ่ายประจำย่อมทำงานได้เต็มที่”
นายไพโรจน์ ทองคำ ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองคอหงส์ กล่าวว่าถึงเวลา ที่ทุกส่วน ทุกท้องถิ่นในลุ่มคลองอู่ตะเภา ตั้งแต่ปลายน้ำ ถึงต้นน้ำต้องร่วมมือกัน
“ส่วนคอหงส์พยายามแก้ปัญหา เรื่องน้ำท่วม น้ำเสีย และขยะ
กรณีน้ำเสีย ไม่นานนี้ได้ประสานกับกรมควบคุมมลพิษ มาดูพื้นที่ เพื่อติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนคิดว่าน่าจะได้งบประมาณ สนับสนุนมาประมาณ2-5 จุด เริ่มดำเนินการในปี 2554”
นางมณฑา ไชยงาม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองคอหงส์ กล่าวว่า อีกภาคหนึ่งตนเป็นสมาชิกเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่ต้นน้ำ คือ ตำบลปริก
คอหงส์เป็นโจทย์ ส่วนหนึ่งที่ได้ส่งผลกระทบมายังคลองแห ซึ่งได้นำเสนอให้นายกเทศมตรีเมืองคอหงส์ได้รับทราบ พร้อมกับได้ศึกษาเกี่ยวกับคลองที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ พบว่าน้ำเสียจากคอหงส์ลงไปสู่คลองแห 2 จุดด้วยกัน ส่วนหนึ่งมาจาก บ่อบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไหลลงใกล้ตลาดคลองเรียน อีกส่วนหนึ่งมาจากคลองแม่เรียน ซึ่งต้นน้ำมาจากบ้านในไร่
ขณะนี้เทศบาลนครหาดใหญ่ ทำแก้มลิงดักน้ำดี ไว้และปล่อยมา 5-10% เพราะฉะนั้นน้ำที่ผ่านจาก คลองแม่เรียน 90% จะเป็นน้ำเสีย จากสถานประกอบการ แมนชั่น บ้านพัก หอพัก ทั้งหมดจากชุมชนทุ่งรี
“เทศบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังปรึกษากับกรมควบคุมมลพิษ พยายามติดตั้งจุดดัก บำบัด น้ำเสีย บริเวณนั้นสัก 1 จุดพยายามดำเนินการอยู่ ส่วนขยะ ก็กำลังขอความร่วมมือจาก พี่น้องประชาชน”
นางมณฑา กล่าวว่าที่ผ่านมาเทศบาลเมืองคอหงส์ได้รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน โดยจัดอบรมเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกจิตสำนึกในภาคส่วนของโรงเรียน ส่วนภาคประชาชนจัดกิจกรรมรณรงค์ให้อนุรักษ์แม่น้ำ โดยการปล่อยพันธ์ปลา เมื่อเดือนพฤษภาคม2552 ที่ผ่านมา จำนวนหลายแสนตัว ที่คลอง ร.6 อบรมให้ความรู้กับกลุ่มต่างๆในการทำน้ำหมักชีวภาพ การแปรรูป ขยะอินทรีย์ ประสานงานกับกองช่างสุขาภิบาล ขุดลอกคูน้ำ ซึ่งเป็นคูเปิดมีขยะลงไปมากได้ขุดลอกขยะขึ้นมาเป็นประจำ ได้ขยะวันละหนึ่งคันรถ
“เจตนาจริงๆ ชาวบ้านไม่มีเจตนาทิ้งขยะลงคู แต่มาจากน้ำชะล้างลงคู
ช่วงลอยกระทงจะมีการทำอวน ทำฝายเหมือนหาดใหญ่ มาดักขยะ กรณีชาวบ้านเอาโฟมมาลอยกระทง”
ปัญหาอย่างหนึ่งที่คอหงส์คือพื้นที่ต่อเนื่องที่ยังไม่มีการจัดการขยะ ชาวบ้านนอกเขตจึงนำขยะมาทิ้งที่คอหงส์ เป็นภาระอย่างหนึ่ง ขณะที่ทางเทศบาลเองมีศักยภาพไม่เพียงพออยู่แล้ว ทำให้การบริหารจัดการเป็นปัญหา
นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ ท้องถิ่น จังหวัดสงขลา กล่าวว่าการเข้ามาร่วมตรงนี้เพราะบทบาท หน้าที่ท้องถิ่นจังหวัดมีหน้าที่ สนับสนุน ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นได้ทำหน้าที่ตามบทบาท หน้าที่ที่บัญญัติติเอาไว้
“แต่ก่อนพอพูดเรื่อง สิ่งแวดล้อม สุขภาพชุมชน ราชการมักมองแบบแยกส่วน น้ำก็มีส่วนราชการรับผิดชอบ ขยะก็มีคนรับผิดชอบ แต่ละเรื่องพยายาม แบ่งย่อยซอยรับผิดชอบแต่โอกาสที่มาคำนึงถึงปัญหาเชิงพื้นที่ค่อนข้างน้อย”
นายวิญญ์สะท้อนปัญหาเชิงระบบราชการว่า คนที่ดูแลรับผิดชอบงานหลัก จะรับผิดชอบสรุปเนื้องานที่แต่ละคนรับผิดชอบว่าเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ คาดหวังว่าระบบราชการในภาพรวม จะบูรณาการเอาเองได้และสั่งมาเป็นนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติ ในวิถีชีวิตของคน ตรงนี้ไม่สามารถทำได้
“ในมุมมองผมเห็นว่าถ้าทุกปัญหาเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ผมเชื่อมั่นว่า ถ้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศไทย 8,000 กว่าแห่ง ทำงานได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง ตามข้อกฎหมายกำหนดประเทศไทยทั้งประเทศก็บรรลุ ความอยู่ดีมีสุข”
จังหวัดสงขลามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 141 หน่วยรวมทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด ถ้าทุกแห่งสามารถทำงานของตัวเอง แล้วมีการประสาน ปฏิบัติจับมือกันรอบ ทิศทาง พื้นที่ของจังหวัดสงขลา ในเชิงพื้นที่ปัญหาทุกอย่างถือว่าจบ เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องน้ำนายวิญญ์ว่าถ้าจะแก้เรื่องนี้ มีกรอบ ความคิด กล่าวคือ จะต้องมีข้อมูลที่แท้จริง ว่าปัญหา มีกี่ประเภท แต่ละประเภท มันมีจำนวนเท่าไร ใครบ้างเกี่ยวข้องกับปัญหา
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปรียบเป็นเจ้าบ้าน ปัญหาที่เกิดขึ้น ความเป็นครัวเรือน พ่อบ้าน แม่บ้าน สมาชิกในบ้าน ต้องรับรู้ด้วยกัน และต้องมีข้อมูลว่า มีปัญหาอะไรอยู่ ถ้าเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นตัวตั้ง ในวันนี้ จึงต้องรู้ว่าถ้าพูดเรื่องปัญหาน้ำ มันมีฟาร์มหมูที่อยู่ในพื้นที่ปล่อยลงมาเท่าไร มีโรงงานปล่อยน้ำเสียลงมาเท่าไร มี บ้านเรือน ซึ่งไม่มีบ่อดัก ไขมันเท่าไร ตรงนี้ต้องรู้ให้ชัดเจนก่อน ก็คือขั้นตอนการได้มาซึ่งข้อมูล เพื่อวิเคราะห์แก้ปัญหา แล้วมาดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยใคร”
พอรู้ว่าปัญหาแล้ว จะนำไปสู่ว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแนวนโยบายแห่งรัฐต้องให้ชาวบ้านมีส่วนรับรู้ในการแก้ปัญหา มีส่วนคิดว่าจะทำอะไร แล้วให้ชาวบ้านมาร่วมทำ เขายังเชื่อว่า ผู้บริหาร และ สมาชิกสภา มาด้วยความตั้งอกตั้งใจ ไมได้คิดที่จะทำเอาหน้าเอาตาอย่างเดียว เพียงแต่ไม่มีแรงขับที่แน่นอนว่า ผู้บริหารจะต้องทำอะไรบ้างเป็นวาระ ทำให้ทิศทางสะเปะสะปะ วัดไม่ได้ว่า ระยะเวลาหนึ่ง ขับเคลื่อนไปอย่างไร
“ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พูดกันมาเยอะแล้ว แต่เราพูดในเชิงสายน้ำเป็นหลัก ผมเลยผูกโยง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาจัดหมวดหมู่กันว่าอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ต้นน้ำโซนสะเดา สมควรจะคิดอ่านอย่างไรในเชิงจับมือร่วมกัน นายกในกลุ่มนั้นคุยกันระกับ นายก สมาชิก สภาฯคุยกันระดับสมาชิกสภาฯ ฝ่ายประจำคุยกันระดับฝ่ายประจำ เพื่อที่จะ นำสิ่งที่พูดคุย เพื่อมาสรุปว่ามุมมองอยู่ตรงไหน ปัญหา แก้อย่างไร ผมจะเป็นแกนกลาง ก็ได้มอบหมายให้ เทศบาลตำบลปริกเป็นแกนของกลุ่มในการพูดคุยกันทุกเรื่อง ทั้งปัญหาที่แก้ได้เอง ความต้องการที่สมควรได้รับการเสนอขอ ทั้งในเรื่องการบอกเล่ากล่าวว่าใครจะทำอะไรบ้างขณะเดียวกันโซนกลางน้ำ ซึ่งแบกรับประชากร ความแออัด ความไร้วินัย การยึดโยงความเป็นชุมชน ที่หลากหลาย นครหาดใหญ่เป็นแกนกลาง ปลายน้ำ มอบหมายให้เทศบาลตำบลท่าช้างเป็นแกนกลางให้แต่ละกลุ่ม และละคน พูดคุยกันบ่อยๆ ให้ได้ข้อสรุปเชิงประเด็นว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน คิดว่าจะส่งเสริมใคร ต่อว่าใคร ขอช่วยเหลือ ให้สะท้อนผ่านมาทางผมที่เป็นท้องถิ่นจังหวัด จะเป็นกองกลางที่จะรวบรวมปัญหาเชิงประเด็น สู่กรรมการระดับจังหวัด ที่เกี่ยวข้อง” นายวิญญ์กล่าวและว่า
โดยกระบวนการอย่างนี้ คงไม่สามรถใช้หลักกฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่ใช้หลักการมีส่วนร่วม ภายใต้ความรู้สึกรับผิดชอบเป็นตัวตั้ง
ล่าสุดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา 40แห่งได้มีปฏิญญาว่าด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำคลองอูตะเภา เป็นเอกสารที่ต้องปฏิบัติตามกล่าวคือ
จะร่วมกันผลักดันวาระเร่งด่วนของจังหวัดสงขลาในการ แก้ปัยหา และฟื้นฟูลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาให้มีผลทางปฏบัติ
จะส่งเสริม สนับสนุนภาคประชาชน เครือข่ายชุมชน และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ อปท. ในการบริหารจัดการ และฟื้นฟู อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสวล. ในทุกรูปแบบ จะขยายผลอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
จะดำเนินการฟืนฟู ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในทุกกรณี พร้อมให้มีการตรวจสอบ ประเมินผลการทำงานตามปฏิญญานี้ จากทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง
“ณ วันนี้ คนใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ต้องทำใน 3 แนวทางนี้ขั้นต่ำในเรื่องการกัดไม่ปล่อย กรณีสิ่งแวดล้อม เปิดพื้นที่ ให้ทุกภาคี ที่อยู่ในเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมการคิด พร้อมให้ประเมินจากทุกภาคี ถ้าใครไม่ทำต้องรับผิดชอบต่อการประเมิน ว่ามีความเหมาะสมที่จะมาเป็นผู้แทนในการ แก้ปัญหาให้กับประชาชนหรือไม่”
นายวิญญ์กล่าว และที่สุดมองว่าทำอย่างไรให้เกิดองค์ความรู้ กระแส เกิดระดับชาวบ้านให้ได้ ถ้าเกิดขึ้นได้จะส่งผลถึงคนมาจากการเลือกตั้งที่จะไวต่อการรับรู้และแก้ปัญหา ในที่สุด
นายสมพร สิริโปราณานนท์ รองประธานหอการค้าจังหวัด กล่าวว่าต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญทำให้เกิดน้ำเสีย คณะกรรมการหอการค้าชุดใหม่ จึงได้จัดกรรมการที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม 2 คน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
“เพราะว่ามองว่าการจัดการเรื่องสังคมเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นผู้ดูแล ผมบอกให้น้องๆ ดูแลเรื่องน้ำเสียเป็นหลัก เพราะคลองอู่ตะเภา เป็นเส้นเลือดใหญ่ เหมือนเจ้าพระยา ในกรุงเทพฯ หลายท่านที่เคยเข้าประชุมที่จังหวัด เมื่อดูตัวชี้วัดน้ำเสียที่อู่ตะเภา เราก็ตกใจกันไปตามๆกันว่า ถ้าดื่มน้ำจากคลองอู่ตะเภาติดต่อกันไปนานๆจะเกิดมะเร็ง ผมดีใจที่เห็น ชาวบ้านมีส่วนร่วม พระครูปลัดสมพรผมก็มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนท่านอยู่เรื่อยๆในฐานะบุคคลตัวอย่าง ต่อไปคงมีโอกาสได้เชื่อมโยงกันอีกตลอดเวลา เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก”
มีความเห็นในวงเสวนาจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น
นายอนุชัย ช้างแก้ว ประธานชมรมผู้ประกอบการตลาดน้ำคลองแห ที่บอกว่าชมรมฯ ได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำเสีย โดยทุกเย็นวันพฤหัสบดีสมาชิกของตลาดน้ำ คลองแห จะมาทำความสะอาดตลาดทั้บนบกและในคลอง โดยในคลองมีการตักขยะ ด้วยกระชอน
นายจรูญ จันทร์แก้ว ประธานสภาวัฒนธรรม ตำบลคลองแห เห็นว่าถ้าไม่กอบกู้คลองแหจะถึงวิกฤติแน่ จากน้ำเน่า ข้นดำ เพราะเป็นที่ระบายน้ำมันเครื่อง แต่ถ้าจะให้เคลื่อนทุกฝ่าย ต้องร่วมกันอย่างเต็มที่ เทศบาลเมืองคลองแห อย่างเดียว คงทำอะไรได้เต็มที่ วันนี้ไม่ได้โทษใครแต่ทุกฝ่ายก็ช่วยกัน
“ผู้บริหารแต่ละแห่งต้องมานั่งคุยกันจริงๆ ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งต่างมีข้อจำกัดอยู่ ทั้งต้น กลาง และปลาย น้ำ ส่วนท้องถิ่นต้องพูดให้ส่วนกลางได้ยิน เพื่อเขาได้ส่งเสริมเพราะท้องถิ่นคือตัวเล่นจริงๆ ที่สำคัญท้องถิ่นตัวโตต้องดูน้อง อย่างหาดใหญ่ ต้องมาช่วยคลองแห ทั้งน้ำเสีย ขยะ”
นายชาคริต โภชะเรืองปิดท้ายเสวนาด้วยการมองว่าการขับเคลื่อนในพื้นที่ย่อย อย่างกรณีคลองแหทำให้เห็นข้อจำกัดของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ ผมคิดว่าภาคประชาชนเอง ต้องร่วมมือกับภาควิชาการ ขยับตัวก่อน แล้วเป็นตัวกระตุ้นบวกกับการทำงานภาพรวมเชิงระบบก็จะไปกระตุ้นให้เร็วขึ้น อย่างกรณีคลองแหเริ่มจากวัด สุดท้ายคาดหวังว่าการทำงานระดับนโยบายแต่ละภาคส่วนมาร่วมกัน”
ระดับครัวเรือนนายชาคริตกล่าวว่าตอนนี้ หลายพื้นที่กำลังทดลองทำถ้าสำเร็จจะเกิดศูนย์เรียนรู้ขึ้นมา เป็นประโยชน์ให้กับเครือข่าย พี่ๆน้องๆที่จะไปเรียนรู้อย่างของ สิบโทอุดม (เพ็ชรธนู) แกนนำกลุ่มรักษ์คลองแห จะเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับฝาย จุลินทรีย์แห้ง และสารพัดเรื่อง เป็นองค์ความรู้
เขายังมองว่าเรื่องงบประมาณ และการบูรณาการไม่น่าห่วงเท่ากับการขาดองค์ความรู้ มองว่าวิธีการปฏิบัติส่วนใหญ่ ในการจัดการเชิงงบประมาณจะคิดเชิงโครงการใหญ่ แต่ในแง่ความรู้ ภูมิปัญญา ต้นทุนยังน้อยมาก ควรเสริมเรื่องนี้ขยายผลเป็นรูปแบบสภา สมัชชา ผลักให้เป็นวาระเชิงนโยบาย
“ตรงนี้คิดว่า จะขอความร่วมมือสานพลังหลายส่วน คงทำชุมชนที่พร้อมก่อน อย่างคลองแห การเมืองไม่ได้ช่วยเท่าไร แต่การที่มีวัดเป็นศูนย์กลางได้ วัดก็จะ เป็นตัวส่งผลสะเทือน เชื่อมโยงการเมืองเข้ามา เพราะฉะนั้นถ้าเราอาจคุยได้ว่ากรณีคอหงส์ หาดใหญ่ ตรงไหนขึ้นลูกได้ ถ้าขึ้นไม่ได้กับชุมชนที่มีฐานการเมืองอยู่ก็อาจหาว่าช่องไหนที่เป็นไปได้ ถ้าขึ้นหน่วยระดับพื้นที่ย่อยได้ จะช่วยเสริมกับจังหวัดที่ทำภาพใหญ่ได้”
Relate topics
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ