การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
เวบไซค์ www.songkhlahealth.org เป็นการดำเนินงาน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็นฐานข้อมูล แต่นับว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมด
ภาณุมาศ นนทพันธ์หรือที่ทุกคนเรียกติดปากว่า “พี่หมี” โปรแกรมเมอร์ ผู้ประสานงานประเด็นฐานข้อมูล เล่าว่าการจัดการข้อมูลได้ทำหน้าที่สนับสนุนส่วนอื่นๆ
บนแนวคิดว่าการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะระดับจังหวัด การรับรู้ข้อมูลพื้นฐานทุกด้าน ล้วนจำเป็นและต้องมีการสำรวจรวบรวมนำมาประมวลผลไว้เพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการทำงานกับทุกหน่วยงาน
ขณะที่การจัดการความรู้ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างเสริมศักยภาพ และสนับสนุนการทำงานให้เป็นระบบมีประสิทธิภาพ ต้องให้ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพตระหนัก แม้ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทยและเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำงานของภาคองค์กรประชาสังคม การนำความรู้เหล่านี้มาประมวลผล สังเคราะห์ เพื่อสะท้อนกลับไปใช้ประโยชน์จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการทำงาน
“งานข้อมูลเริ่มจากเวบไซค์ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเก็บข้อมูล” พี่หมีเล่า เพราะหลังจากทำเวบไซค์จึงเริ่มมองเห็นช่องทางบางอย่าง เช่นการจัดการรายชื่อคนทำงานในเครือข่าย
ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การเซ็น MOU ทำแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ที่ห้องทองจันทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นมา แค่ชิ้นงานธรรมดาสามัญสามารถอำนวยความสะดวกในการสืบค้น ติดต่อ ประสานงาน จนถึงขณะปัจจุบันมีรายชื่อเกือบสี่พันคนและเพิ่มขึ้นทุกวัน
“นั่นถือว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นว่าถ้ารู้จักนำข้อมูลใช้งานจริงจะเกิดประโยชน์มาก”
ในเวบไซค์ www.songkhlahealth.org ทุกวันนี้มีคนเข้ามาดูเฉลี่ยวันละ 1,000 คน ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่าผู้เข้ามาเยี่ยมชมเป็นใครบ้างนั้น พี่หมีตั้งใจให้เป็นศูนย์รวบรวมการทำงานของทั้งเครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ต้องการเป็นตัวเชื่อมให้เห็นว่าใครทำกิจกรรมอะไรอย่างเป็นปัจจุบันและใกล้ชิด
“ใจผมอยากให้เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ขึ้นไว้ในเวบ ฯไม่ว่า การจัดประชุม เวที น่าจะมีภาพถ่ายมาแสดง เล่าเรื่องราวให้คนอื่นได้รับรู้ แต่ปัจจุบันคนทำงานเองยังไม่นำมาเล่าต่อเท่าใดนัก”
เหตุเช่นนั้นพี่หมีมองว่าเพราะวัฒนธรรมการนำข้อมูลมาสื่อต่อของคนทำงานทั่วไปยังไม่เกิดขึ้นจริง
หากมองภาพรวมด้านสุขภาพ แม้ว่าองค์กร/หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน เห็นถึงความสำคัญในการจัดการและพัฒนาระบบข้อมูล ได้มีการจัดเก็บ และได้พยายามพัฒนาวิธีการจัดเก็บข้อมูลและพัฒนาระบบฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานนั้นๆ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ยังคงเป็นไปในลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการ โดยขาดการประสานงานกัน ส่งผลให้เกิดการซ้ำซ้อนของข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปแบบแยกส่วน ไม่ได้มีการดำเนินการในภาพรวม ทำให้การแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สิ่งที่ประเด็นฐานข้อมูลต้องการขยับมากขึ้น ยังเกี่ยวโยงไปถึงทำงานภาครัฐ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอันมีฐานข้อมูลมาจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัยและโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับเครือข่าย
“ตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรค เส้นทางเป็นอย่างไร วิเคราะห์ผลลัพธ์ ออกมาใช้งาน ข้อมูลลักษณะนี้จะช่วยการทำงานหลายอย่าง”
ยุคสมัยนี้มีการพูดถึงข้อมูลระบบ GIS กันมากพี่หมีเล่าว่าตนเองได้คิดจะทำเรื่องนี้มาก่อนราว 10ปี เพียงแต่สมัยนั้นไม่มีความพร้อม ในการดำเนินงาน อย่างเช่นแผนที่ ซึ่งมีความยุ่งยากมากขณะปัจจุบันการทำข้อมูลแบบ GIS ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่ผลประโยชน์ทางด้านข้อมูล ก็ยังขึ้นกับความต้องการและการใช้งานจริง
“เพราะข้อมูลดิบ คำพูด ตัวหนังสือ ตัวเลข ตาราง เป็นกราฟ ก็วิเคราะห์ได้เช่นเดียวกัน แต่ระดับของการเข้าใจอาจต่างกัน ถ้ามีแผนที่มาแปะอย่าง GIS จะเห็นภาพ ชัดเจน มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น ทำให้ดูง่าย เข้าใจง่ายกว่า จากการคุยในทีม ข้อมูล เราสรุปว่าจะพยายามเอา GIS เข้ามาร่วมกับข้อมูลดิบที่มีอยู่”
พี่หมีเล่าว่าคนทำงานของประเด็นฐานข้อมูลมี 2 ทีม ประกอบด้วย ส่วนที่ทำวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูล อีกส่วนคือทีมทำข้อมูล ซึ่งกลุ่มหลังมองว่าต้องเป็นคนที่อยู่ในภาคีเครือข่ายที่ทำงาน เพราะเป็นเจ้าของข้อมูล
“เราไม่สามารถไปเขียนสื่อถึงเขาได้เขาต้องเป็นคนผลิตข้อมูลขึ้นมาเอง เมื่อเขามีข้อมูลในมือ ต้องเอาข้อมูลมาดำเนินการต่อ คงไม่มีใครทำได้ดีเท่าและทำได้ทั้งหมดเท่าเขา”
สถานการณ์ด้านข้อมูลที่เป็นอยู่ พบว่ายังเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างการพัฒนาระบบจัดเก็บ กับการหาข้อมูล พี่หมีเห็นว่าทั้งสองส่วนต้องทำงานอย่างสอดคล้อง แม้ที่ผ่านมายังยากในการชักชวนเครือข่าย มาร่วมสร้างข้อมูลแต่อนาคตน่าจะมีความชัดเจน
ทิศทางอย่างหนึ่งกรณีเวบไซค์ เขามองว่าไม่ควรจำกัดแค่ www.songkhlahealth.org แต่มุ่งหวังให้เครือข่ายแต่ละประเด็นในแผนสุขภาพสงขลา จัดการข้อมูล และมีเวบไซค์เฉพาะของตัวเอง
“ประเด็นต่างๆต้องมีพื้นที่เฉพาะด้านของตัวเองขึ้นมา เรากำลังขยับตรงนี้ไปเรื่อยๆ อย่างประเด็นคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มสื่อก็มีเวบ ขึ้นมาแล้วและอีกหลายเวบ ก็คงมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ”
พี่หมียอมรับว่าสื่อทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียเสมอ
อินเตอร์เนทอาจมีข้อดี คือสามารถรวมสื่อได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่า ภาพ เสียง วิดีโอ ข้อความ สามารถหยิบมาดูตอนไหนก็ได้ เล่นย้อนหลังได้ และเก็บข้อมูลได้มาก แต่ข้อเสียคือเข้าถึงไม่ทุกกลุ่มคน
“ขนาดคนทำงานแผนสุขภาพเองก็มีคนเข้าถึงสื่อ เวบฯ ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำบางคนทำงานไม่มีเวลามาเปิดเวบฯ หรือดูข่าวสาร มีคนรุ่นใหม่เท่านั้นสนใจ” พี่หมีว่าแม้เขาเองสามารถสนับสนุนได้ดีเรื่องเทคนิคโดยเฉพาะการเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ แต่สุดท้ายคาดหวังจากเครือข่ายมาช่วยกันสร้าง ป้อนข้อมูลให้ และหวังว่าในที่สุดแต่ละกลุ่มจะมีเวบไซค์ตัวเอง
“คนเกี่ยวข้องโดยตรงต้องสร้างข้อมูล เมื่อมีการสร้างการใช้ จะรู้ว่าพัฒนาต่อไปอย่างไร ทำอย่างไรให้เขาผลิตข้อมูลเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงาน เกี่ยวกับข้อมูล การเผยแพร่ และเทคโนยีแบบใหม่” พี่หมีว่า
สุจิตร คงจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา คณะทำงานประเด็นฐานข้อมูล เล่าว่าแต่ละประเด็นในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลามีข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรมาเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน
“งานฐานข้อมูลมี 2ส่วน ส่วนหนึ่งพี่หมี(ภาณุมาศ นนทพันธ์) ดูอยู่ ข้อมูลมาจากเครือข่ายภาคประชาชน 14 อีกส่วนคือการเชื่อมโยง ประสานต่อข้อมูลภาครัฐที่พี่ (สุจิตร) ดูแลอยู่”
สุจิตรเล่าว่าฐานข้อมูลภาคราชการที่เขารับผิดชอบมาจากระบบโรงพยาบาล สถานีอนามัย เป็นชุดมาตรฐานข้อมูลกลาง มาสังเคราะห์ ออกแบบผลให้ ประชาชนทั่วไป ใช้ประโยชน์ โดยทำมาเป็นเวบไซค์ ลักษณะของ policy maker
ระบบข้อมูลสุขภาพของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดสงขลา เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลสุขภาพที่มีการจัดเก็บขององค์กรภาครัฐ ในจังหวัดสงขลาใช้วิธีศึกษา สถานการณ์ ในพื้นที่ และรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและข้อมูลในระบบรายงาน ซึ่งงานข้อมูลข่าวสาร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
การจัดการบริการสาธารณสุข จังหวัดสงขลา แข่งตามระดับการให้บริการ เป็น 5 ระดับ คือการดูแลสุขภาพด้วยตนเองในระดับครอบครัว การบริการสาธารณสุขมูลฐาน การจัดบริการสุขภาพระดับต้น การจัดการสุขภาพในระดับกลาง การจัดบริการสุขภาพระดับสูง และแบ่งระดับสถานบริการเพื่อรองรับกับการจัดสถานบริการตาม GIS (Geographic Information System) โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการเป็นเครือข่าย ของกระทรวงสาธารณสุข ตามระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ แบ่งเป็น 6 ระดับ คือ
- หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ระดับ 1
- โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.1
- โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2
- โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.3
- โรงพยาบาลศูนย์ทั่วไประดับ 3.1
- โรงพยาบาลระดับ Excellence Center ระดับ 3.2
ระบบข้อมูลสุขภาพ ในระดับบิรการปฐมภูมิ จัดตามมาตรฐานการจัดระบบบริการปฐมภูมิ ที่ทำให้ พิจารณาความต่อเนื่องของการมารับริการได้ชัดเจน มีมาตรฐานการบริการ และระบบการตรวจสอบที่ทำให้บริการมีความต่อเนื่อง การเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอย่างเป็นระบบ ครบถ้วนและต่อเนื่อง มีการบันทึกข้อมูลที่จำเป็นของผู้รับบริการตามลำดับเวลา มีการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ สภาพน้ำหนัก ภาวะโภชนาการ มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระบบการจัดระบบเก็บข้อมูลที่มีการปรับข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา มีระบบป้องกันการสูญหาย การสื่อสารข้อมูล ความรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้เข้าใจถึงการมารับบริการที่สถานพยาบาลนี้ และการดูแลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย จากข้อกำหนดตามมาตรฐานดังกล่าว จึงเป็นหลักการสำคัญที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการให้บริการในสถานบริการ และบริการต่อเนื่องที่บ้าน ซึ่งเป็นข้อมูลทั้งในระดับรายบุคคลและครอบครัว เป้าหมายสำคัญ คือการทำให้มีข้อมูลทางด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สำหรับสมาชิกทุกคน เพื่อทำให้เห็นการเชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆทางด้านสุขภาพ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ถูกแยกออกจากกันด้วยการดำเนินไปของเวลา
ระบบข้อมูลในหน่วยบริการทุติบภูมิ ,ตติยภูมิ หรือระดับโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนาโปรแรกมเพื่อบันทึกข้อมูลบริการและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้เพื่อการบริหารจัดการและกิจกรรมต่างๆ โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นสำรับใช้ในโรงพยาบาล เพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วยและช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการผู้ป่วย มีลักษณะ เป็น Hospital Information System มีระบบงานย่อยดังนี้
- ระบบงานเวชระเบียนผู้ป่วยนอก
- ระบบงานซักประวัติ
- ระบบงานตรวจรักษา
- ระบบงานทันตกรรม
- ระบบงานห้องจ่ายยา
- ระบบงานชันสูตร
- ระบบงานห้องฉุกเฉิน
- ระบบงานแผนกผู้ป่วยใน
- ระบบงานห้องชำระเงิน
- ระบบงานรังสีวินิจฉัย
- ระบบงานบริหารเวชภัณฑ์
- ระบบงานสารบรรณ
- ระบบงานจัดการตารางนัดหมาย
- ระบบการแสดงประวัติผู้ป่วยผ่านเวบไซค์
- ระบบเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบ
- ระบบงานสำรองข้อมูล
การนำไปใช้ประโยชน์ จัดทำเป็นคลังข้อมูล รวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้น ในระบบปฏิบัติการ จากทุกหน่วย ทุกแผนกในหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วจะถูกนำมาจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลาง และข้อมูลที่รวบรวมได้จะถูกใช้ในการทำรายงานและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารทุกระดับ โดยข้อมูลในระบบงานต่างๆ สามารถเข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย ข้อมูลมีความเชื่อถือได้ ข้อมูลมีระบบป้องกันให้เฉพาะผู้ที่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล นอกจากจะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการให้บริการรักษาพยาบาลหรือบริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบประวัติการรักษาของผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อากรบริหารจัดการเพื่อการตัดสินใจในการวางแผนพัฒนา หรือแก้ไขปัญหา เช่น ข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อหัว ผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่มารับบริการมากที่สุด ผู้มารับบริการ จำแนกตามสิทธิ สิทธิใดมีค่าใช้จ่ายสูงสุด แพทย์คนไหนตรวจผู้ป่วยน้อยที่สุด มูลค่าการใช้ยา 20 อันดับแรกของโรงพยาบาล จำนวนผู้ป่วยที่รับบริการแผนกใดช่วงเวลาไหนมากที่สุด
“ข้อมูลภาครัฐ ที่ผ่านมา สื่อเป็นคนใช้ ส่วนอื่นยังไม่ค่อยดึงมาใช้ข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจแล้ว ก็เช่นโรคระบาด ผู้บริหารจะนำมาตัดสินใจ ปกติ รัฐจะมีการสรุปสถานการณ์แบบนี้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ใช้ เข้าถึง หรือเอาบทเรียนดีๆไปลงไว้ หรือการเชื่อมโยงเวบไซค์ เพื่อต่อข้อมูลสุขภาพทั้งจังหวัด”
สุจิตรมองว่าข้อมูลราชการ มีการปรับข้อมูลให้ทันสมัย ตามระบบการใช้ประโยชน์อย่างกรณีเกิดโรคระบาดรุนแรง จะใช้เป็นฐานสำคัญเข้าไปควบคุมโรค สำหรับภาคประชาชน เมื่อรู้เรื่องนี้จะได้เข้าถึงวิธีป้องกันรักษา หรือชาวบ้านอาจจะได้ประโยชน์ เช่น อยากรู้ว่าน้ำยี่ห้อไหน ตรวจผ่านคุณภาพ จะได้ไปซื้อ นี่คือการใช้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์ ต่อชาวบ้านอย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน
ในการขับเคลื่อนงานประเด็นฐานข้อมูล สุจิตรเล่าว่ามาจากการจัดเวที 3-4 รอบ เพื่อทราบความต้องการในการใช้ข้อมูล จาก 14 ประเด็น พบว่า หลายส่วนยังขาดความเชื่อมโยงข้อมูล ต่างคนต่างหาข้อมูลเอง ยังไม่มีข้อมูลกลางที่ทุกคนจะมาใช้ร่วมกันได้
“ สุดท้าย เราจึงมองข้อมูลว่ามี 3 ส่วนคือข้อมูลที่มีอยู่ในระบบแล้ว ข้อมูลที่ไม่มีในระบบ ต้องเก็บเพิ่ม และข้อมูลที่ไม่พบมาก่อน ซึ่งมีการออกแบบว่าจะเอาข้อมูล ทั้งหมดนี้ไปใช้อย่างไรใน 14 ประเด็นของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา”
สุจิตรเล่าว่า การทำงานที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูล มีทีมโปรแกรมเมอร์ เอาข้อมูลเอาไปแสดงผลออกมาเผยแพร่ในเวบไซค์และสื่อต่างๆ งานอีกส่วนหนึ่งได้ไปพัฒนาคนใน 14 ประเด็น เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนา งานข้อมูลของแต่ละเครือข่ายองค์กรเอง
“ ถ้าคนที่ทำงาน14 ประเด็นสามารถเป็นผู้ทำข้อมูลจะทำได้ดีและชัดเจนกว่า จะทำอย่างไรให้ทีมทำงานดังกล่าวต่างเอาข้อมูลมาลงเวบฯให้ได้ โดยทั่วไปคิดว่าคนในเครือข่ายตัวเองทำอะไร ก็อยากรู้ว่า คนอื่นเขาทำอะไรเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เองเมื่อนำมาแสดงให้เห็นจะเป็นบทเรียนที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน สามารถนำไปประยุกต์ต่อกันได้”สุจิตรมองเป้าหมายที่ยังเดินไม่ถึง.
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ