มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นอีกโซนหนึ่งที่ถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคง
คนภายนอกหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่อยากเฉียดกลายถ้าไม่จำเป็น แต่ดวงพร อุทัยสุริ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย เลือกพื้นที่ดังกล่าวเคลื่อนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม
“คนธารคีรีมีน้ำใจ เราได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมากที่สุด ทั้งที่บางหน่วยงานไม่กล้าเข้ามาที่นี่ แต่เรามาไม่หยุดเลยและมาด้วยใจเสมอ”
ดวงพรเล่าระหว่างนั่งรถเดินทางเข้าไปอีกครั้ง บนทางลาดยางสลับถนนดินแดง ต้องผ่านเครื่องกีดขวางกองกำลังเฉพาะกิจหลายจุด แม้ว่าไม่มีเหตุอะไร แต่ทุกฝีก้าวต้องระมัดระวัง ภายใต้ผืนฟ้าใส แนวภูเขาทอดตัวอย่างสงบ และสีเขียวสดแห่งหมู่ไม้ริมทางอาจเกิดบางอย่างที่ไม่คาด
กิจกรรมสร้างสุขภาวะชุมชนคนรักษ์มะโย่ง ความร่วมมือระหว่างสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย สภาวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย สภาวัฒนธรรมตำบลธารคีรี และโรงเรียนบ้านสุโสะ กำหนดจัดขึ้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2552 ที่โรงเรียนสุโสะ
ข่าวกระจายออกไปเงียบๆ ว่ามะโย่งคณะอาเนาะดือลี (แปลเป็นภาษาไทยว่า คณะลูกปลาดุก) จากจังหวัดยะลาจะมาทำการแสดงสาธิต ที่โรงอาหารของโรงเรียนสุโสะของช่วงบ่ายวันนั้น ทำให้บรรยากาศช่วงปิดเทอมกลับมาคึกคัก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างทยอยมาที่โรงเรียน ขณะเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร จากอำเภอสะบ้าย้อย จัดกำลังรักษาความปลอดภัยเข้มงวด
“สมัยก่อนคนที่นี่เล่นมะโย่งเป็น แต่วันนี้เชิญคณะจากอำเภอเมืองยะลา”
ก่อนถึงเวลาที่ทุกคนรอคอยเราได้สนทนากับ วาฮับ มาเหิงตะ กำนันตำบลธารคีรี เขาเล่าว่า มะโย่งเป็นการแสดงคล้ายโนราของชาวปักษ์ใต้ มักจะจัดแสดงในงานแต่งงาน แต่กั้นวิกเรียกเก็บค่าผ่านประตูด้วย ใครมาร่วมพิธีแต่งงาน แล้วอยากชมมะโย่งเป็นขวัญตาต้องจ่ายเงิน
คณะมะโย่งที่ดังที่สุดสมัยก่อนอยู่ที่อำเภอรามัญชื่อคณะ เจ๊ะโวงิง กับเจ๊ะนาวา สองพี่น้อง ซึ่งคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างรู้จักกันดี
“หายไปราว 30 ปี ช่วงหลังเด็กรุ่นใหม่ไปเรียนศาสนาก็มองว่า การแสดงนี้อาจขัดกับหลักทางศาสนา ความจริงแล้วอยู่ที่ตัวเราอย่างเช่นเรานั่งกับไทยพุทธ เขาสั่งหมูมากินเรานั่งอยู่ด้วยก็ไม่เป็นไร” กำนันเล่า ถ้าพูดถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน มะโย่งยังมีการสืบทอดอยู่ แต่เขาคิดว่าการแสดงที่คนนิยมมากที่สุดขณะนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือดิเกร์ฮูลู
มะโย่ง ยังมีส่วนคล้ายโนราโรงครู เพราะคนบางคนเล่นได้เองเหมือนกับมีอยู่ในสายเลือด สืบทอดมาทางบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องฝึกหัด
“มะโย่งน่าจะส่งเสริมสังคม การแสดงเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาขัดหลักศาสนา เพราะถ้าเราปฏิบัติดี ตามหลักสำคัญ อย่างว่าการละหมาด อย่าให้ขาดถือเรื่องนี้ ก็ดี สบายใจแล้ว” กำนันเล่าและแถมตำนานบ้านสุโสะให้ฟังเสียอีกเรื่องเล่ากันมาว่าชายหนุ่มจากมาเลเซียเดินทางมาหาสาวถิ่นนี้ เมื่อไปเจอผู้หญิง ต่างฝ่ายดูกันว่าเหมาะสมก็เอ่ยคำว่าสุโสะ ซึ่งคำนี้แปลว่า เหมาะสม ถูกต้อง
สุระกำพล รักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุโสะ เดินทางมาถึงปลายช่วงอาหารกลางวันที่จัดเลี้ยงชาวคณะมะโย่ง และผู้มาร่วมงานทุกคน
“ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เมื่อคืนผมยังออกมาเผารังต่อ” หลังมื้อเที่ยง วงคุยเปลี่ยนไปนั่งในห้องประชุมติดแอร์ของโรงเรียน ผู้อำนวยการขยายความเรื่องเผารังต่อว่า เพราะครูคนหนึ่งต้องการปรับที่สร้างบ้าน บังเอิญตัวต่อทำรังขวางอยู่จึงต้องจัดการ เขาอยากสื่อว่าทั่วตำบลธารคีรีปลอดภัย แม้ยามค่ำคืน
“แต่ก่อนที่นี่มี คณะสีละและ ดิเกร์ฮูลู ที่มีชื่อเสียง ตอนนี้ได้พี่ดวงพรมาจุดประกายทางวัฒนธรรม” สุระกำพลเล่า เขามีเป้าหมายว่าต่อไปในอนาคต ถ้ากล่าวถึงสุโสะจะทำให้ผู้คนนึกถึงมะโย่ง
“อยากเดินให้ถึงจุดนั้นผมอาจไม่รู้เรื่องแบบนี้มากนัก แต่ว่าครูที่นี่ ล้วนแต่เป็นคนพื้นที่เติบโตอยู่ที่นี่มาเป็นครูที่นี่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ”
การดำเนินการส่งเสริมฟื้นฟูมะโย่ง สุระกำพลเล่าว่าจะจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นในโรงเรียนสุโสะ กิจกรรมแรกในวันนี้จะเป็นการเบิกโรงมะโย่งเพื่อสาธิต ลำดับถัดไปวิทยากรจะมาฝึกสอนให้กับครูและเด็กรุ่นแรก คาดว่าครูและเด็กกลุ่มนี้ ภายใต้การปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับนักแสดงมะโย่งตัวจริง จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรสืบทอดต่อไปได้
“ตอนนี้เลือกเด็กเข้าฝึก 20 คนครบแล้วคละกันทุกชั้นเรียน ทีมงานครู ราว 4-5 คนรับผิดชอบ ผมจะคอยดูเป็นที่ปรึกษา”
อาซิส วานีสะ ครูโรงเรียนบ้านสุโสะ ถูกวางตัวให้เป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะเรื่องนี้ โดยเฉพาะ
ผู้อำนวยการโรงเรียนสุโสะเล่าว่าเขาเองไม่เคยเห็นมะโย่งมาก่อน มักได้ยินสำนวนที่มักพูดกับเด็กร้ายๆ “เต้นเหมือนมะโย่ง” แต่พอประกาศทำเรื่องนี้ ชุมชนตอบรับอย่างดี
แม้หลายคนมองว่าพื้นที่ไม่ปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนจัดแสดงดิเกร์ฮูลู ในกิจกรรมลูกเสือตอนกลางคืนมาแล้ว หลังจากนั้นชาวบ้านเรียกร้องให้จัดใหม่ ซึ่งกำนันได้จัดงานที่ใหญ่กว่าเดิม ไม่มีเหตุไม่ดีเกิดขึ้น และชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก
“ปัญหาสามจังหวัดกรณีหนึ่งที่มองกันก็คือปัญหาทางศาสนา แต่เราต้องแยกให้ออกว่า ศาสนา ความเชื่อกับวัฒนธรรม มันคนละเรื่องกัน แต่ไปด้วยกัน ศาสนาอาจถูกเบี่ยงเบน แต่วัฒนธรรมไม่เบี่ยงเบน ศาสนาอาจชี้นำคนได้ แต่วัฒนธรรมไม่ใช่ตัวชี้นำอะไรเลย เป็นการแสดงออกมาจากพื้นฐานของจิตใจ”
เขามีแนวคิดคิดต่อไปอีกว่าจะจัดให้มีลานวัฒนธรรมที่ธารคีรี เพื่อว่าเวลาเย็นคนเฒ่าคนแก่มานั่งคุยกัน มีปัญหามาปรึกษาพูดคุย เปลี่ยนจากนั่งร้านน้ำชาเดิม มานั่งลานวัฒนธรรม ข้างๆ มีลานมีที่สำหรับออกกำลังกาย และแนวคิดทำห้องสมุดจากห้องเย็นเก่า วางไว้ใต้ต้นไม้ ซึ่งถ้ามีลานแบบนี้จะลดความไม่เข้าใจต่างๆลงไปได้ระดับหนึ่ง เพราะปัญหาพื้นฐานขณะนี้ที่เป็นอยู่คือความไม่เข้าใจ ความหวาดระแวงต่อกัน ต่างจากอดีตที่ทุกคนใกล้ชิดกัน
“สิ่งอื่นที่น่าจะทำไปด้วย คือการสืบหาประวัติหมู่บ้านจะทำให้เรามีความผูกพันกับบ้านเรา อีกอย่างผมยอมรับว่าระบบการศึกษาที่ผ่านมามีส่วนทำลายวัฒนธรรม ครูที่ไม่เข้าใจตรงนี้ จะทำลายอย่างไม่รู้ตัว”
เวลาบ่ายโมงเศษ…
ทุกคนรวมตัวที่โรงอาหาร ปรับเป็นวิกขนาดย่อม เก้าอี้ยาวสำหรับนั่งชมวางเป็นแถว ด้านหน้าเวทีพื้นไม้กระดาน ยกสูงระดับเอว มุมด้านขวา เหล่าลูกคู่ประจำคณะมะโย่งวัยชรานั่งบรรเลงบนเสื่อ พวกเขากำลังโหมโรงด้วเสียงกระหน่ำกลอง 2 ลูก จังหวะหนักหน่วงสะท้อนถึงอก บนพื้นเสียง ปี่ ซอ ฆ้อง โหม่ง เพลงที่ให้ความรู้สึกนำสู่ดินแดนแห่งปลายด้ามขวาน และอดจะตื่นเต้นไม่ได้
นักแสดงเข้าร่วมพิธีกรรมเปิดโรง ก่อนทำการแสดง ขณะผู้ชมเริ่มทยอยมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนร่วมร้อย จนล้นออกไปยืนชะโงกมาจากภายนอกโรงอาหาร เด็กๆมองความเคลื่อนไหวบนเวที อย่างไม่วางตา บางคนรู้ว่าถูกเลือกให้เป็นหนึ่งผู้สืบทอดมะโย่ง
ตัวแสดงชายคนหนึ่งกระโดดจากเวทีลงมาหยอกล้อกับเด็กๆ เรียกรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนจะถึงการร่ายรำด้วยท่ารำต่างๆ และขับกลอนเสน่ห์อย่างหนึ่งคือตัวตลก ที่ทำให้หัวเราะงอหงายหลายตลบ
ภาษามลายูเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการแสดง สามารถตรึงผู้ชมชาวธารคีรีนั่งดูตั้งแต่ต้นจนจบอย่างเข้าใจทุกกระบวนความ โชคดีที่เราได้นั่งใกล้กับดิง บารา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ธารคีรี เขาทำหน้าที่ไกด์ แปลบางตอน และเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ตั้งแต่เรื่องที่นำมาแสดงในวันนั้นซึ่งชื่อว่า “ยอมูดอ”
“ผมก็เพิ่งได้เห็นเหมือนกัน เคยดูมะโย่งตอนอยู่ชั้นประถม นับจากวันนั้นพบว่า การแสดงมะโย่งหายไปนานนับ 30 ปี ในฐานะ นายก อบต. ผมจะอนุรักษ์ ประเพณี วัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่ตลอดไป และพร้อมสนับสนุน เพราะเป็นของดั้งเดิม มาตั้งแต่รุ่นปูย่าตายาย”
ดิงเล่าว่ามะโย่งมักแสดงเป็นเรื่อง ซึ่งเป็นการเล่าตำนาน ถ้าเล่นเต็มวง ครบรูปแบบ จะใช้เวลาแสดง 4-5 ชั่วโมง การแสดงจะมีทั้งการร่ายรำ ว่าบทกลอนสัมผัส และร้องเพลง ส่วนมากผู้ชมสนใจเนื้อเรื่องและตัวตลก การแสดงที่เห็นวันนั้นดิงบอกว่าได้มีการดัดแปลงไปมากกว่าอดีตที่เขาเคยเห็น อย่างเครื่องดนตรีที่เพิ่มมากชิ้นขึ้น ชุดแสดงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง
“วิถีอย่างหนึ่งของมะโย่งจะคล้ายกับโนราโรงครูของไทยพุทธ เขาจะมีคณะแสดง และทราบว่ามีคนรับไปแสดงอยู่เรื่อย ๆ มักแสดงกันเวลากลางคืน อีกอย่างจะแสดงในงานเลี้ยง หลังแสดงเสร็จ จะมีการมีการฆ่าวัวมาเลี้ยงกินกัน”
ดวงพร อุทัยสุริ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย มองว่าวัฒนธรรมจะเป็นตัวหลอมคนเข้ามาหากัน
“ตอนนี้กำลังจะมีศูนย์เรียนรู้ ประจำตำบล ของ อบต.ทางสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อยก็จะส่งเสริมงบประมาณสายใยชุมชนมาให้ด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งกำลังเห็นการบูรณาการของหน่วยงาน ไม่ว่ากำนัน ผู้อำนวยการโรงเรียนสุโสะ กิจกรรมที่จัดขึ้นสืบสานต่อ ไม่ใช่จบแค่นี้ เราจะผลักดันให้เกิดคณะมะโย่งที่ ธารคีรี หรือสุโสะให้ได้ เราเลยใส่ในหลักสูตรท้องถิ่น เราจัดงบประมาณต่อจนสำเร็จ ค่อนข้างมั่นใจ” ดวงพรมองว่าการดำเนินการ ต้องช่วยกันทุกส่วนจึงจะสำเร็จ รวมทั้งชาวบ้าน
นอกจากการฟื้นวัฒนธรรมมะโย่ง เธอและทีมงานกำลังเก็บข้อมูลพื้นฐานทางวัฒนธรรม เช่นประวัติ ภูมิหลัง หมู่บ้าน ทำงานร่วมกับครู
“พื้นที่ตึงเครียดแต่วัฒนธรรม กำลังตื่นตัว วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า นำไปสู่การสมานฉันท์ อย่างปีนี้เราจัดงานชักพระพี่น้องมุสลิม มายืนดูเป็นแถว ถึงแม้ว่าเข้าร่วมไม่ได้ นึกทึ่งว่าในสถานการณ์แบบนี้คนไม่กล้าออก แต่พอเป็นมิติทางวัฒนธรรม ประเพณี พี่น้องเราสนใจ ต่อไปก็จะจัดงานให้สอดคล้องกับทุกศาสนา ทุกคนมีส่วนเข้าร่วมได้แม้ว่าไม่โดยตรง อย่างชักพระ อาจชวน กลุ่มแม่บ้านมาออกงาน ขายสินค้าของดีประจำตำบล”
ดวงพรเห็นว่าคนทั่วไปหากได้ยินถึงพื้นที่แห่งนี้ก็กลัว ไม่กล้ามา เพราะไม่รู้ข้อมูลจริง ความจริงไม่มีอะไร กำลังเกิดการพัฒนาหลายอย่างในพื้นที่ อย่างเช่นที่กำนัน หันมาช่วยชุมชนโดยการพาชาวบ้านทำนาร้างอย่างเอิกเริกหลังจากเลิกทำกันมานาน
“หลังงานวันนี้จะมีการฝึกสอนอย่างจริงจัง ผู้สอนคือผู้ที่มาแสดงเป็นตัวมะโย่ง เขารับปากแล้วว่าจะนั่งรถจากยะลามาสอนให้ วันนี้มีการถ่ายวิดีโอการแสดงเอาไว้ด้วย น่าจะเอามาเป็นแบบอีกทาง”
นักแสดงหลักบนเวทีวันนั้นทั้งชายหญิง 5 คน ล้วนวัยชรา ยกเว้นผู้แสดงเป็นตัวมะโย่งดูยังอ่อนวัย จังหวะคนสนใจมากที่สุดอยู่ที่การแสดงตามเนื้อเรื่อง มีตัวตลกออกมาปล่อยมุกฮาภาษามลายู ด้วยท่าทาง คำพูด และอาวุธมีด ขวาน ไม้หวาย ประกอบการแสดง
ปิดม่านการแสดงในวันนั้นหัวหน้าคณะ หนึ่งในตัวละครพูดภาษาไทยสั้นๆ แทรกอยู่ในภาษามลายูจับความได้ว่าวันนี้เป็นการแสดงเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม หลังจากนั้นนักแสดงส่งท้ายผู้ชมด้วยการผลัดกันร้องเพลงภาษามลายู ขณะชาวคณะช่วยกันเก็บของบนเวที ทุกคนทยอยกลับบ้าน หัวหน้าคณะนั่งทำพิธีกรรมปิดโรงด้วยหมากพลู อยู่ข้างบริเวณจัดการแสดง เราได้โอกาสสนทนาสั้นๆ เขาบอกเพียงว่ามาจากยะลา เล่นมุกด้วยการพูดชื่อสถานที่บ้านเขาแบบภาษามลายู
ธวัชชัย สุขเอียดปลัดอำเภอผู้ประสานงานประจำตำบลธารคีรี และปลัดอำเภองานป้องกัน กล่าวว่าเหตุการณ์ สามจังหวัดทำให้ชาวบ้านหวาดระแวง วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ ลดความหวาดระแวง ระหว่างไทย พุทธ - มุสลิม
“สมัยก่อนมีงานอะไรก็แล้วแต่ ไทยพุทธ มุสลิมจะช่วยเหลือกัน พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาทำให้เกิดความหวาดระแวง ความเป็นเพื่อน ได้ ห่าง เหิน หาย การฟื้นวัฒนธรรมตรงนี้ขึ้นมาจะทำให้ประสานได้ดี วัฒนธรรมไม่ได้ให้โทษใคร ไม่ได้มีพิษภัย อยู่ในวิถีชีวิต ถ้ามองคนเฒ่าคนแก่ ในอดีตจะเป็นเพื่อนกันหมด เพราะวิถีเชิงวัฒนธรรม นั่งกินนำชา กันทุกวัน” ปลัดอำเภอสะบ้าย้อยกล่าว
หมาโย่ง - มะโย่ง
เอกสารของสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งอ้างอิงมาจาก นูรียัน สาและ ,สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า มะโย่งหรือหมาโย่ง เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิม ที่มีลีลาการแสดงคล้ายคลึงกับโนรามาก ใช้แสดงเพื่อความบันเทิง และใช้บน หรือสะเดาะเคราะห์
ความเป็นมาคาดว่าได้รับการถ่ายทอดวิธีการแสดงจากแหล่งเดียวกันกับละครรำของไทย ที่รัฐเกเรลา ทางตอนใต้ของอินเดีย มีการแสดงละครเร่อยู่แบบหนึ่ง เรียกว่า ยาตรี หรือชาตรี เชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของโนรา และมะโย่ง มีข้อสันนิษฐานว่า มะโย่งเป็นการละเล่นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมบูชาธรรมชาติ เป็นการบูชาแม่โพสพหรือบูชาขวัญข้าว บางกระแสว่ามีกำเนิดมาจากลัทธิคามเชื่อในภูตผีวิญญาณ และแนวทางการรักษาโรคด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ เพราะพบว่ามีการว่างจ้างคณะมะโย่งไปแสดงเพื่อการรักษาโรคที่บ้านผู้ป่วย (คล้ายโนราโรงครู –ผู้เขียน) คำบอกเล่าของคณะมะโย่งในปัจจุบันมิอาจระบุแหล่งกำเนิดของมะโย่ง แต่นักวิชาการของมาเลเซียสันนิษฐานว่าน่าจะมีกำเนิดมาจากอาณาจักรปัตตานีในอดีต เพราะมะโย่งใช้ภาษามลายูสำเนียงถิ่นปัตตานีมาแสดง
การแสดงมักจัดในโอกาสประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ เช่นงานพิธีกรรมบูชาขวัญข้าว งานแก้บนสะเดาะเคราะห์ และงานประเพณี เทศกาลเฉลิมฉลอง
การแสดงจะสร้างโรงขึ้นง่ายๆ เรียกว่า “บังซัล” หรือ “ปังงง” ปัจจุบันมักยกพื้นสูงมากกว่าเดิมเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นทั่วถึง เป็นโรงละครเปิดกลางแจ้ง
ก่อนเปิดการแสดงต้องเริ่มด้วยพิธีกรรมการเปิดโรงเรียกว่า บูกา ปังงง เมื่อสิ้นสุดการแสดงทุกครั้ง จะต้องทำพิธีกรรมเปิดโรง
เครื่องดนตรี โดยทั่วไปประกอบด้วย รือบับ หรือซอสามสาย ฆง หรือฆ้องขนาดใหญ่ 1 คู่ กึนตังมลายู หรือ กลองมลายู 1 คู่ ตือแระ แตระหรือกรับ 2 คู่
ตัวละคร
เนื่องจากมะโย่งแสดงเป็นเรื่องจึงมีตัวละครประกอบด้วย
- ปะโย่ง ตัวละครฝ่ายชาย เป็นราชาผู้ครองนคร เป็นตัวชูโรง
- ปะโย่งมูดา พระเอกของเรื่องเป็นโอรสของปะโย่ง
- มะโย่ง ตัวละครฝ่ายหญิงรับบทเป็นพระมเหสีของพระราชา
- ปูตรีมะโย่ง นางเอกของเรื่องรับบทเป็นเจ้าหญิง พระธิดา
- พราน ตัวตลกของเรื่อง นอกจากเป็นพี่เลี้ยงพระราชา บางคำให้คำปรึกษาพระราชาด้วย
- ดายัง ดายัง เป็นตัวประกอบฝ่ายหญิง เป็นางข้าหลวง เป็นนางรำและนักร้องประสานเสียง ให้คณะดนตรีประกอบการแสดง
เครื่องแต่งกาย
ตัวปะโย่ง และปะโย่งมูดา จะนุ่งกางเกงทรงหลวม สวมเสื้อแขนสั้น เสื้อรัดรูป ไม่มีปก มีผ้าผืนยาวขนาดผ้าขาวม้าสวมทับเสื้อ และกางเกงอีกชั้นหนึ่ง สวมมงกุฎ ถือมีดหวายเป็นอาวุธเพื่อการทำโทษมิใช่เพื่อการต่อสู้ มีดหวายใช้ฟาดตัวตลกในเชิงหยอกล้อมากกว่าจริงจัง
มะโย่งและปูตรีมะโย่ง สวมเสื้อตามแบบอย่างของสตรีมลายู คือสวมเสื้อกือบายา นุ่งผ้าถุงที่เรียกว่าผ้าซงกิต สวมเครื่องประดับสตรีครบชุด ทรงผมเกล้ามวย มีผ้าสไบคาดบ่า
นักแสดงประกอบฝ่ายหญิง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามแบบอย่างสตรีมลายูทั่วไป เช่นเดียวกับตัวตลกหรือตัวพราน นุ่งกางเกง หรือโสร่ง มีผ้าคาดเอว เหน็บมีดคลกที่เอว สมัยก่อนสวมหน้ากาก แต่ปัจจุบันไม่นิยม
นิทานที่ใช้แสดง
ต้นตำรับเดิมใช้เรื่อง ราฌามูดา ต่อมามีเรื่องเอนๆ ที่นิยมมากคือเรื่อง ฆนดังอึมมัส หรือสังข์ทอง ปูตรีตี มุนมูดา หรือเจ้าหญิงแตงอ่อน เมื่อมะโย่งมากลายเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ก็ยังคงนิทานแบบจักรๆวงศ์ๆ แบบเดิม บางเรื่องใช้เวลาแสดง 3 วัน 3คืนติดต่อกันกว่าจะจบเรื่อง
หลายปีมานี้ การละเล่นมะโย่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเล่นที่ขัดกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม ทำให้นักวิชาการและนักวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซียต้องจัดการสัมมนาทางวิชาการเพื่อหาข้อพิสูจน์เรื่องนี้ คำกล่าวหาลักษณะนี้เกิดขึ้บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแต่ไม่รุนแรงเท่ากับในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แต่มีผลทำให้ชาวบ้านไม่กล้าจัดงานแสดงหรืองานการละเล่นภายในหมู่บ้านหรืออำเภอ การแสดงมะโย่งทุกวันนี้จึงไม่มีการป่าวประกาศให้ทราบว่าจะมีการจัดแสดง อยู่ในสภาพหลบๆซ่อนๆ และที่แสดงอย่างเปิดเผยจะเป็นรูปแบบการแสดงสาธิตให้ชม
ปัญหาการสื่อสารด้วยภาษามลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งคล้ายกับภาษาถิ่นกลันตัน ทำให้ผุ้ชมถูกจำกัดวงแคบ ขาดการอุปถัมภ์จากสังคมใหญ่ คณะนักแสดงจึงไม่เห็นความสำคัญ ที่จะถ่ายทอดการเล่นมะโย่งสู่รุ่นลูกหลาน.
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ