สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
บทบาทสื่อในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาทำให้ชัยวุฒิ เกิดชื่น มาเป็นผู้นำสมัชชาออนแอร์ซึ่งเขาเล่าว่าเกิดจากแนวคิดของ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการ สจรส. มอ.
“อาจารย์เห็นว่าเมื่อเราจัดเวทีต่างๆ มีข้อมูลเยอะแยะแต่คำพูดหล่นหายไปเรื่อย ทำอย่างไรจะเก็บข้อมูลตรงนี้ได้ ผมเสนอเอาเวทีขึ้นไปอยู่ในอากาศ หลังจากชวนประเด็นต่างๆในแผนสุขภาพมานั่งคุย โดยเราขอเป็นตัวร้อยด้านสื่อปรากฏว่าทุกคนเห็นด้วย”
จากแนวคิดกลายมาเป็นรายการวิทยุสมัชชาออนแอร์หรือเวทีเรียนรู้สมัชชาสุขภาพทางอากาศภาคใต้ ชวนผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆของแผนสุขภาพจังหวัด มานั่งคุยออกอากาศสด ทางสถานีวิทยุ FM 88.0 M มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 - 12.00 น. “สมัชชาออนแอร์คือการเอาเวทีออกอากาศความหมายง่ายๆ อย่างนั้นแต่ทำอย่างไรให้เกิดการร่วมคิดในหลายฝ่ายต่อโจทย์นั้นๆ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเห็น ร่วมเป็น โดยความคิดหลายคนไม่ใช่จากคนนำ”
สมัชชาออนแอร์ยังต้องการเห็นทางออกในแต่ละเรื่อง ถ้ายังหาทางออกไม่ได้ อย่างน้อยต้องรู้ว่าเพราะอะไร “หาทางออกไม่ได้ อาจเพราะคิดอยู่ในวงจำกัดหรือเปล่า? ถ้าเรามีความรู้ไม่พอ ควรจะหาคนช่วยคิด เช่น นักวิชาการ เพราะฉะนั้นคนทำเวทีออกอากาศ ต้องหาคนร่วมด้วยช่วยคิด สรุปผลทั้งหมดก็คือการเรียนรู้”
เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิด 2 วงอย่างชัดเจน ส่วนแรกวงเวทีที่กำลังพูดคุยกันอยู่จริง กับวงที่บ้านหมายถึงผู้ฟังรายการวิทยุ
“การที่เราขยับสมัชชาออนแอร์จาก FM 101.0 MHz ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนไปยังวิทยุ หลัก FM 88.0 MHz เพราะการได้ใช้สื่อที่กว้างขึ้น ทำให้เราทำแต่ละเรื่องแบบใช้เวลาสั้นลงและได้ผลมาก เท่ากับได้ทำสื่อแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนทั้งคนมาออกเวที คนฟัง คนเดินรายการ ทั้งหมดล้วนขยับไปเปลี่ยนแปลงสิ่งอื่นต่อไปอีก ”
ในรายการสมัชชาออนแอร์ ชัยวุฒิรับเดินรายการประเด็นเด็กและเยาวชน ด้วยงานด้านเด็กและเยาวชนเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เขาและสุวรรณี เกิดชื่น คู่ชีวิต ทุ่มหัวใจขับเคลื่อนให้กับสังคมมายาวนาน ส่วนประเด็นอื่นมี บัญชร วิเชียรศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ บางครั้งผู้นำในประเด็นต่าง ๆของแผนสุขภาพจังหวัด จะมาดำเนินการ แต่ถือว่ายังน้อยจนต้องเรียกร้องให้เกิดส่วนนั้นเพิ่มขึ้น
“สมัชชาเป็นเครื่องมือที่ใช้ร้อย คน งาน ความคิด ไม่ใช่พื้นที่สร้างกิจกรรมอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ทางความคิด ขยายไปสู่กิจกรรม และนโยบาย” ชัยวุฒิเล่า และการต้องหาทางออกให้ได้สำหรับเรื่องราวต่างๆ ที่หยิบยกมา นับว่าเป็นโจทย์ไม่ง่ายสำหรับเวลา 2 ชั่วโมงในการออนแอร์แต่ละครั้ง
“การเข้าบ้านเราต้องอาศัยประตูแต่ไม่ได้มีประตูเดียว อยู่ที่คนเดินเวทีต้องหาประตูให้เจอ”
จนถึงขณะนี้สมัชชาออนแอร์ ดำเนินการมาปีเศษ ชัยวุฒิพบว่ายิ่งทำวงยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆจนตัวเขาเองถูกชักชวนไปทำสมัชชาตำบล และจังหวัด สำหรับประเด็นเด็กและเยาวชนที่เขาเกี่ยวข้องโดยตรงสามารถก้าวถึงนโยบายท้องถิ่น
ชัยวุฒิลงไปมีส่วนผลักดัน Thailand Knowledge Park (TKpark) ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งล้อกับศูนย์ใหญ่ของ TKpark ในกรุงเทพฯ
“เกิดจากผมถามว่าสถานการณ์เด็กมีอะไรบ้าง เขาจะบอกมาว่าเด็กท้องก่อนวัย เด็กมีปัญหายาเสพติด เราถามในวงว่าอะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้น ใครเป็นคนที่ร่วมอยู่ในปัญหานี้ เขาบอกว่าพ่อแม่ โรงเรียน กระทั่งเทศบาลควรจะมารับรู้ บางเรื่องเขาคิดไม่ถึงเราต้องเติมให้เขาฟัง เราถามว่าควรมีนักวิชาการมาช่วยคิดไหม พอบอกว่าเอาวงก็ใหญ่ออกนี่คือการหาพื้นที่ร่วม” การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ได้รับการตอบรับ จาก พฤกษ์ พัฒโน รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เห็นว่าน่าจะใช้ TKpark เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ เกิดปรากฏการณ์นักวิชาการและภาคเอกชน และประชาชนเจ้าของพื้นที่เข้ามาร่วมกันคิด
“กลุ่มบีบอยในหาดใหญ่แต่ไม่มีพื้นที่สอนการเต้นฮิปฮอพ สังคมทั่วไปก็ไม่เรียนรู้ คิดว่าบีบอยจะนำให้เด็กเสียหรือเปล่า แต่พวกเขาสอนเด็กได้เป็นร้อยคน ลูกคนรวยในเมืองหาดใหญ่มาเรียนทั้งนั้น หลายคนเต้นจนติดระดับประเทศ เรียนรู้ฟรีแล้วไปเต้นโชว์หาเงินให้คนอื่นได้”
ชัยวุฒิมองว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งถ้าไม่เอาเวทีสมัชชาไปเรียนรู้ จะไม่มีทางรู้เลยว่าจะขยายพื้นที่ขนาดไหน งานแต่ละอย่างมีความจำเป็นกับเมืองอย่างไร เขาสามารถใช้สมัชชาดึงเทศบาลนครหาดใหญ่ ชักชวนพ่อแม่เด็กที่เป็นเอกชนรวยๆมาเป็นพี่เลี้ยง ทำให้บีบอยแตกตัวไปสอนเพื่อนในนามกลุ่มโฟกัสซิตี้
“พอเราผลักดัน TKpark ไปถึงนโยบาย อยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้เกิด TKpark จริง ก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะต่างเห็นแล้วว่าปัญหาของเด็กเป็นอย่างไร น่าจะมีพื้นที่ทางความคิด มีการเล่นของเด็ก มีกิจกรรม มีพ่อแม่มานั่งคุย หาทางออกเรื่องเด็ก ..ทุกฝ่ายบอกว่าใช่เลย”
เป็นส่วนหนึ่งที่สมัชชาออนแอร์ทำกระบวนการให้เกิด ชัยวุฒิมองว่าถ้าเป็นการคุยสักแต่ว่าเป็น “เวทีเฉยๆ” จะไม่มีการยอมรับในสัญญาออกอากาศด้วยกันว่าเวลาทำงานจริง ว่าต้องมีคนมาร่วมอย่างไร ถ้าเป็นแบบนั้นมักล้มเหลวตอนปลาย
ผลจากสมัชชาออนแอร์ในกรณีดังกล่าวทำให้เกิดผล 3 ประการกล่าวคือ 1.เป็นเวทีร่วมคิด 2. มีพื้นที่เพิ่มศักยภาพของคนร่วมคิดมากยิ่งขึ้น และ 3.เป็นเวทีเรียนรู้ระหว่างเทศบาลกับคนทำงาน
“ภายหลังคุณพฤกษ์มาบอกว่าเทศบาลนครหาดใหญ่ได้นำแนวคิดไปใช้เยอะมาก เพราะการทำเรื่องแบบนี้มักจะมีคนมาช่วยคิด คุณพฤกษ์บอกว่าไม่ได้ใช้เงินเท่าไร แต่ใช้ภาคีเยอะ อันนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการใช้เวทีทางอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วจบๆไป แต่มันใช้เป็นการเรียนรู้ทางอากาศ นับว่าเป็นสิ่งใหม่ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน”
จากหาดใหญ่ สมัชชาออนแอร์ขยับอีกก้าวไปยังเทศบาลนครสงขลา โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนเทศบาล 2 และผู้บริหารเทศบาล ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา ที่ให้การตอบรับ
เทศบาลสงขลามีนโยบายเมืองน่าอยู่ แต่ชัยวุฒิมองว่าเป็นนามธรรมที่กว้างมาก จึงเสนอผลักนโยบายเทศบาลน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน
“เทศบาลบอกว่า สงขลามีชายหาดทรายสาธารณะ 9 กิโลเมตร ทำอย่างไรที่จะทำชายหาดสาธารณะตลอดไป ไม่อยากให้เป็นอย่างภูเก็ต เมื่อเป็นแบบนี้แสดงว่าการมีส่วนร่วมจะต้องมีความสำคัญและเครือข่ายชุมชนต้องมามีส่วนร่วม”
การขับเคลื่อนที่สงขลา เริ่มจากกรอบการศึกษาและเด็ก
“เราเริ่มจากเปิดกรณีเทศบาลบอกว่ามีนอกชายหาด 9 กิโลเมตร ว่าอาจจะใช้พื้นที่บางส่วน สำหรับการศึกษาของเด็ก ซึ่งครูบอกว่าจากที่เคยเรียนรู้ในระบบไม่เคยรู้ว่าการเอาพื้นที่ด้านนอกมาเรียนรู้ ตามอัธยาศัยคืออะไร ต่อไปนี้เป็นไปได้ไหมว่า ชั่วโมงการเรียนที่เหลือบางส่วนไปทำกิจกรรมที่หาดทราย เรียนระบบน้ำทะเล ใช้ศักยภาพใหม่ในการหาแหล่งเรียนรู้ของสงขลา”
จากเวทีนี้เองแกนนำจากประเด็นเด็กและเยาวชน ในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ยังเสนอให้เอาแหล่งเรียนรู้ในสงขลา มาเชื่อมต่อกันใช้รูปแบบสมาร์ทการ์ด
“นี่ถือว่าเป็นนวัตกรรมแล้วปกติคนจะไปเที่ยวอควาเรียม หรือที่ใดที่หนึ่ง อย่างเดียวมันแพงแต่แนวคิดบัตรสมาร์ทการ์ดนี้ไปได้ทั่ว ซึ่งต้องการพื้นที่ สำหรับเด็กเท่านั้นเอง ยังมีข้อเสนอการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา กิจกรรมร่วมสถานศึกษา และเสนอให้เทศบาลมีรถบัสรองรับจากแหล่งเรียนรู้หนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง”
สิ่งที่ตามมา ที่ทางเทศบาลและโรงเรียนพึงพอใจ คือการส่งเสริมมัคคุเทศน์เด็ก เกิดพื้นที่ทางปัญญาของพ่อและแม่ในการแก้ปัญหาเด็ก ได้กลุ่มกิจกรรมเด็กและเป็นที่รวมของกลุ่มกิจกรรมเด็กที่เอื้อต่อเด็กในการทำกิจกรรม โดยสามารถระดมทุนมาจากหลายภาคส่วน
“กรณีสงขลาตอนนี้สำเร็จสู่นโยบายของเทศบาลแล้ว จากเคยที่มีนโยบายเมืองน่าอยู่แบบกว้าง สมัชชานำไปสู่รูปธรรมโดยมีขั้นตอนกระบวนการเดินมากขึ้น”
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่เทศบาลนครสงขลายัง เดินต่อไปสู่หลักสูตร การเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาล 2 นำร่อง เพื่อกระจายไปสู่โรงเรียนเทศบาลทั่วอีก 5 แห่ง ในอนาคต
“เรื่องนี้ก็น่าสนใจตอนแรกผู้ใหญ่ถามว่า ใครเป็นคนกำหนดแหล่งเรียนรู้ ซึ่ง ก็ได้คำตอบว่าควรให้เด็กกำหนดเลยมีการทำแบบสอบถามโดยนักวิชาการคนหนึ่งว่า อยากไปที่ไหนมากที่สุด เราเข้าใจว่าน่าจะไปอควอเรียม แต่ผลออกมา เด็กบอกว่าอยากไปเที่ยวป่าชายเลน เพราะ ที่อื่น พ่อแม่ พาไปแล้ว แต่ที่ป่าชายเลน ยังไม่มีโอกาสได้ไปเลย ไม่เคยรู้ว่าอะไรอยู่ข้างในนั้น และอยากรู้ว่าทำไมไม่ได้ไป”
การทำหลักสูตรท้องถิ่น พบว่านักวิชาการในโรงเรียนจะไม่มั่นใจ ในการทำส่วนนี้ สมัชชาออนแอร์ได้บทเรียนว่าต้องช่วยจนสุดทาง กระทั่งเวทีหลังสุดสามารถมองเห็นหลักสูตรและโรงเรียน เทศบาล 5 แห่งมานั่งคุย เพื่อให้เทศบาลรับไปทำต่อในเชิงนโยบาย
“เราไม่ได้จบแค่นี้ แต่จะไปทำเรื่องอื่นต่อ ถึงระยะหนึ่งสมัชชาออนแอร์ไม่ต้องออกอากาศ แต่ยังทำงานได้ต่อเดือนหรือสองเดือนครั้งเราก็ไปนั่งประชุม อาจไปเรื่องอื่นต่ออย่างการวิจัย”
สุวรรณี เกิดชื่น ให้ความหมายคำว่าสมัชชาตามความเห็นจากการทำงานของเธอในฐานะทีมงานคู่แฝด ว่าคือการชวนกันมาเล่าปัญหา มาหาทางออก มาช่วยกันอยาก แล้วช่วยกันทำ เพื่อชีวิตที่พอใจนั่นคือนโยบาย ขณะที่ชัยวุฒิมองว่าสมัชชา เป็นเวที ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเห็น ร่วมเป็น ภายหลังเขาขยับมาร่วมสมัชชา ตำบล เพราะเห็นว่าคนเดินเวทีสมัชชาเหมือนคนคัดท้ายเรือ เขาเห็นว่าประเด็นมีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าคนไม่เข้าใจ กระบวนการที่เดินไปหาภาพรวมจะไปไม่สุดทาง ซึ่งหากภาพรวมไม่ออกทิศทางไม่ไป นโยบายก็ไม่มา
“ส่วนมากพอขึ้นต้นเป็นเครื่องมือที่ดีมาก การขึ้นต้นทำได้แต่พอไปภาพรวมสุดท้ายก่อนเป็นนโยบาย มันจะไปเกี่ยวกับการมองแต่ละคน ซึ่งจะมองเป็นประเด็นเยอะ แต่ความสำเร็จคือเราสามารถใช้ภาพรวมก้าวไปสู่ความเป็นจริงได้หรือเปล่า”
“เวทีเฉยๆ”ไม่ต้องการการมีส่วนร่วม เวทีกินกาแฟ อยากคุยเรื่องนี้ เรื่องโน้น ใครกี่คนก็มานั่งคุยกันได้ แต่สมัชชาอาศัยการมีส่วนร่วมและดึงคนที่มีส่วนร่วมมาทำงานให้ได้ สมัชชาเป็นเวทีวิเคราะห์หาทิศทาง ในทิศทางจะมีเครื่องมือ ซึ่งเครื่องมืออาจฝังอยู่ใน อบต. ฝังอยู่ในตัวเทศมนตรี ฝังอยู่ในคน เหล่านี้ไม่มีสูตรตายตัว
สภาพงานทางสังคมที่เป็นอยู่ชัยวุฒิเห็นว่ามักเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ คนหนึ่งอาจแก้ปัญหาเด็กโดยชวนเด็กวิ่ง อีกคนไปชวนเด็กอ่านหนังสือ ทำกิจกรรมเด็กกับพ่อแม่ แต่คนที่ทำกิจกรรมเหล่านั้นไม่เคยคุยกัน ซึ่งถ้าไม่คิดจะคุยกันจะไม่มีทางเกิดสมัชชา
“ทำอย่างไรให้เขาที่ต่างคนต่างทำมาเห็นภาพรวมและง่ายต่อการทำงาน ถ้าสามารถโยงภาพรวมให้มันเกิดปฏิสัมพันธ์ ว่าแต่ละส่วนที่ทำอยู่นี้ มันเกี่ยวกับภาพรวม อย่างไร คนที่คิดไม่ออกจะคิดได้ คนที่ไม่คิดช่วยเลยจะช่วย คนที่คิดว่าวงนี้ไม่น่าคุยจะกลับมาคุย การมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่าไร คนมาช่วยเยอะขึ้นเราจะเหนื่อยน้อยลงเท่านั้น”
หน้าที่ของคนเดินรายการสมัชชาอย่างชัยวุฒิ ส่วนหนึ่งเป็นงานช่างสังเกต
“อย่างการทำอะไรสักเรื่องที่มีคนเห็นขัดแย้งกันอยู่ ในสมัชชามีคนหนึ่งอยากทำ แต่อีกฝ่ายไม่เอาด้วยอาจแค่ยิ้มหรือเฉยๆ เวลาเราโยนคำถามเข้าไป เราต้องสังเกตให้เห็นว่าสิ่งใหม่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะถ้าภาพรวมไม่เกิดจะมีคนทำเฉย จะมีคำตอบออกมาในลักษณะที่ว่า ไม่รู้ว่า จะทำได้ไหม”
เวทีแต่ละครั้งเขาพบว่าบางอย่างเป็นลบ บางอย่างเป็นบวก ต้องรู้กระทั่งว่าในประเด็นหนึ่งมีความแข็งความอ่อนอย่างไรผสมผสานกันอยู่
“งานเบื้องหลังมันมีมากกว่าที่เห็น ผมต้องไปตามหน่วยงานที่มีความรู้ เข้ามาเพิ่ม ตามคนรู้เรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดพี่เลี้ยง ผมทำการบ้านศึกษาข้อมูลเพิ่ม อยู่ตลอดเวลา คนที่ทำสมัชชาได้ต้องเป็นนักประสานที่ดีตอนที่ผมนำคุยถ้าเกิดประเด็นใหม่ ผมจดว่ามันงอกอะไรออกมา มองภาพรวม ให้ออก ไม่ใช่นำโดยคนนำอยากให้เป็น ต้องเอื้อให้เขาเป็น คนนำเป็นเพียงเครื่องมือที่เอื้อให้เขา นี่คือข้อยาก”เมื่อนโยบายเกิดขึ้นแล้ว ชัยวุฒิยังไม่อาจจบภารกิจ ถัดจากนั้นยังต้องหาเครื่องมือไปเอื้อต่อการเกิดสมัชชาในเรื่องต่อไป ร่วมคิดกับเขาอีก
“งานนี้ทำแบบโลภๆไม่ได้ประเภทไอ้นี่ก็จะเอาไอ้นั่นก็จะเอา เพราะถ้าไม่คุมอยู่ทุกอย่างจะฟุ้งไปไม่ถึงนโยบาย”เขากล่าว.
สมัชชาออนแอร์ที่นครสงขลา
การจัดประชุมเพื่อร่วมพูดคุยสมัชชาออนแอร์หรือ เวทีเรียนรู้สมัชชาสุขภาพทางอากาศภาคใต้ ออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุ FM 88.00 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวข้อ สถานการณ์เด็ก และทิศทางออกของเด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลา มีผู้บริหารของหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้าร่วมในการสนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิด การนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลา มีบทสรุปดังนี้
เวที 1
20 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมสารภี ชั้น 5 สำนักเทศบาลนครสงขลา
ปัญหาหลักของเด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลา
1.การตั้งท้องในวัยเรียน
2.ปัญหาครอบครัวแตกแยก
3.การแข่งขันรถซิ่งของเด็กและเยาวชน
4.ปัญหายาเสพติด
5.การศึกษาต่อของเยาวชน
ทิศทางการแก้ปัญหา
1.สร้างจุดเรียนรู้และกิจกรรมสำหรับเยาวชน
2.เปิดพื้นที่ก่อสร้างศูนย์แห่งการเรียนรู้
3.ปลุกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในจังหวัดสงขลา
4.ใช้ทุนเดิมที่มีอยู่ในเรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ให้ทุกคนตระหนัก และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
5.เน้นสร้างเมืองสงขลาให้น่าอยู่ และเป็นเมืองสีเขียว
6.ทำกิจกรรมลงสู่การเรียนรู้ในระบบการศึกษาทั้ง 3 ระบบ คือการเรียนรู้ในระบบ การเรียนรู้นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
7.ใช้พื้นที่แห่งเรียนรู้ที่มี ทำเรื่องของกิจกรรมเยาวชนให้เป็นรูปธรรม สู่การศึกษาทั้ง 3 ระบบ
8.เน้นการจัดการเรียนรู้ โดยการสร้างประสบการณ์ตรง จากแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในเมืองสงขลา
9.การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาเด็ก และเยาวชน ของเด็กในชุมชนต่างๆ
10.เน้นการพัฒนาเมือง เพื่อให้เยาวชนนำสิ่งที่มีอยุ่มาเป็นทุน ในการเก็บเกี่ยวเป็นอาชีพในอนาคต
วิธีแก้ปัญหา
1.ส่งเสริมการศึกษา โดยเน้นสร้างประสบการณ์ตรงให้เกิดแก่ผู้เรียน โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ให้เกิดเป็นรูปธรรม
2.ใช้ฐานนโยบายของท้องถิ่นผลักดันให้มีการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในเรื่องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ท้องถิ่น ให้เป็นการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและครอบครัว
3.ร่วมกันวางนโยบายแก้ปัญหาเยาวชน ด้านการสร้างกลุ่มเครือข่าย ในการแก้ปัญหา เช่น ผู้บริหารเทศบาลระดับสูง นักวิชาการ สถานศึกษา
เวที 2
17 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ณ อควาเรี่ยม สงขลา
กรอบการเรียนรู้ของเมืองสงขลา
1.ธรรมชาติที่มีอยู่เดิม
2.สิ่งแวดล้อมท่องเที่ยวต่างๆ
3.สถาพชุมชนดั้งเดิม
4.การจัดสภาพเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่
5.วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
แหล่งการเรียนรู้ของเมืองสงขลา
1.อควาเรี่ยม
2.สถาบันทักษิณคดีศึกษา
3.วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
4.เกาะยอ
5.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สงขลา
6.เขาตังกวน
แนวคิดการสร้างกระบวนการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้สู่กิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
1.การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดจากทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดความเชื่อมโยง ไปในทิศทางเดียวกัน
2.สรรหาบุคคลที่มีแนวคิดเชิงบวกเหมือนกันจากทุกภาคส่วนมาร่วมมือในการทำงาน
3.ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นในสถานศึกษา แต่ส่งเสริมกิจกรรมบูรณาการ
รูปแบบการบริหารการจัดการ ที่เป็นกระบวนการที่สำคัญไปสู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว
1.อาศัยองค์กรหลักๆ ในท้องถิ่นนั้นในการจัดการ
2.ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนในการขับเคลื่อนรูปแบบการบริหารจัดการ โดยนำความคิด ที่ได้ลงสู่นโยบาย แผนงานหรือโครงการ
3.หาองค์กรต้นแบบ หรือองค์กรนำร่อง ที่จะนำแนวคิดจากทุกภาคส่วน ที่เป็นประโยชน์กับเด็ก เยาวชน และครอบครัวลงสู่แผนการปฏิบัติ
4.เทศบาลรับเป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินการ โดยมีหน่วยงานต่างๆ และเครือข่ายคอยให้การส่งเสริมสนับสนุน
5.จัดบริหารรูปแบบพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียน หรือชุมชนเพื่อดำเนินการบริหารจัดการประบวนการแหล่งเรียนรู้ตามนโยบาย
สรุปแนวคิดวิธีการในการดำเนินการ บริหารจัดการ ที่เป็นกระบวนการให้เห็นเป็นรูปธรรม
1.ทุกฝ่ายที่เป็นหน่วยงานหลัก มาร่วมคิดกระบวนการดำเนินงาน
2.ปรับวิธีคิด วิสัยทัศน์ และวางเป้าหมายร่วมกันในกลุ่มเครือข่าย
3.มีการวางยุทธศาสตร์ วางนโยบาย และแผนงานร่วมกันของกลุ่มเครือข่าย เพื่อก้าวสู่เป้าหมายเดียวกัน
4.มีเจ้าภาพในการดำเนินงานที่ชัดเจน แล้วหน่วยงานในเครือข่ายคอยให้การส่งเสริม สนับสนุน
5.จัดหาพื้นที่นำร่อง ที่จะใช้วิธีการดำเนินการบริหารจัดการ ที่เป็นกระบวนการ
6.ต้องได้รับความร่วมมือ จากสถานที่แหล่งเรียนรู้ต่างๆ
เวที 3
18 สิงหาคม 2552 โรงเรียนเทศบาล 2 (อ่อนอุทิศ)
ว่าด้วย ทิศทางการสร้างหลักสูตรบูรณาการแห่งเรียนรู้เมืองสงขลา
แนวทางการสรรหาพื้นที่แหล่งเรียนรู้เมืองสงขลา
1.กำหนดสถานที่แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามความต้องการ และสนใจของเด็ก โดยการทำการสำรวจจากแบบสอบถาม
2.ประสานหน่วยงานแหล่งเรียนรู้นั้นๆ เพื่อขอความร่วมมือ ให้การส่งเสริม และสนับสนุน
3.ผลักดันเข้าสู่นโยบาย ระดับ อบจ. อบต. และเทศบาล เพื่อรองรับงบประมาณ และให้การสนับสนุน การใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษา
4.จัดทำสมาร์การ์ด เมืองแห่งการเรียนรู้
พื้นที่นำร่องในการใช้แหล่งเรียนรู้
*การศึกษาในระบบ - โรงเรียนเทศบาล 2 (อ่อนอุทิศ)
*การจัดสมาร์การ์ดเมืองแห่งดารรียนรู้ มีบัตรเดียวเที่ยวได้ทั่วเมืองสงขลา ให้เทศบาลนครสงขลาเป็นเจ้าภาพ หน่วยงาน /สถานที่แหล่งเรียนรู้ต่างๆให้การสนับสนุน แนวทางกระบวนการจัดทำ
1.วางกรอบแหล่งเรียนรู้ ของนักเรียนแต่ละชั้นให้ชัดเจน และสถานที่แหล่งเรียนรู้ไม่ซ้ำกับชั้นอื่น
2.กำหนดให้ 1 ภาคเรียน/ 1แหล่งเรียนรู้
3.กำหนดสัปดห์บูรณาการ ลงเรียนพร้อมกันตั้งแต่ชั้น ป.1-6
4.ช่วงชั้นที่ 1ของการเรียนบูรณาการ เน้นเรียนรู้เนื้อหาของแหล่งเรียนรู้ที่จะไป
เวที 4
16 กันยายน 2552 โรงเรียนเทศบาล 2 (อ่อนอุทิศ)
ว่าด้วยการสรรหาโครงสร้างแหล่งเรียนรู้ โดยแบ่งเป็นช่วงชั้น ให้แต่ละช่วงชั้นออกแบบว่า แต่ละภาคการศึกษาจะเลือกแหล่งเรียนรู้ใด .
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ