ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
แม้ขณะนี้ชายทะเลไทยกำลังเจอปัญหาการกัดเซาะ แต่ที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนครกลับมีทรายมาทับถมงอกยาวกว่าเดิม ปัญหาใหม่คือพื้นที่ซึ่งธรรมชาติหยิบยื่นให้ชุมชนกลับถูกนายทุนบุกรุกออกเอกสารสิทธิ์ เป็นคดีฟ้องร้องยังไม่ถึงที่สุด
“ทุกวันนี้ตำบลชิงโคเหลือพื้นที่ป่าชุมชนที่คนจะใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ถึง 10 ไร่ นับน้อยมากและหากท้องถิ่นคิดจะซื้อที่เพิ่มก็ไม่ได้อีกเพราะไม่มีเลย ”
เรืองวิทย์ ศรีสุวรรณ ผู้ประสานงานโครงการ อนุรักษ์ ป้องกัน พัฒนา สิ่งแวดล้อม (ปลูกป่าชุมชน) ตำบลชิงโค เล่าระหว่างกิจกรรมปลูกป่าชุมชน ที่ สำนักสงฆ์บางหอย บริเวณเนินสันทรายหาดเพชร ลีลาศ เมื่อวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา มีนายอำเภอสิงหนครเดินทางมาเป็นประธาน ผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน กิจกรรมสำคัญร่วมกันปลูกป่า
งานนี้มีเจ้าภาพหลักคือสภาองค์กรชุมชนตำบลชิงโค และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชิงโค บริเวณจัดกิจกรรมคือพื้นที่ป่าจำนวนน้อยนิดที่หลงเหลืออยู่ ดังที่กล่าวข้างต้น
“สืบเนื่องมาจากปี 2551 เราทำโครงการไปที่แผนสุขภาพจังหวัด ผ่านโซนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวะเกิดสภาองค์กรชุมชน จึงใช้คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมของสภาองค์กรชุมชนมาขับเคลื่อนเรื่องนี้”
เรืองวิทย์เล่าว่าชายหาดชิงโคระยะทางราว 4 กิโลเมตร เหลือป่าชุมชนบริเวณสำนักสงฆ์บางหอย ซึ่งก่อนหน้านี้ที่นี่มีกิจกรรมอนุรักษ์ และพัฒนาดูแลสิ่งแวดล้อม ได้รับงบจากมูลนิธิโคคาโคลามาดำเนินกิจกรรม ทำให้เด็กนักเรียนจาก 4 โรงเรียนในพื้นที่ และ แกนนำชุมชนร่วมเรียนรู้ทำการจัดการขยะ หลังจากนั้นครู และนักเรียน ที่เข้าร่วมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเลยเสนอโครงการปลูกป่าชุมชน
“ เราเห็นว่าบริเวณสำนักสงฆ์บางหอยน่าจะเป็นแหล่งเดียวที่เป็นที่สาธารณะ มีธรรมชาติดั้งเดิมอยู่ สังเกตว่าต้นไม้ในป่าหลายชนิดอายุมาก เช่นว่า ต้นเมา ต้นเสม็ด”
ตามประวัติ สำนักสงฆ์แห่งนี้อดีตเป็นวัดบางหอย อายุราว 300 ปีพื้นที่เขตวัดเคยอยู่ลึกเกินตลิ่งในปัจจุบันลงไปในทะเลราว 1 กม. แต่โดนกัดเซาะจนเป็นวัดร้าง กระทั่งเจ้าอาวาสวัดบ่อสระสมัยพ่อท่านเลี่ยม จันทโชติ มาปรับปรุงวัดร้างเป็นสำนักสงฆ์ ให้ลูกศิษย์มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ ตั้งแต่นั้นมาสำนักสงฆ์บางหอยขึ้นอยู่กับวัดบ่อสระ
“สภาพโดนกัดเซาะจนเหลืออยู่แค่ 10 ไร่ สภาพคงคล้ายกับสำนักสงฆ์หาดทรายแก้ว ที่อยู่ไม่ไกลกัน ตอนผมอยู่กับตาวัยเด็ก เคยเห็นพื้นที่วัดอยู่ไกลเข้าไปในทะเลมาก แต่ก่อนบริเวณชายหาดจะมีต้นหลาโอนขึ้นอยู่มาก พอเราโตขึ้นปรากฏว่าถูกกัดเซาะเข้ามาเรื่อย ๆ”
เรืองวิทย์เล่าว่าคนที่อยู่ริมชายทะเลสมัยก่อนจะเว้นที่ติดชายหาดไว้ราว 2 ไร่ บริเวณดังกล่าวจะมีการปลูกศาลา ขุดบ่อ กั้นแนวรั้ว
“ผมเคยถามพ่อเฒ่า(คุณตา)ว่าทำไมต้องเว้นที่ เขาว่าเว้นเอาไว้ให้เล(ทะเล)กิน”
สภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ชายหาดมีการกัดเซาะมาเป็นระยะ กรณีชายฝั่งทะเลแถวตำบลชิงโค การกัดเซาะได้มีแนวโน้มเปลี่ยนไปเมื่อ มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ทำให้กระแสน้ำจะโค้งไปกัดเซาะแถวอำเภอสทิงพระซึ่งเป็นชาดหาดที่อยู่ถัดไปแทน
“กลายเป็นว่าชายหาดที่นี่กลับมางอก แต่มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ ที่นายทุนออกทับที่สาธารณะ แต่จะว่าไปแม้ถึงเวลาหยุดกัดเซาะแล้วงอกกลับไปทีละนิด พื้นที่ตรงนี้ ก็เหลือน้อยแล้ว สิ่งที่มีอยู่ต้องรักษาไว้ เราต้องรักษาเนินสันทราย ต้องป้องกันเรื่องการบุกรุก”
หาดบางหอยตั้งชื่อใหม่เป็นหาดเพชรลีลาศเมื่อ 8 ปีก่อน อบต.ชิงโคประกาศชื่อให้ทันสมัยพ้องกับหาดอื่นที่อยู่ใกล้ๆและเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียง พร้อมกับใส่ประวัติลงว่ามีการไปทำความสะอาดชายหาด แล้วพบแหวนเพชร
พื้นที่ 10 ไร่ ที่เหลือเป็นป่าชุมชนแห่งนี้เดิมเป็นป่าเนินสันทราย ต้นสนขึ้นอยู่จำนวนมาก ใช้เป็นที่จอดเรือ และวางพักเรือบนบก เพราะชาวบ้านถิ่นนี้มีการทำประมงพื้นบ้านปลากะตัก
“ถ้าเราไม่ดูแลตรงนี้มันจะไม่มีที่เหลือเลย ตำบลชิงโคเราไม่มีที่สาธารณะ เคยมีอีกแห่งหนึ่งเรียกว่าปึกขี้นาคกว้าง 40 ไร่ ถูกบุกรุก นายทุนออกโฉนดทับที่ ล่าสุด อบต. ได้ออกประกาศเป็นเขตสาธารณประโยชน์แล้วเหลือแค่ 7-8 ไร่”
ปีกขี้นาคถัดจากหาดเพชรลีลาศ ขึ้นไปทางทิศเหนือราว 1 กิโลเมตร ชะตากรรมก็ไม่ต่างกัน จากที่เคยเป็นแอ่งน้ำใหญ่ แบบลากูน ลักษณะทะเลสาบ 3 น้ำที่ย่อขนาดลงมา มีปากทางที่น้ำไหลลงทะเล เรียกว่า “ปากแตก” เป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลาที่พบมากคือปลากระบอก เคยใช้เป็นที่ลอยกระทง แต่ทุกวันนี้พื้นที่เหลือน้อยลงจนแทบไม่มีความสำคัญกับชุมชน
เรืองวิทย์เล่าว่าการมาร่วมกันปลูกป่า ที่สำนักสงฆ์บางหอย ใช้ต้นกล้าไม้ราว 400 ต้น สิ่งประสงค์จริงๆ คือต้องการสร้างป่าที่ให้คนในชุมชนในอนาคต ที่สามารถใช้ประโยชน์กับไม้ ทั้งกินผล และยอด
เกือบทุกบ้านในตำบลชิงโคจะมีมะม่วงพิมเสนเบา ที่อร่อยที่สุด นับเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นแต่ เขาต้องการสร้างป่ากินได้พวก ขี้เหล็ก มะขาม ยาร่วง(มะม่วงหิมพานต์) ไม้ไผ่ตง มะพร้าว และทุกคนในชุมชนต้องช่วยดูแล เพราะไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
“มะขามกินได้ทั้งยอด ผลอ่อน ผลแก่ ผลสุก ไม้ใช้ทำเขียง เผาถ่าน เป็นไม้อยู่นาน ไม่ต้องดูแล ส่วนขี้เหล็กเป็นสุดยอดอาหาร มีสรรพคุณทางยา และอีกอย่างเราต้องการความสวยงามด้วย”
นอกจากไม้กินได้เรืองวิทย์ นำเสนอปลูกไม้อันเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นคือ ต้นชงโค เพราะจากการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พบว่าสมัยพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้มาตั้งทัพที่ตำบลชิงโคและได้พักอยู่ใต้ต้นชิงโคต้นหนึ่งที่แผ่กิ่งก้านสวยงาม
คำชิงโคจึงเกี่ยวข้องกับชงโคดังกล่าวแล้ว แม้ตำนานนั้นมีอยู่หลายกระแส การพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาผูกกับต้นไม้ ทำให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัวในความเป็นมาของท้องถิ่น
คำว่า “ชิงโค” ยังมีกระแสหนึ่งเล่าว่า สมัยก่อนมีพ่อค้าชาวต่างชาติมาค้าขาย ยังเมือสิงหนคร ที่เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ชาวต่างชาติเสียงเพี้ยนกลายเป็น สิงโคระ หรือ ชิงโค
กระแสหนึ่งบอกว่า พ่อค้าวัวควาย จากระโนดสทิงพระมัก จะเดินทางผ่านมาทางถนนทราย ผ่านป่าเสม็ด เพื่อเอาวัวควายไปขายสงขลา และมักมาถึงชิงโค เวลาค่ำพอดี พ่อค้าวัวความมักหยุดพักที่วัดเลียบ แต่ก่อนจึงเรียกชื่อว่าวัดโคพัก มีบ่อและต้นเลียบที่สวยงาม พักผ่อนได้ การใช้สถานที่ดังกล่าวพักแรมเป็นประจำ ทำให้โจรผู้ร้ายจ้องมาชิงโคเสมอ
“เป็นที่มาของคำว่าชิงโคแต่มีคนแย้งว่าคนใต้ไม่เรียกวัวว่าโค กระแสนี้ จึงอาจไม่ใช่”เรืองวิทย์ตั้งข้อสังเกต
ตำบลชิงโค เคยมีผู้ปกครองชื่อขุนชิงโคนราทร ยังมีโกศเก็บกระดูกอยู่ ในวัดแห่งหนึ่ง ทายาทผู้สืบทอดเป็นตระกูลธรรมโชติ คนหนึ่งชื่อนายจำรูญ ธรรมโชติเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ในปัจจุบัน
“เราปลูกต้นชงโคด้วย เพราะต้องการให้เป็นเอกลักษณ์ ของตำบล สืบเนื่องจากเรื่องทัพพระนารายณ์มานอนพักอยู่ใต้ต้นชงโค ถ้าเราเผยแพร่คำนี้ออกไปให้มากๆ จะเป็นกระแสว่าตำบลชิงโค ต้องมีต้นชงโค โดยใช้สำนักสงฆ์บางหอยเป็นศูนย์กลาง นอกจากปลูกกันที่นี่ เรายังแจกต้นชงโค ให้เขาไปปลูกตามครัวเรือน หลายกลุ่มสนใจ รวมทั้งกลุ่ม อสม. ทำให้เราต้องเพาะเพิ่มขึ้นมาอีก”
ไม่เฉพาะครั้งนี้ เรืองวิทย์ เล่าว่ากิจกรรมปลูกป่าชุมชน ทำมาอย่างต่อเนื่อง
“เรารณรงค์ ทำกันบ่อย ปลูกกันบ่อย ริมชาดหาดแห่งนี้ ทาง นายก อบต. คนปัจจุบัน เขายังนโยบายจะทำสวนหย่อม ปรับภูมิทัศน์ ริมหาด อีกไม่นานบริเวณนี้จะเป็นแหล่งพักผ่อน และป่ากินได้”
เรืองวิทย์เล่าว่าที่ผ่านมาอาจมีนักศึกษาลงมาปลูกป่าให้ชุมชนที่นี่ อยู่บ้าง แต่เกิดปัญหาเพราะส่วนมากนักศึกษามักลงมาช่วงปิดเทอมหน้าแล้ง หาก 10 วันฝนไม่ตก ไม่มีใครรดน้ำ ต้นไม้เหล่านั้นก็เหี่ยว เฉา ตายไปในที่สุด
“คราวนี้ เราปลูกหน้าฝนคงไม่มีปัญหา อย่างนายอำเภอบอกว่าปลูกแล้วพรุ่งนี้ก็ตาย มันจะตายอย่างไร เรามีคนดู คนแก่คนหนึ่งมาดูแลสำนักสงฆ์ จะช่วยส่วนนี้ได้ ผมจะตั้งงบประมาณมาช่วยดูแลด้วย ถ้าตายจะซ่อมด้วย ดูแลรดน้ำ และเราจะปลูกเพิ่มอีกจำนวนมาก ไม่ว่าไผ่ตง ยอดราม มะพร้าว และไม้ประโยชน์กับชุมชน เน้นสิ่งที่กินได้”
เรืองวิทย์มองว่า เมื่อเกิดป่าชุมชนขึ้นจริง ยังต้องมีการจัดการเพื่อช่วยกันดูแลอีกขั้นตอนหนึ่ง
“เช่นว่ามาเก็บยอดขี้เหล็กแล้ว ก็ทำให้ดี คือดูแลเสียด้วย เก็บยอดมะขามแล้วก็ช่วยดูแล ไม่ใช่เอาอย่างเดียว เราให้อะไรกับป่าเขาด้วย ทำให้อุดมสมบูรณ์ ต้องมีกติกากันบ้าง แต่ไม่ใช่ห้าม ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ช่วยกันดูแล ไม่ใช่ฟัน แล้วทิ้งเพ่นพ่าน ปล่อยเป็นภาระคนอื่น การดำเนินการคงให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมตำบล ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนจะมาดูแลตรงนี้ด้วย ส่วนผมจะหางบและใช้นักเรียนต้นกล้า มาเป็นตัวหลัก”
เนื่องจาก เรืองวิทย์เป็นวิทยากรของโครงการต้นกล้าอาชีพ เขาจึงเห็นแนวทางจะขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มคนพวกนี้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเขา ซึ่งรุ่นแรกผ่านการอบรมไปแล้ว 50 คน
“ถ้าเราเอาผลประโยชน์จากต้นไม้ จากผืนป่า แต่ถ้าเราไม่รู้จักปลูก มันมีแต่หมด เสื่อมโทรม ตรงกันข้ามถ้ามีป่าสมบูรณ์ นก แลน สัตว์ป่า จะมาอาศัย อย่างต้นเปล้า (ม่าว) ยอดกินเป็นผัก ลูกกินได้ ทำยาได้ เราอยากรักษา ขยายพันธ์ นกชอบอยู่ กินแล้วถ่ายเมล็ด เกิดต้นไม้ใหม่งอกขึ้นมาอีก”
เรืองวิทย์ว่ามั่นใจว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อแบบหาแนวร่วมเพิ่มขึ้น เน้นการพัฒนาคน ดูแล พึ่งตัวเอง กิจกรรมปลูกป่าวันนั้นนับเป็นจุดแรกที่พยายามดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เพื่อให้เกิดพลังชุมชนแท้จริงเท่านั้น
อธิก เซ่งฉิ้ว ประธานกองทุนสวัสดิการ หมู่ 7 ตำบลชิงโคเล่าว่า พื้นที่สาธารณะของตำบลชิงโค มีน้อย คงเหลือแต่ตรงนี้
“ถ้าไม่มีสำนักสงฆ์ ไม่มีเจดีย์โบราณปรากฏอยู่ รับรองว่าโดนขาย กลายเป็นของนายทุนหมด จึงต้องการพัฒนา เป็นที่พักผ่อนใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้าน ชุมชน”
จรัญ แสงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชิงโค กล่าวว่า การปลูกป่าชุมชนเป็นการทำงานหลายภาคส่วน วันนี้ อบต.ชิงโค เป็นพี่เลี้ยง มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง มีการทำกิจกรรมด้วยกันเป็นประจำ สำหรับการมาปลูกในวันปิยมหาราช ถือเป็นการปลูกต้นไม้ถวายพระองค์ท่านด้วย
ทวีวุฒิ สังข์ศิริ นายอำเภอสิงหนคร กล่าวว่า ปัญหา สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญ
“พวกเราต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ ปลูกแล้วต้องมาช่วยกันดูแล หลายแห่งที่ปลูกแล้วฝากเทวดา คือ ดินฟ้าอากาศ ซึ่งบางทีไม่ได้ผล ผมอยากฝากนายก อบต.ว่าเอางบที่ทำป้ายรณรงค์ปลูกต้นไม้ มาปลูกต้นไม้จริงๆ จะดีกว่า”
ด.ช.ธีรภัทร์ นิลวงศ์ นักเรียนชั้น ม.1/3 โรงเรียนสงขลา เล่าว่า เขาเป็นสมาชิกสภาเด็กอำเภอสิงหนคร กิจกรรมนี้เขาชวนเพื่อนข้างบ้าน มาร่วมปลูกป่าชุมชน
“ผมคิดว่าป่าชุมชนสำคัญ เพราะถ้าหมดป่าชุมชนไป บ้านเราก็จะไม่เหลืออะไรแล้ว จะเกิดโลกร้อน” เขาเล่าต่อว่าได้ร่วมกับผู้ใหญ่ปลูกป่า ทำมาหลายครั้ง โรงเรียนก็เคยพามาปลูก
“สภาพเดิมที่นี่เป็นป่าทราย เพิ่งจะมีไม้ขึ้นมา ปกติที่นี่เป็นที่รวมของชาวบ้าน สำนักสงฆ์มาทำบุญอยู่ ในป่านี้มีของกินได้ อย่างลูกกำชำ ลูกทุ ผมก็กินเป็น
แต่ ที่ดินบริเวณนี้ ไม่ใช่ป่าชุมชนทั้งหมด บางอันมีเจ้าของ อย่างที่ติดกันเป็นรีสอร์ท”
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ