สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

by punyha @25 ม.ค. 53 21:37 ( IP : 222...254 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็นหลักประกันสุขภาพ  ขับเคลื่อนงานสอดรับ พระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ในหมวด 2  มาตรา 13  ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะ(4)ระบุถึงต้องมี ผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่แสวงหาผลกำไร เข้ามาร่วม  ประกอบด้วย

(ก) งานด้านเด็กหรือเยาวชน

(ข) งานด้านสตรี

(ค) งานด้านผู้สูงอายุ

(ง) งานด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช

(จ) งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น

(ฉ) งานด้านผู้ใช้แรงงาน

(ช) งานด้านชุมชนแออัด

(ซ) งานด้านเกษตรกร

(ฌ) งานด้านชนกลุ่มน้อย

เหล่านี้คือผู้ที่มักเข้าไม่ถึงบริการหลักประกันสุขภาพ ด้วยเงื่อนไขทางสังคมที่ด้อยกว่าคนกลุ่มอื่น

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีลักษณะโครงสร้างตามที่กฎหมายกำหนด  สำหรับผู้แทนองค์กรเอกชน ส่วนของอนุกรรมการเครือข่าย 9 ด้าน ระดับจังหวัดทำงานล้อกับโครงสร้างใหญ่

“เป้าหมายร่วมๆของเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้ามาทำระบบหลักประกันคือจะทำอย่างไรจะพัฒนาคุณภาพบริการการรักษาพยาบาล จากที่มีคนบ่นว่าจ่ายแต่ยาพาราฯ เรียกเก็บเงิน หรือบางคนบอกว่าเจ้าหน้าที่การแพทย์พูดไม่ดี วินิจฉัยโรคผิด รักษาผิดทำอย่างไรให้เรื่องแบบนี้ลดน้อยลง”
 คำอธิบายภาพ : pic4b5dade3727e9 จุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานประเด็นหลักประกันสุขภาพ แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา  เล่าและว่าสิ่งที่ทำอยู่จึงเป็นการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนาระบบบริการและนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

ที่ผ่านมาจังหวัดสงขลามีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ ภาคประชาชน จังหวัดสงขลาผู้นำในการดำเนินงานคือนางสมจิต ฟุ้งทศธรรม  แห่งชุมชนไทรงาม เทศบาลนครสงขลา มีบทบาทรับปัญหาจากชุมชนแออัดที่ถือเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเมิดสิทธิมากกลุ่มหนึ่ง

“ศูนย์ของพี่สมจิตเหมาะทำงานตรงนั้น ส่วนของเรามองเห็นว่า ตัว พ.ร.บ. ฉบับนี้พูดถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเอาไว้เยอะมากตั้งแต่กรรมการระดับชาติถึงระดับพื้นที่ ใน พ.ร.บ. ระบุชัดเจนว่าจะมีเครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน”

จุฑาเล่าว่าความจริงเครือข่ายภาคประชาชนมีมากกว่านั้น แต่ 9 ด้านที่กล่าวถึง เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มักเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพนั่นเองไม่ว่า  กลุ่มเด็กหรือเยาวชน  ผู้หญิง ผู้สูงอายุ  คนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช  คนใช้แรงงาน เกษตรกร ชุมชนแออัด  ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเรื้อรัง  และ ชนกลุ่มน้อย
 คำอธิบายภาพ : cimg8185 แต่ละข่ายจะมีประเด็นที่ทำให้เขาเข้าไม่ถึงบริการ เช่น ชุมชนแออัดมีปัญหาย้ายที่อยู่บ่อย  ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน  ชนกลุ่มน้อยจะมีปัญหาเรื่องการไม่มีบัตรประชาชน หรือหมายเลขประจำตัว 13 หลัก  ผู้สูงอายุเจอปัญหาโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน หัวใจ  ผู้ป่วยเรื้อรังติดเชื้อมีปัญหาเรื่องของ การรับยาต้านไวรัส การปกปิดความลับ การเลือกสถานที่รักษา ผู้พิการจะมีปัญหาว่าตัวเองจะไปใช้บริการอย่างไรให้สะดวกและเข้าถึงมากขึ้น  เป็นต้น

“กรรมการเครือข่าย 9 ด้าน ระดับจังหวัดจะล้อกับกรรมการระดับชาติ ซึ่งเรายังเจอปัญหาว่า สสจ.(สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) บางแห่ง อาจไม่ให้ความสำคัญ หรือ อาจไม่เข้าใจ ถึง หัวใจ ของ พรบ.ฉบับนี้ หรือว่าอาจไม่รู้ว่าเอาตัวแทนภาคประชาชนมาจากไหน”

จุฑาเล่า และว่าระดับจังหวัดจะมีอนุกรรมการ 3 ชุด คือ อนุกรรมการบริหารหลักประกัน  อนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และ อนุกรรมการตามมาตรา 41 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณี รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด

หน้าที่ของอนุกรรมการบริหารประกันหลักจะดูแลนโยบายระดับจังหวัดเกี่ยวกับงานประกันระบบสุขภาพ การรักษาพยาบาล

อนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานจะมีหน้าที่ดูว่าเป็นไปตามมาตรฐานระบบสาธารณสุข และรับเรื่องร้องเรียน
ส่วนอนุกรรมการตามมาตร 41 จะเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากบริการสาธารณสุข

“อนุกรรมการทั้ง 3 ชุด จะมีตัวแทนภาคประชาชนอยู่ ประมาณ 4-5 คนรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ในช่วงแรก ๆ ทาง สสจ.หลายแห่งมักจะเอาเครือข่าย ผู้สูงอายุ เครือข่าย อสม. ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันอย่างชัดเจน ดึงมาเป็นกรรมการ  ส่วน สสจ. สงขลา เราเข้าไปคุยกับเขาว่า กรรมการภาคประชาชน น่าจะมาจากการเลือกของเครือข่าย สสจ.เลยมาทำงานร่วมกับเราจัดเวทีเชิญเครือข่ายภาคประชาชนมาเลือกตัวแทน  สำหรับปีแรกเห็นว่าใครเหมาะในเวทีก็เชิญมาทำหน้าที่กรรมการ”

หลังจากนั้นอนุกรรมการภาคประชาชนทั้ง 3 ชุด มาจากกระบวนการคัดเลือกในเวทีเครือข่ายภาคประชาชน  คำอธิบายภาพ : cimg7092 เมื่อภาคประชาชนเข้าไปทำงานด้านสุขภาพระยะต้นๆ  พบว่าต้องเจอปัญหาไม่เข้าใจศัพท์เทคนิค หรือศัพท์แสงทางการแพทย์  จุฑาเล่าว่าปัญหาดังกล่าวได้พยายามจัดการเชื่อมโยงเพื่อพูดคุยถ่ายเทข้อมูล  หลังจากนั้นเกิดมิติใหม่อีกระลอกหนึ่ง  เพราะมีการจำเพาะเจาะจงตัวแทนที่มาจากเครือข่าย 9 ด้าน โดยแต่ละด้านจะมาคุยกันเฉพาะว่าจะส่งใครเข้าไปทำงาน

เกิดลักษณะเครือข่าย 9 ด้านมีส่วนร่วมเป็นอนุกรรมการ มากขึ้น มีปากมีเสียงในโครงสร้างที่กำหนด นับเป็นการมีปากเสียงตัวแทนคนอยู่ข้างหลังของแต่ละเครือข่าย  เพราะคนที่ถูกเลือกเข้าไปทำงานนับเป็นตัวแทนภาคประชาชนจริงๆ

จุฑาเล่าว่าเป้าหมายหลักต้องการผลักดันเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตามงานของประเด็นหลักประกันในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งยังเป็นการรับเรื่องร้องเรียน  และให้ข้อมูลหลักประกันผ่านรายการวิทยุ ทาง FM 101.75 MHz หาดใหญ่ ทุกวันพุธ พฤหัสบดี และ ศุกร์ เวลา  เวลา11.00-12.00  น. และ FM 88.0 MHz มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จันทร์ถึงศุกร์ เวลา 13.00-13.30 น.

“ใครมีปัญหาบอกปากต่อปากกันมา เราก็แก้ปัญหาให้และพยายามเอาข้อมูลในการแก้ปัญหามาถ่ายทอดผ่านรายการวิทยุ เพื่อให้คนเห็นว่าปัญหาพวกนี้สามารถแก้ได้  เมื่อเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ  ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้แก้ให้กับบุคคลคนนั้นเพียงคนเดียว แต่เป็นการแก้เพื่อพัฒนาระบบ เพื่อไม่ให้คนต้องมาเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้อีก”

จุฑาเล่าถึงกรณีป้าคนหนึ่งกับลูกชายมีอาการผิดปกติทางสมอง

“ป้ามีลูกชายอายุ 25 ปีสื่อสารกับคนอื่นพอรู้เรื่องแต่ประกอบอาชีพไม่ได้ อาการประจำตัวของลูกชายมักมีลมชัก ล้มตึงจนหัวแตก  ป้าเลิกกับสามีอยู่กับลูก 2 คน แกเคยพาลูกไปรักษาอยู่หลายแห่งและปกติรับยาอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา”

ยาตัวหนึ่งช่วยลดอาการ ลมชัก แต่ปรากฏว่ามีอยู่เฉพาะที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (รพ.มอ.)  เป็นยานอกบัญชี ป้ามีความเดือดร้อนเพราะต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลสงขลา 2  เดือน/ครั้งอยู่แล้ว ยังต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกทุกเดือน ต้องจ่ายเงินค่ารถครั้งละ 300 บาท

“เมื่อไปคุยกับหมอโรงพยาบาล มอ. เขาบอกว่าให้รับยาไปครั้งละ 3 เดือนก็ได้ แต่ในความเป็นจริง แกไม่มีเงินพอจะซื้อยาคราวเดียว 3 เดือนก็จำต้องไปทุกเดือนอยู่ดี” จุฑาเล่า และว่าเมื่อได้คุยกันกับผู้เดือดร้อนจึงได้บอกไปว่าตามสิทธิหลักประกัน ถ้าเป็นยาที่จำเป็นกับผู้ป่วย  หมอไม่มีสิทธิจะเรียกเก็บเงิน แม้ว่าจะเป็นยานอกบัญชีก็ตาม
แต่เมื่อคุยกับหมอและเจ้าหน้าที่ กลับได้คำตอบอีกทางว่ายานี้ เป็นยาทดลอง ต้องจ่ายเงิน

จากกรณีดังกล่าวจึงมีการทำหนังสือในนามเครือข่ายภาคประชาชน ถึง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล มอ. ซึ่งในที่สุดมีการ อนุมัติให้รับยาดังกล่าวได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

“ปัญหาคลี่คลายทำให้ป้าคนนั้นสามารถรับยาคราวละ 3 เดือนได้ เพราะไม่ต้องจ่ายเงินเอง และไม่มีปัญหาเรื่องค่ารถเพราะนานๆมาโรงพยาบาลที”

ปัญหาจากระบบหลักประกันสุขภาพมีเรื่องใหม่ เข้ามาเป็นประเด็นให้แก้เสมอ  จุฑาเล่าว่าอย่างกรณี มาตรา 41 การชดเชยความเสียหายทางการบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหา

“คงได้ยินมาว่าปัญหาฟ้องหมอเป็นปัญหาใหญ่มาก ทำให้หมอท้อใจไม่มีกำลังใจทำงาน หรือนักศึกษาสอบแพทย์น้อยลง หมอจะหนีไปอยู่เอกชน เป็นประเด็นที่พูดกันมาก แต่นี่คือคนเสียงดังพูด ฝ่ายหมอหรือสาธารณสุข ส่วนความทุกข์ชาวบ้านหนักกว่านั้นเพราะเขาถูกกระทำซ้ำๆรักษาผิดพลาด ถูกตัดแขนตัดขาแล้ว ยังถูกสั่งไม่ให้ฟ้องหรือส่งทนายมาขู่อีก”

กรณีที่รับเรื่องเมื่อต้นปี 2552  ผู้ชายอายุราว 40 ปี  สุขภาพแข็งแรง อาชีพชำแหละและขายเนื้อหมูอยู่ตลาดสดหาดใหญ่  วันหนึ่งเขามีอาการไข้ จึงเข้ารักษาตามสิทธิที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์ได้จ่ายยาพาราเซตตามอล  บอกว่าให้กลับไปพักผ่อนไม่เป็นอะไรมาก

ผ่านไปราว  2-3 วัน ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น จึงกลับไปที่โรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง หมอวินิจฉัยเหมือนเดิมว่าอาการทั่วไปไม่เป็นอะไร พร้อมจ่ายยาพาราเซตามอลให้อีกครั้ง

“ครั้งที่ 3 แกบอกว่าตามองอะไรไม่เห็นแล้วไปหาหมอหมอก็ยังบอกว่าไม่เป็นอะไร” จุฑาเล่า ผู้ป่วยจึงไปหาหมอที่คลินิกเอกชน  หมอวินิจฉัยว่าระบบประสาทหรือจอตาอาจมีปัญหา แต่คลีนิคก็ไม่ทำให้อาการดีขึ้น

ผ่านมาราว 2 สัปดาห์ผู้ป่วยรายนี้ ได้ตัดสินใจเขารับการรักษาที่โรงพยาบาลมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ทงเซียเซี่ยงตึ้ง) ในหาดใหญ่  หมอวินิจฉัยว่าเป็นฉี่หนู  ระบุว่า อาการอยู่ในขั้นหนักมาก  ถ้ามาถึงหมอช้าอาจเสียชีวิต คราวนี้หมอให้เข้ารักษาและพักฟื้นอยู่นานหลายวันจนอาการดีขึ้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภรรยาผู้ป่วยโกรธมากเพราะเข้าโรงพยาบาลหลายครั้งแต่คำตอบที่ได้คือไม่เป็นอะไร”
จุฑาเล่า ฝ่ายภรรยาจึงไปคุยกับหมอของโรงพยาบาลต้นสังกัดที่รักษา 3 ครั้งแรก  ทางหมอบอกด้วยวาจาเป็นการส่วนตัว ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในโรงพยาบาลท่งเซียเซี่ยงตึ้ง ซึ่งเป็นเอกชน  โรงพยาบาลต้นสังกัดจะรับภาระจ่าย
ก่อนไปถึงจุดนั้น ปัญหาอีกอย่างตามมาเมื่อตัวภรรยาผู้ป่วย ได้ไปให้ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับความทุกข์ที่อยากบอกคนอื่น  แต่หมอในโรงพยาบาลต้นสังกัดรับไม่ได้กับการกระทำของญาติผู้ป่วยดังกล่าว (กรณีฟ้องสื่อ)  จึงประกาศไม่รับผิดชอบใดๆ  ถ้าต้องการให้รับผิดชอบต้องฟ้องร้องเอาเอง

“กรณีนี้เขาบอกเราว่าไม่รู้ทำอย่างไรสามีป่วย ไม่มีคนทำงาน ครอบครัวไม่มีรายได้ 10 กว่าชีวิต ใครจะดูแลเมื่อถูกบีบหลายทาง เขาก็อยากฟ้องหมอจึงร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคจังหวัดสงขลา( ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภค แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา)  เรื่องจึงส่งต่อมาที่นี่ เราได้คุยกับแกอารมณ์ตอนนั้นคือเขาจะฟ้องหมอ เห็นว่าหมอทำไม่ถูก เราบอกว่าฟ้องได้แต่เบื้องต้นแนะให้ใช้มาตรา 41 เพราะปัญหาคือค่ารักษาที่โรงพยาบาลทงเซียเซี่ยงตึ้ง  5,000 กว่าบาทซึ่งตอนแรกโรงพยาบาลต้นสังกัดบอกว่าจะจ่ายให้ แต่ตอนหลังบอกเลิกไป ”

จุฑาเล่าโดยมองมุมตัวเองเห็นว่ากรณีอย่างนี้เกิดจากหมอวินิจฉัยผิดพลาด ปล่อยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหลายครั้งโดยไม่แก้ปัญหาอะไร  โรงพยาบาลน่าจะมีการชดเชยในเบื้องต้น จึงได้ทำหนังสือถึง สสจ. ซึ่งคณะกรรมการประชุมกันอนุมัติให้เงินชดเชย เบื้องต้น 10,000 บาท

ผู้เสียหายได้เงินมาจ่ายค่ายากับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารักษาจนหาย และการที่ทางสสจ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยม ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น อารมณ์ฟ้องหมอก็เบาบางลง

“เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้คนเดือดร้อนจะมาหา เราจะนั่งสอบปากคำและเขียนรายละเอียดออกมาว่าเขาเป็นอย่างไร”

จุฑายอมรับว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่รู้จักช่องทางร้องเรียน แม้กระทั่งสำนักงานที่เธอนั่งประจำอยู่  ณ เลขที่ 2 ถนนไทยสมุทร ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่  โทรศัพท์ 074-254542  ยังต้องบอกต่อให้ได้รับรู้ทั่วไป

“การที่ชาวบ้านมาถึงเราเพราะหน่วยงานรู้จัก บอกต่อกันมา เป็นการบอกปากต่อปากก็เยอะอีกทางคือเรามีคนรับเรื่องอยู่ในชุมชน ลักษณะแกนนำ  เขาจะโทรมาบอก หลายกรณีเขาปรึกษามา เราให้คำปรึกษาไป”

แกนนำประจำชุมชนนั้นเกิดมาจากช่วงปีแรกของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา มีการจัดงบประมาณอบรม อาสาสมัคร สามารถตั้งแกนอาสาสมัครในพื้นที่ เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ได้จำนวนหนึ่ง

“สำนักงานเราเรียกว่าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา  รับเรื่องร้องเรียน ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องโทรคมนาคม  หลักประกันสุขภาพ สินค้า บริการ อาหาร ฯลฯ ”

ความจริง เกี่ยวกับการร้องเรียน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ ภาคประชาชนจังหวัดสงขลา ที่นำโดยนางสมจิต ฟุ้งทศธรรม ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่จุฑามองว่า เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จังหวัดสงขลา สามารถทำงานได้กว้าง โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วม ทุกวันนี้เธอจึงรับเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายหลักประกันภาคประชาชน ของจังหวัดสงขลา ทำงานเชื่อมกับข่ายภาค และอนุกรรมระดับชาติ

“เราทำเรื่องเครือข่ายการมีส่วนร่วม เพราะเราทำประชาคมสุขภาพมาก่อน ถึงขณะนี้พบว่าการมีส่วนร่วม มากขึ้นในแต่ละข่าย แต่ก่อนเขารู้สึกว่าหลักประกัน ไม่เกี่ยวเขา แต่มาถึงตอนนี้ เขารู้สึกว่ามันเกี่ยวข้อง ทุกคน”

มาถึงปี 2552 จุฑามองว่าทุกข่ายมีความสุข สนุกกับการทำกิจกรรม เพราะมองว่าหลักประกันและเป็นเรื่องของทุกคน เวลาประชุมเครือข่ายให้ความร่วมมือ แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน สะท้อนปัญหาตัวเอง และมีข้อเสนอต่างๆ

“อย่างผู้พิการ ถ้าไม่พัฒนาระบบหลักประกันก็จะมีปัญหาของเขาเอง เพราะเขาเป็นกลุ่มที่ใช้บริการเยอะ ยังมี  ผู้ติดเชื้อ ผู้สูงอายุ  สามกลุ่มนี้จะใช้บริการมาก”

จุฑายังมองว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่ใช่วัดปริมาณอย่างเดียว เพราะมีเรื่องทางคุณภาพอยู่  การทำงานเป็นเชิง เนื้อหา กระบวนการ และทำความเข้าใจค่อนข้างมาก

“อย่างกรณีคุณป้าและลูกชาย กับปัญหายานอกบัญชี ได้พาผู้เดือดร้อนไป โรงพยาบาล 3 ครั้ง เป็นอย่างน้อย จนเจ้าหน้าที่ถามว่าต้องทำขนาดนี้หรือ ซึ่ง เราบอกว่าจะให้ทำอย่างไร เพราะแกอายุ 60 เป็นมุสลิม เป็นชาวบ้านที่ไม่รู้จักเมืองหาดใหญ่”

เธอพยายามอธิบายว่าคนที่แก้ปัญหาด้วยตัวเองได้จะไม่เจอปัญหาแบบนี้หรอก ที่ต้องโดดลงไปช่วย เพราะเขาแก้ปัญหา ตัวเองไม่ได้นั่นเอง หญิงชราที่ใช้เกือบทั้งชีวิตดูแลลูกที่ป่วย รู้จักแต่บ้านตัวเอง  เข้าเมืองหาดใหญ่มาโดยรู้จักสถานที่แค่ตลาดสด แม้จะดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่นี่คือกลุ่มผู้ไม่เข้าถึงบริการสุขภาพตัวจริง

“สะท้อนว่าคนเหล่านี้ไม่เข้าถึงบริการจริงๆ จะพบว่า แม้แต่คนป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เอง หากถูกส่งมาจากที่อื่นเมื่อต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆในโรงพยาบาล ยังเดินไปไม่ถูกเลย ซึ่งโรงพยาบาลน่าจะใส่ใจเรื่องนี้”

จุฑามองทิศทางข้างหน้า ของการเคลื่อนหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนว่า เกี่ยวกับกลไกที่จะทำอย่างไรให้กรรมการสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่  โดยเฉพาะเรื่องกองทุนสุขภาพระดับตำบล ต้องทำอะไรอีกมาก  โดยทุกฝ่ายต้องมามีส่วนร่วมช่วยกันรวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน .

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว