กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
งานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ประจำปี 2552 ภายใต้แนวคิดฝ่าวิกฤติด้วยธุรกิจคุณธรรม เมื่อ 18 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ในงานดังกล่าวการทำกระบวนการกลุ่มย่อย 12 กลุ่ม ในกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัย ผู้เข้าร่วมมาจากเครือข่ายสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยจังหวัดสงขลา ประมาณ 130 คน
วันนั้นอาจารย์ ภาณุ พิทักษ์เผ่า ผู้นำศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสงขลาเล่าความเป็นมาของสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยจังหวัดสงขลาที่จัดตั้งพร้อมก้าวเดินสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มีตัวตนและเครือข่ายอยู่จริง เป็นแห่งแรกของประเทศไทยบนแนวคิด “ปลูกเพื่อกิน กินสิ่งที่ปลูก ถ้าเหลือขาย”
สภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยจังหวัดสงขลา เชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ เช่นโครงการผักปลอดพิษคนปลอดภัยของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ร้านอาหารครัวเพื่อนสุขภาพ ซึ่งเป็นตลาดกลางของสมาชิกเครือข่ายสภาฯอาหารปลอดภัย ยังเชื่อมโยงกับสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท ที่ผลิตและส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบไร้สารเคมี มีกลไกการทำงานทางด้านผลิต การตลาด ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว เชื่อมกับศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง แหล่งเรียนรู้ และสร้าง เกษตรอินทรีย์วิถีไท ตามหลักพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง
ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหารอำเภอบางกล่ำ เปิดอบรมฟรี เพื่อผลิตเกษตรกรไร้สารพิษ ตัวจริงของจริง ลงมือทำจริง สร้างมาตรฐานของสินค้าไร้สารพิษ มีใบรับรองคุณภาพ ตรวจสอบได้
สภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1.ผู้ผลิตหรือเกษตรกร 2.ผู้บริโภค 3.ผู้ทำ 4.ผู้สนับสนุน การขยับทั้ง 4 ฝ่ายออกไปยังอำเภอต่างๆ ทั่วจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่เกิดเป็นการตลาดที่เป็นธรรม และยั่งยืน เพราะผู้ผลิตมาพบกับผู้ซื้อ โดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง” อาจารย์ภาณุกล่าวกับ 4 ภาคส่วนของสภาฯอาหารปลอดภัย ที่มาพร้อมกันในวันนั้น
เวทีเดียวกัน นายแพทย์รุ่งโรจน์ กั่วพานิช รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ซึ่งกล่าวว่าตนเองเคยทำหน้าที่หมอซ่อม ผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งมามาก จึงอยากมาเป็นหมอที่สร้างสุขภาพมากกว่าขอมองแบบใหม่บนความเชื่อว่าแม่ครัวสำคัญกว่าแพทย์ อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของคน
“แต่ชาวหาดใหญ่ จะซื้ออาหารปลอดภัยได้จากที่ไหน? จากการที่ผมติดตามข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลามา2 ปี พบว่ามีรายงานยาฆ่าแมลงอยู่25% ในผักทุกชนิด สารพิษอย่างอื่นมีบอแรกในหมี่เหลือง ทับทิมกรอบ อัลฟาทอกซินในถั่วป่น” นายแพทย์รุ่งโรจน์ว่า ในหาดใหญ่นักธุรกิจยังมุ่งค้าขายหวังกำไรมากกว่า อาหารส่วนใหญ่จึงยังไม่ปลอดภัย ยาฆ่าแมลงพบมากทุกแห่งไม่เว้นศูนย์การค้า มีการใช้ยาฆ่าแมลงกันอย่างฟุ่มเฟือย
“ อาหารปลอดภัยนั้นหาซื้อยากหรือถ้ามีขายจะมีคนแย่งกันซื้อ จึงอยากจะให้มีอาหารปลอดสารพิษขายในหาดใหญ่ แต่คิดว่าแหล่งผลิตยังน้อยอยู่”
รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่กล่าวว่าเทศบาลได้กระตุ้นให้ชุมชนผลิตผักกินเองในบ้าน สนับสนุนให้คนกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปเรียนที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกลับมาทำ และขยายผล แต่ยอมรับว่าคนในเมืองส่วนใหญ่ยังมองไม่ค่อยมองเห็นเรื่องแบบนี้ ยังเป็นพวกขาดสำนึกทางสุขภาพ จึงตั้งประเด็นว่าทำอย่างไรให้คนหาดใหญ่ไหวตัวทันเรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งคงใช้แนวคิดแบบระเบิดข้างใน คือคนสนใจเองที่จะพึ่งตัวเอง ไม่รอแต่พึ่งทุนนิยมภายนอก
“ผมพร้อมจะหาตลาดและจุดขายรองรับสำหรับอาหารปลอดภัย ซึ่งถ้าผู้ผลิตมีสินค้าก็จะขายได้” นายแพทย์รุ่งโรจน์ประกาศ พร้อมเป็นตัวเชื่อม ในฐานะที่เมืองหาดใหญ่จะเป็นตลาดอาหารปลอดภัยในอนาคต
สุดี ทองตัน หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า สภาฯอาหารปลอดภัย ทำให้ทุกฝ่ายได้มาพบกันจริงๆ ตอนนี้โรงพยาบาลหาดใหญ่ มีผักปลอดภัยไร้สารพิษที่ส่งมาจากเครือข่าย ให้ผู้ป่วยเกือบทุกชนิดไม่ว่า ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า บวบ ถั่วฝักยาว เป็นต้น แต่ยังขาดอีกหลายรายการเช่น หอมใหญ่ เพราะในพื้นที่ยังปลูกไม่ได้
“เราบอกผู้ป่วยได้ว่า อาหารเหล่านี้ปลอดภัย ไร้สารพิษจริงๆ เรายืนยันความปลอดภัย โดยการลงไปดูการทำเกษตรของกลุ่มต่างๆ “สุดีกล่าว
ดวงดาว รัตนะ ผู้ยึดแนวทาง อาชีพไร้พิษ ชีวิตพอเพียง เกษตรกรฟาร์มเห็ดครบวงจร กล่าวว่า ในเห็ดซึ่งคนมองว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าอาหารสูงนั้น ก็มีสารเคมีตกค้าง เพราะคุณสมบัติของเห็ดจะดูดซึมสารเคมีได้มากกว่าพืชอื่น ถ้าเกษตรกรใช้สารเคมีในการปลูก ก็จะมีสารเคมีตกค้างมาก
“แทนที่เราจะกินเห็ดเพื่อต้านมะเร็ง อาจจะกลายเป็นว่ากินเห็ดเพื่อก่อมะเร็งมากกว่า” ดวงดาวกล่าวและว่า การปลูกเห็ดจะดูแลยากมาก อาจจำเป็นต้องใช้สารเคมี ซึ่งตนเองแนะนำให้เกษตรกรใช้สารเคมีอย่างอ่อนได้ เพราะถ้าไม่ใช้เลยเข้าใจว่าเป็นการยากมากสำหรับการปลูกให้ได้ผล
เห็ดที่ปลูกยากมีแนวโน้มใช้สารเคมีมาก อย่างเห็ดหูหนู เห็ดญี่ปุ่นบางชนิด กรณีเห็ดฟาง ในรายที่ปลูกซ้ำหลายครั้งเกษตรกรจะใช้พูราดานมากำจัดปลวก จึงแนะนำว่าให้กินเห็ดที่ปลูกง่ายๆจะปลอดภัยกว่า
“อย่างไรก็ตามดูยากอยู่ดี ว่าอันไหนปลอดภัยนอกจากรู้จักผู้ผลิตโดยตรง หรือไม่ก็ต้องไปเรียนการเพาะเห็ดที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง แล้วนำวิธีการกลับมาเพาะเห็ดกินเอง”
สุขุม นุรักษ์ ตัวแทนจากกลุ่มไหวตัวทัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพในหาดใหญ่ ในฐานะผู้บริโภค กล่าวว่า ความแข็งแรงขอร่างกายไม่ได้มาจากการออกกำลังกายอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องทางจิตใจ ทางกลุ่มจึงมีการเสวนาธรรม และมาสนใจเรื่องอาหาร
“ปกติเราเป็นคนในเมืองผลิตอาหารเองไม่ได้ แต่รู้ว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน แต่เมื่อรู้แล้วไม่รู้ว่าจะไปซื้อมาจากที่ไหน ” นายสุขุมเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าแม่ครัวสำคัญกว่าแพทย์ และเห็นว่าคนเมืองควรหันมาปลูกผักเอาไว้กินเองที่บ้าน
คำนึง นวลมณี เกษตรกรผู้คิดค้นทดลองการตอนกิ่งมะละกอ ตอนกิ่งฟักทอง และปลูกผักลงกระบอกไม้ไผ่ สนับสนุนให้ชาวสงขลาหันมาปลูกผักกินเองกันเยอะๆ ซึ่งเขาเองประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาแล้ว ทุกวันนี้เป็นวิทยากรอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง
ขุนทอง บุณยประวิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร กล่าวว่า ตำบลชะแล้เป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทยที่มีธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งนับเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนทางสุขภาพของชุมชน เกิดมาจากการเห็นภาวะเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ที่มีอัตราสูงขึ้น จากการสำรวจภาวะเจ็บป่วยมาจากสาเหตุสำคัญคือพฤติกรรมการบริโภค และสิ่งแวดล้อม
“เรื่องอื่นอาจทำยาก แต่เรื่องอาหารคิดว่าทำได้เลย เราจึงหันมาทำเรื่องนี้” นายขุนทองกล่าวว่า ชะแล้จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ส่งเสริมการผลิตอาหารไร้สารพิษ สภาฯอาหารปลอดภัยทำให้ การขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้ทุกภาคส่วน สำหรับชุมชนอื่นควรเข้าไปหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง เพื่อหันมาขับเคลื่อนเรื่องแบบนี้บ้าง โดยเน้นปรับท่าที การสร้างความร่วมมือเชิงบวกให้ขยายออกไปโดยไม่ยึดกับอคติเดิมๆ
ณพงศ์ แสงระวี เกษตรกร จากตำบลชะแล้ กล่าวว่า การเคลื่อนของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ สิ่งสำคัญอยู่ที่การลงมือปฏิบัติ ต้องใช้จิตสำนึกทางคุณธรรมในการดำเนินการ โดยทางองค์กรปกครอบส่วนท้องถิ่นจะมีส่วนสำคัญในการเข้ามาสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนต่อไปได้ อย่างที่ตำบลชะแล้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลได้เข้ามาช่วยเหลือ งบประมาณ ซึ่งตำบลชะแลเป็นตำบลคุณธรรม และเกษตรกรก็มีคุณธรรม
โตะอิหม่ามรอหีม สะอุ เกษตรกรและชาวประมง จากอำเภอจะนะ เห็นว่า การที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้นั้น เพราะความไม่พอที่อยู่ในใจ ถ้ารู้จักพอก็จะทำได้เลย ตนเองดำเนินตามแนวทางดังกล่าว ทุกวันนี้ปลูกผักไร้สารพิษ หลายชนิดไม่ว่า มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว โหระพา แตงโม ชีวิตมีความสุข ไม่เป็นหนี้
สานิตย์ รัฐการ จากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่าเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่นทำให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นเขาพิถีพิถันต่อมาตรฐานต่างๆ อย่างไร มองกลับมาที่สภาฯอาหารปลอดภัย ว่าจะสร้างมาตรฐานอย่างไร แต่เชื่อว่ากลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตในสภาฯอาหารปลอดภัยซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆนี้ จะเติบโตขึ้นและเกิดประโยชน์อย่างมากกับสังคม
เจริญ แทนบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเดา) อำเภอสะเดา กล่าวว่า การสร้างคุณธรรมยั่งยืน จะทำอย่างไรให้แนวคิดทั้งหมด ไปสู่สังคมวงกว้าง ทำอย่างไรให้องค์ความรู้นี้เข้าสู่ระบบการศึกษา
“ทำอย่างไรให้เด็กทุกวันนี้ มาสนใจ สำหรับชุมชน ต้องคิดต่อว่าจะขยายไปสู่พวกเขาอย่างไร เราเองต้องมีคุณธรรมในตัว จึงจะมองต่อไปคนอื่นได้ เหมือนการส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่ดีต่อไป”
สมภาค สกุลคง ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า การทำเกษตร เป็นการใช้ชีวิต อย่างการปลูกผักกินเอง นอกจากมีความสุขที่ได้ทำแล้ว เป็นการสร้างสมาธิ เหมือนกับเป็นการเสริมสุขภาพอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นความสุข ได้มีเวลาดูแลตัวเอง ดูแลจิตใจ ไม่ปล่อยให้ออกนอกลู่นอกทาง นำไปสู่ความสุขเย็น สุขสงบ ดังที่มีคำกล่าวว่าความสุขที่เหนือความสงบไม่มี
อาจารย์ภาณุ พิทักษ์เผ่า กล่าวสรุปว่าสภาฯอาหารปลอดภัยคือการทำธุรกิจคุณธรรม สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ เกษตรเป็นหนี้ ยากจน คนเป็นโรค และเสียชีวิตมากจากพฤติกรรมการบริโภค และสิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจอาหารปลอดสารพิษยังเป็นธุรกิจหวังผลกำไร คนจนเข้าไม่ถึง คนรวยไม่มั่นใจ รัฐ/ภาคการเมืองยังไม่มีปฏิบัติการที่เป็นทางออกชัดเจน
“เรื่องอาหารไม่ใช่ผลประโยชน์ แต่เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนเราจะอยู่กับผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้”
การขับเคลื่อนและข้อเสนอจากกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัยเชื่อมโยงกับธุรกิจคุณธรรม จึงมาจากจากสภาฯอาหารปลอดภัยสงขลา 4 ภาคส่วน
1.ผู้ผลิต ต้องมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์
กระบวนการสร้างเกษตรกรที่มีสำนึกคุณธรรม ใช้ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียงสร้างเกษตรกรต้นแบบ ที่ไม่เป็นหนี้ ไม่มีอบายมุข ไม่เป็นทุกข์เพราะสารเคมี ชีวีอยู่เย็นเป็นสุข สนุกกับการช่วยคนอื่น
คุณธรรม ผู้ผลิต เกษตรกรต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะ อดทนในการทำงาน การทำเกษตรนับเป็นการกล่อมเกลาจิตใจ ให้มีความสุขเย็นได้พึ่งตนเอง การไม่ใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีในการผลิต ไม่ทำลายล้างชีวิตสอดคล้องกับหลักทุกศาสนา คุณธรรมที่อยากเห็นเพื่อนมนุษย์ได้กินอาหารปลอดภัย ส่วนแนวคิดว่าธนาคารเมล็ดพันธ์ ที่จะให้มีการแลก แจก นับเป็นคุณธรรมการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
2.ผู้บริโภค มีความเอื้อเฟื้อ ให้ผู้ผลิตจำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม
3.ผู้ประกอบการ เช่นร้านค้า โรงพยาบาล โรงเรียน มีคุณธรรม ความรับผิดชอบสุขภาพของประชาชน อย่างโรงพยาบาลหาดใหญ่มีเจตจำนงแรงกล้า ให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่ปลอดภัยอย่างที่ทำอยู่ เพราะอยากเห็นคนสุขภาพแข็งแรงนับเป็นหลักธรรมกรุณา
4.ผู้สนับสนุนเช่น สำนักงานการเกษตร สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต เช่น การหนุนเสริมกลุ่มเกษตรที่ผลิตอาหารปลอดภัยสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยเป็นทิศทางของสังคมคุณธรรม ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ข้อเสนอเชิงคุณธรรมของกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัย ภายใต้สภาฯอาหารปลอดภัยสงขลา จากเวทีความเห็น ดังกล่าวเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนว่า
ควรมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ สร้างวัฒนธรรมการแบ่งปัน โดยชาวสงขลาสามารถมีส่วนร่วมในการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ผ่านศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและแจกจ่าย ในเรื่องนี้วิชาการควรมาช่วยในการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ผัก
ให้เกษตรกรตัวอย่าง ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นตัวอย่างให้คนในชุมชน
ทำความดีแล้วต้องมีการขยายเครือข่าย
ควรให้มีการนำความรู้เกษตรวิถีธรรมเข้าสู่โรงเรียน เข้าสู่เยาวชน
และอื่นๆส่งเสริมภูมิปัญญา
เมนูอาหารปลอดภัย ที่กระแสสินธุ์
“นักเรียนยังไม่ค่อยมีส่วนร่วมครับ ที่ผ่านมาผมให้คุณครูเขากำหนดเมนู”
บูรณ์ นัคเร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโตนดด้วน อำเภอกระแสสินธุ์ เล่าถึงการจัดทำเมนูอาหารปลอดภัย สำหรับนักเรียน ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี 2551 วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนัก สำหรับผู้ปกครองและนักเรียน ให้เห็นความสำคัญของอาหารปลอดภัย
“ผมกำลังจัดประชุมให้นักเรียนเข้าประชุมและให้เสนอว่าต้องการบริโภคอาหารอะไร ส่วนผู้ปกครองเราอยากถามว่าเคยบริโภคอาหารอะไรในวิถีชีวิตที่ทำให้ ตัวเอง สุขภาพ แข็งแรง มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ” ครูบูรณ์เล่าว่าเด็กชอบกินของอร่อย แต่ครูต้องการเน้น อาหารมีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย ต้องมาหาจุดกึ่งกลางกึ่งกลางของเมนูอาหารที่ ถูกหลัก โภชนาการมีผลดีต่อร่างกาย
ด.ญ.ปทุมวัฒน์ สุญพันธ์ ด.ญ.วารุณี บุญชู และด.ญ. อุบลวรรณ พานิชกรณ์
ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป. 5 ช่วยกันเล่าเสริมผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อกล่าวถึงเมนูอาหารกลางวันที่พวกเขากินอยู่ทุกวัน
“กับข้าวที่ทำบ่อย แต่ก่อน มีแกงจืด พะแนง พะโล้ แกงเทโพ ผลไม้มีกล้วย” เด็กๆ ช่วยกันนึก ที่มาใหม่หลังแนวคิดอาหารเพื่อสุขภาพ มีปลาดุกฟู กับปลาราดพริก แกงจืด ผัด ถั่วงอกกับเลือดหมู ปลาทูต้มสายบัว และเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้อยากให้นักเรียนทุกคน ได้กินอาหารที่ปลอดภัย มีประโยชน์ มีคุณค่า จะได้ รักษาโรคไปในตัว
ครูบูรณ์เล่าว่า ปีการศึกษา 2552 ได้เปลี่ยนเมนูอาหารกลางวันจากของเดิม ที่ปฏิบัติมาอย่างซ้ำซาก และนักเรียนบอกว่าไม่อร่อย
“ต้องเปลี่ยนบ้างแต่เด็กอาจคิดเรื่องอร่อย อย่างเดียว คุณครูมองเรื่องคุณค่า ด้วย ไม่เน้นอร่อย ผมได้ยินคำพูดหนึ่งของคุณสมคิด ศรีสังคม (สมาชิกวุฒิสภา) ซึ่งแกเป็นคนสุขภาพดี อายุยืนว่า กินปลา เป็นหลัก กินผัก เป็นยา กินกล้วยน้ำว้าเป็นอาหารว่าง เดินทางวันละ 3,000 ก้าว แสดงว่าเน้นกินผักกินปลา ผมว่าของโรงเรียนให้มีปลา อย่างน้อยสัก 1 มื้อต่อสัปดาห์”
อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโตนดด้วนยอมรับว่า ยังไม่ได้เมนูกำหนดว่ามีอะไร บ้าง ที่ผ่านมาในแต่ละสัปดาห์ จะมีครูทำรายงานมา ว่าทำอาหารอะไร ใช้งบเท่าไร เขาพิจารณาอนุมัติลงไป ซึ่งใช้ตรงนั้นดูรายการอาหาร ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการหรือเปล่า
“ยังไม่เกิดจากความต้องการนักเรียนเท่าไร กำลังประชุมตัวแทนนักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา กำหนด เมนูอาหารแน่นอน ในแต่ละสัปดาห์ กำหนดได้ 2-3 เดือนเพื่อเวียนเมนูเดิมกลับมาใหม่”
ทางโรงเรียนโตนดด้วน มีแนวความคิดว่าอาหารที่ผลิต ทั้งหมดจะต้องใช้วัสดุในท้องถิ่น แต่ปัญหาผู้ผลิตอาหารปลอดภัยยังส่งให้โรงเรียนได้น้อย เพราะกลุ่มพืช ผัก ที่ปลูกแบบไร้สารพิษ เน้นส่งตลาดภายนอกที่ความต้องการ ยังมาก
“ผมพยายามส่งเสริมให้ผู้ปกครองปลูก เจรจา กับตัวแทนจำหน่ายที่ผลิต อย่างผักปลอดสารพิษที่ผลิตแล้วไปส่งขาย ที่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ ว่าถ้าโรงเรียนซื้อจะให้ราคาสูง กว่าท้องตลาด เพื่อส่งเสริมการปลูก”ครูบูรณ์เล่า
ทุกวันนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบไร้สาร เคมีในพื้นที่กระแสสินธุ์ราว 10กว่าราย ส่งขายโรงเรียนมี 2-3 ราย ผักที่มักนำมาทำกับข้าวให้นักเรียนรับประทานมักเป็นจำพวก ผักกาด บุ้ง แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วงอก มะเขือ
หมดจากฤดูทำนา ชาวนาที่กระแสสินธุ์ส่วนหนึ่ง จะหันมาปลูก ถั่วขียว ข้าวโพด และพืชผักสวนครัว เกษตรกรหลายคนหันมาปรับเป็นพื้นที่สวนปลูกผักอย่างถาวร โดยกลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ มีการตื่นตัวระดับหนึ่งเชื่อมกับเครือข่ายเกษตรกรปลอดสารพิษในโซนคาบสมุทร สทิงพระ
ภรณ์ ดวงจักร ครูผู้สอนวิชาการงานอาชีพ เล่าว่า ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้เด็กปลูกผัก ที่โรงเรียนเพื่อนำมาทำอาหารกลางวันด้วย ผักที่ปลูกบ่อย คือผักบุ้ง ผักกาด และคะน้า ที่ผ่านมาใช้ปุ๋ยคอก และกำลังเตรียมทำปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้เอง
“เราปลูก ครบวงจร รวมทั้งเลี้ยงปลา เด็กปลูกผัก เราซื้อผักเด็ก ทำให้เด็กมีงานทำ มีรายได้ ผมสบายใจ ที่ ผู้อำนวยการขับเคลื่อนเรื่องโครงการ อาหารสุขภาพ ผมสอนเด็ก ให้มีข้าวกิน อยู่สบาย ผมบอกว่า มีดินอยู่ มีรูแทง (มีงานทำ-ฝึกอาชีพให้เด็ก) มีแรงทำ (ส่งเสริมสุขภาพเด็กด้วย) ตามหลักที่ว่า คือ เศรษฐกิจพอเพียง” ครูภรณ์มองว่า กระแสสินธุ์ ป็นแหล่งผลิตอาหารอยู่แล้ว สำหรับอาหารปลอดภัยที่โรงเรียน ผู้อำนวยการและครูที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลอยู่
ครูบูรณ์เล่าต่อว่าการปลูกผักของนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการงานอาชีพ
ที่ผ่านมาทางโรงเรียนกับผู้ปกครอง ช่วยกันซื้อที่ดินเพิ่มมา 3 ไร่ เพื่อใช้ทำการ เกษตร และบ่อปลา แต่การเลี้ยงปลา ยังไม่ค่อยได้ผล แต่ผักได้ผลดีมีการปลูกวนเวียนตลอดภาคการศึกษา ผักที่ได้ส่วนหนึ่งนักเรียนเอากลับไปกินที่บ้านอีกส่วนหนึ่งจำหน่ายให้โรงเรียน
“ผมกำหนดว่าให้ส่งขายสหกรณ์ แล้วให้สหกรณ์ ส่งโรงอาหาร ถ้าสหกรณ์ ซื้อไป 12 บาท ต้องให้ฝ่ายอาหารซื้อ 14 บาท ผมต้องการว่าถ้าชุมชนซื้อ 10 บาท สหกรณ์ ต้องซื้อ 12บาท ส่ง ฝ่ายอาหาร14 บาท ซึ่งฝ่ายโรงอาหารบอกว่าแพงกว่า แต่บอกว่าทำให้ครบวงจร และเมื่อสิ้นปีได้เงิน ปันผล เป็นผลกำไร คืนให้เด็ก เป็นการกระตุ้นให้นักเรียน”
ผู้อำนวยการยังเตรียมจัดทำสปริงเกอร์ หัวฉีดน้ำอัตโนมัติสำหรับรดน้ำผักให้นักเรียนและจัดทำแปลงเกษตรแบบแปลงรวม (คอมมูน) โดยเด็กไม่ต้องรดน้ำ เพียงแต่มาดูแล ปราบ วัชพืช ร่วมกัน เน้นฝึกกระบวนการกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
“ผมไปร่วมทำแผน กับ เทศบาล ตำบลกระแสสินธุ์อยู่ เขาระดมความต้องการว่า ในหมู่บ้าน โรงเรียน วัด กลุ่มต่างๆ มีปัญหา ต้องการทำอะไร ก็เสนอ โครงการเข้าไป โรงเรียนเขียนเข้าไป ด้วย ขอความร่วมมือเทศบาลสนับสนุน อย่าง โครงการการอาหารปลอดภัย เขาก็รับไว้ และโครงการอาหารปลอดสารพิษของชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ชุมชน ได้หันมาสนใจในเรื่อง ตรงนี้”
**ฟื้นนูหรีข้าวใหม่ **
บ้านหนองจูด ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้มีการฟื้นนาร้าง ที่หยุดทำไปกว่า 10 ปี กลับมาปลูกข้าวกันใหม่
การสนทนาในบ่ายวันหนึ่ง ที่มัสยิดหนองจูด ของกลุ่มทำนาราว 15 คน ภายใต้การนำของ หมัดดีน เบ็ญหะหลี ทำให้เห็นว่าการทำนานำภาพชีวิตบางอย่างของพี่น้องมุสลิมฟื้นคืน
บังดีนเล่าว่า แม้ว่าการกลับทำนาอีกครั้งฤดูกาลแรกเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาจะได้ผลผลิตดีเกินคาด แต่อยากเห็นว่าหลังทำนาเสร็จแล้วจะมีประเพณีนูหรี(ทำบุญ)ข้าวใหม่ ซึ่งเป็นประเพณีของแต่เก่าก่อน กลับมาด้วย
“นูหรีข้าวใหม่ คือเอาข้าวใหม่ที่เป็นข้าวเปลือก เขาจะเอาไปให้คนที่ไม่ได้ทำนา อย่างคนที่ได้ข้าวมาก เช่น ได้ 1,000 เลียง จะชักออกมา 100 เลียงส่วนนี้จะเอาไป ให้คนที่ลำบาก คนที่เรียนหนังสือที่ปอเนาะ”
บางคนสีข้าวใหม่ ได้เป็นข้าวสารแล้วให้คนเคารพนับถือ หรือคนข้างบ้าน สักหนึ่งกิโลกรัม
บังดีน เล่าว่า อีกแบบหนึ่ง ชาวบ้านที่ทำนูหรีข้าวใหม่ จะทำเป็นประเพณีส่วนตัว อย่างเสร็จหน้านา เจ้าของที่นาฉลองด้วยการนวด และสีข้าวเอามาหุงเลี้ยง ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ในงานจะเชิญผู้นำทางศาสนา มากิน แล้วสวดขอพร ตามพิธีกรรมทางศาสนา
“ผมอายุ ใกล้ 30 ปีแล้วยังไม่เคยเห็นการทำนูหรีข้าวใหม่ว่าเป็นพันพรื่อ” เด็กหนุ่มคนหนึ่งว่า เขาเกิดทันทำนายุคสุดท้ายก่อนทุ่งนาร้างติดต่อยาวนาน
บ้านหนองจูด มีพื้นที่นาเดิม 200 ไร่ สมัยก่อนคนที่นี่ทำนาไว้กิน ข้าวเปลือกเก็บไว้ในยุ้งรอสีกินจนครบปี ส่วน อาชีพหลัก ทำสวนยาง รับจ้าง ค้าขาย กระทั่งเลี้ยงลิงรับจ้างปีนมะพร้าว ทุกวันนี้ชุมชนเปลี่ยนโฉมหน้าไปบ้าง คนจำนวนหนึ่งออกไปรับจ้างทำงานในโรงงาน
“สภาพเดิมทำนา ทุกคนทำนาเป็น ข้าวที่ทำเดิม ใช้ข้าวพื้นเมือง อย่างข้าวยาไทร
ซึ่งเหมาะกับน้ำลึกใช้ข้าวหนัก ที่ดอนข้าวเบา มีข้าวนางมา ข้าวลาเดน เป็นต้น แต่พันธุ์ข้าวพวกนี้ไม่มีแล้ว หยุดทำนามากว่า 10 ปี ที่ว่างอยู่ก็ปล่อยว่างเปล่า” บังดีน เล่า และว่ามาทำใหม่ในปีแล้ว แม้ดูจะทำกันแบบลวกๆก็ได้ผลดี หญ้าไม่รก ไม่มีศัตรูพืช หนูมีบ้างแต่น้อย
ปี 2551 ชาวนาหนองจูด รวมกลุ่มทำนากัน 12 คน พื้นที่ 36 ไร่ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้เอง ทำให้คนอื่นหันมาทำด้วย
“ก่อนนี้ ทั้งทุ่งไม่มีคนทำ มาเลย พอกลุ่มหันมาทำ คนอื่นก็เลยทำด้วย มาในฤดูปี 52 ขยายพื้นที่ต่อไปอีกถึงบ้านดินลาน”
การทำนารอบใหม่ เปลี่ยนไปจากเดิมจากทำนาดำมาเป็นนาหว่าน เพราะหาดำนาไม่ค่อยได้ แม้แต่คนที่เคยทำได้ก็หลงลืมวิธีดังกล่าวไปหมดแล้ว การกลับมาทำนารอบใหม่ จึงไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้องมากนัก มีแต่ผู้ชาย
“สมัยก่อน มีแต่ผู้หญิง ไม่ว่า ถอนกล้าปักดำ ผู้หญิงทำ ผู้ชายไถกับจวกข้างนา(ขุดเพื่อปรับแต่งริมคันนา) แต่สมัยนี้ ผู้หญิงไม่ต้องทำก็ได้”
กลางเดือนกันยายน 2552 ฤดูทำนาที่หนองจูดกลับมาถึงอีกครั้ง เมล็ดพันธุ์ข้าวถูกหว่านลงผืนนาแล้ว กำลังอวดต้นอ่อนสีเขียว ไปทั่วท้องทุ่งที่กินอาณาเขตกว้างกว่าปีที่แล้ว ยังต้องติดตามว่านูหรีข้าวใหม่ จะกลับมาในปีนี้ได้หรือไม่.
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ