ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
ด้วยแนวคิด ยึดเกียรติ ศักดิ์ศรี ความสุข เพื่อนำผู้สูงอายุกลับคืนสังคม
ของสมาคมเครือข่ายสุขภาพผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา หลายปีที่ผ่านมาจึงมีส่วนสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
ภาพผู้สูงอายุหันมาออกกำลังกายเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ นางเสาวนีย์ ประทีปทอง หรือ “ป้าเสา” อุปนายกสมาคมฯ เล่าว่าเป็นผลจากการขับเคลื่อน ของ สาขาการพัฒนาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา และสมาคมเครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา สององค์กรเป็นแกนหลักทำงานร่วมกับชมรมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา จำนวน 168 ชมรมจาก 16 อำเภอในสงขลา
ปลุกกระแสออกกำลังกายได้ผล
“การสร้างกระแสออกกำลังกายสำเร็จเป็นผลงานที่เราภาคภูมิใจมากที่สุด อันนี้มาจากโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่ง สสส. สนับสนุนงบติดต่อมาสาม-สี่ปี”
ป้าเสาเล่าว่าการขยายเครือข่ายออกกำลังกายโดยใช้ท่าออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าโนราประยุกต์ (โนราบิค) รำไม้พลอง และระบำผ้า
เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยเชิญตัวแทนชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลามาอบรม ตัวแทนเหล่านี้ก็จะกลับไปฝึกให้กับสมาชิกของตนเอง
“ท่าการออกกำลังกายเราคิดขึ้นมาเองโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโนรา ระบำผ้า มาขณะเดียวกันเชิญผู้เชี่ยวชาญทางเวชศาสตร์การกีฬาเข้าประเมินให้ความรู้ ว่าท่าแบบไหนจะเหมาะสมกับผู้สูงอายุ อันไหนไม่เหมาะสม เขาก็จะแก้ให้ถูกหลักเมื่อลงตัว สามารถนำไปออกกำลังบริหารได้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อ”
ป้าเสาเป็นตัวหลักในการออกแบบ พร้อมเฟ้นวิทยากรต้นแบบมาฝึกซ้อมก่อนจัดอบรมกับชมรมต่างๆ และเพื่อความยั่งยืนได้นำเรื่องนี้เป็นวาระ เข้าที่ประชุมของประธานชมรมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลาทั้ง 168 ชมรม กำหนดเป็นนโยบายของสมาคมฯ เอาการออกกำลังกายนี้เข้าร่วมกับกีฬาลำดวนเกมส์ซึ่งเป็นกีฬาผู้สูงอายุของจังหวัดสงขลาอย่างเป็นทางการ
“ตอนแรกคนที่ฝึกเป็นแล้วจะต้องกลับมาแข่งกันในลำดวนเกมส์ แต่พอมาตอนหลังเขาบอกว่าอย่าแข่งกันเลยให้กลับมาโชว์อย่างเดียว”
ในการแข่งขันกีฬาลำดวนเกมส์นี่เองสมาคมฯ ได้เครือข่ายเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มีการเปลี่ยนแปลงท่าออกกำลังกายจากรูปแบบต่างๆอีกชั้น นอกจากลดความจำเจยังกระตุ้นชมรมต่างๆ หันมาสนใจออกกำลังกาย ด้วยท่าออกกำลังกายจะไม่หยุดนิ่งกับรูปแบบเดิม
“หลังจากทำเรื่องโนราบิคเรามาคิดเรื่องการออกกำลังกายโดยใช้ผ้าเป็นอุปกรณ์ซึ่งสวยงาม ด้วยท่วงท่าเฉพาะสามารถบริหารร่างกายได้พลัง ได้การการเต้นหัวใจ ตามหลัก วิชาการ และยังได้การบริหารกล้ามเนื้อทุกส่วน”
ก่อนทำโครงการนี้ป้าเสาเล่าว่าได้ทำการสำรวจในจังหวัดสงขลาพบว่า ปัญหาผู้สูงอายุมี 2 ประการสำคัญคือ 1 .ไม่ออกกำลังกาย 2. เป็นโรคกันมาก แต่การอบรมถ่ายทอดความรู้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ครบในครั้งเดียว ต้องจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถขยายเครือข่ายออกไปกว้างขวางได้
“เราภาคภูมิใจว่า จากที่ผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลา ไม่ค่อยออกกำลังกายกันเลย หันมาออกกำลังกายเป็นประจำมากขึ้น หลายชมรมหันมาทำประจำ อย่างที่หาดใหญ่ 3-4 ชมรม พื้นที่อื่นมี รัตภูมิ สทิงพระ ระโนด นาหม่อม สะเดา นาทวี เทพา”
กลุ่มออกกำลังกายเหล่านี้ใช้สถานที่ที่จัดหาเองภายในชุมชนตัวเอง บางแห่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาให้ อย่างที่เทศบาลตำบลเทพา ลงทุนทำลานออกกำลังกายให้ กลุ่มผู้สูงอายุที่มาออกกำลังกาย ส่วนมากอายุ 60-89 ปีร่วมกับสมาชิสมทบมีอายุ 45 ปีขึ้นไป จำนวนผู้มาออกกำลังกาย บางชมรมออกมา 50-60 คน บางชมรมสมาชิกมีภาระการงานออกมาประจำไม่ได้ อาจจะตกอยู่ ราว 30-40 คน บางชมรมมีการนัดทุกวัน บางชมรมอาจนัดสัปดาห์ละ 3วัน ซึ่งโจทย์ระยะใกล้คือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เขาหันมาออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ให้ได้ทุกชมรม
“มันขยายไปทั่วแต่ว่ายังมีชมรมที่ไม่ค่อยออกกำลังกายอยู่อีก เพราะว่า เรายังไม่ได้เรียกมาอบรมครบ 168 ชมรม แต่ที่ผ่านอบรมเกือบ 80 ชมรมแล้ว”
ป้าเสาว่า ท่าออกกำลังกายขณะนี้ยังผูกติดอยู่กับ โนราบิค ระบำผ้า ไม้พลอง ส่วนไทเก๊ก เป็นอีกประเภทหนึ่งที่บางชมรมเล่นอยู่ เพียงแต่ยังไม่ขยายเครือข่าย
ใครจะเล่นอะไร ทางชมรมฯจะเป็นผู้เลือกเอง ป้าเสายังคิดท่าใหม่ เพื่อให้เขาจะตื่นเต้น สนุก หวังให้การออกกำลังกายในกลุ่มผู้สูงอายุมีความยั่งยืน รักการออกกำลังกาย และขยายให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในสงขลา
ปัจจุบันพื้นที่ชนบทห่างไกลออกไปยังไม่มีความพร้อมหลายเรื่องทั้งวิทยากร งบประมาณสนับสนุน ระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท พบว่าผู้สูงอายุในเมืองจะมีมากกว่า อย่างเช่นหาดใหญ่จะมีกลุ่มออกมารำประจำ ส่วนชนบทยังมีข้อจำกัดอื่นอีกเช่นเรื่องอาชีพ บางคนช่วงเช้าออกกรีดยาง ตอนเย็นต้องจัดแจงอาหารการกิน ไม่สามารถมาร่วมออกกำลังกายได้
“จากที่เราไปติดตาม เขามาบอกว่าออกกำลังกายแล้วลดการ เจ็บ เข็ด เมื่อย โรคข้อหลังออกกำลังกายต่อเนื่อง 2-3 เดือน หลายคนหายปวดหลัง ปวดเอว ปวดเข่า ความดันลด น้ำตาลลดแข็งแรงขึ้น ภูมิแพ้ ที่เคยเป็นหายไป”
สมาชิกชมรมผู้สูงอายุหลายคนยอมรับว่าผลการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ที่ผ่านมาพวกเขาไม่มีโอกาสได้ออกำลังกาย เพราะ ชมรมไม่มีวิทยากรไปสอน ไม่มีใครมากระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย
ครั้นเห็นความสำคัญ บางคนจึงยอมสละเวลาทำงานมาออกกำลังกาย หรือจัดตารางออกกำลังกายให้ตัวเองให้เหมาะสม
ท่าออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุเหมาะกับคนทุกวัย เพียงแต่วัยรุ่นชอบอะไร ที่เร็วๆ แบบแอโรบิค ขณะเดียวกันแอโรบิคซึ่งเป็นของคนวัยอื่นนั้นไม่เหมาะกับผู้สูงอายุอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการกระแทกส่งผลให้ปวดเข่า กลับจากแอโรบิคหลายคนต้องไปหาหมอหรือถูกนำส่งโรงพยาบาล
“เล่นไม้พลอง ทำให้ได้พลัง คนนิยมเยอะ ได้รับการตอบรับกว้างออกไปเรื่อยๆ ดูจากที่ป้าได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรสอนให้กลุ่มต่าง ๆ สิ่งที่ยังไม่ได้ทำคือขยายไทเก๊กออกให้กว้างไปกว่านี้ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไปช่วยระบบหายใจ ช่วยทำให้ปอดมีพลัง หัวใจ ตับไต ไส้พุง แข็งแรงขึ้น”
บางคนมองว่าการทำงานของผู้สูงอายุคือการออกกำลังกายอยู่แล้ว ซึ่งป้าเสาเห็นว่าอาจไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ การออกกำลังกายอย่างถูกหลักต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที บริหารกล้ามเนื้อ ทุกส่วนให้ได้ การใช้ท่าออกกำลังกายมีจังหวะช้าและเร็วขึ้นตามขั้นตอน
การทำงานปกติก็ได้พลังเหมือนกัน แต่เนื่องจากไม่ได้ทำติดต่อ และบริหารร่างกายทุกส่วน ยกตัวอย่าง กรีดยาง แม้ว่าออกแรงแต่ไม่ถูกหลักของการออกกำลังกาย ต้องปวดเอวกับการก้มๆเงย ๆ การเดินและหยุดที่มีจังหวะไม่สม่ำเสมอ
นอกจากผลทางกาย การออกกำลังกายได้ผลทางใจ ได้มาก เพราะการที่ผู้สูงอายุได้ไปออกกำลังกายร่วมกันจะมีความสุข
“อย่างชมรมออกกำลังกายที่ป้าทำอยู่ ทุกคนจะมีความสุขมาก การที่เขาได้รำ แสดงออกจะมีความสบายใจ ได้พบเพื่อนได้คุย เช้าๆได้มาสวัสดีกันได้พูดคุยกัน มาพบกันบางคนรำสวย คนอื่นชมก็ยิ้ม คนที่ออกำลังกายเป็นประจำ จะสดชื่นไม่เครียด ตอนออกกำลังกาย จะทิ้งความกังวล ความเครียดหมด จะมานึกถึงท่าที่กำลังทำ ให้ถูกต้อง สวยงาม”
ป้าเสามองถึงความสำคัญของการออกกำลังโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุว่านับวันจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพิษ โรคร้ายๆยิ่งแรง ถ้าร่างกายแข็งแรง สามารถมีภูมิคุ้นกันอยู่ ถ้าไม่ออกกำลังกายร่างกายจะไม่สามารถต้านโรคที่มาแรงๆได้
“ป้าไม่ได้พูดเรื่องออกกำลังกายอย่างเดียวแต่พูดเรื่องอาหารปลอดสารพิษ รู้จักเลือกอาหารที่มีประโยชน์ สิ่งแวดล้อมก็ต้องดี”
สำหรับการออกกำลังกายส่วนหนึ่งที่สำคัญ ป้าเสามองข้างหน้าต่อไปว่าจะมีโครงการต่อเนื่อง ขยายเครือข่าย และหาท่าใหม่สำหรับผู้สูงอายุอยู่ เรื่อยๆ
ร่วมสร้างชุมชนสันติสุข
“บทบาทผู้สูงอายุในการสร้างชุมชนสันติสุขเป็นโครงการแรกของปี 2552 เรามุ่งหวังว่าผู้สูงอายุซึ่งมีประสบการณ์และมีเวลาว่างมาก ควรทำประโยชน์สังคมให้ตัวเองรู้ว่ามีบทบาทอะไรบ้างที่จะช่วยสังคมได้”
ป้าเสาเล่าของอีกบทบาทหนึ่งภายใต้การขับเคลื่อนของสมาคมเครือข่ายผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา
“เราเรียกผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ามารับการอบรม คัดเลือกจากตัวแทนชมรมผู้สูงอายุ ที่อยู่ในพื้นที่ประชาชนสองหรือสามศาสนาอยู่ร่วมกัน เช่นสะพานไม้แก่น จะโหนง นาทับ พะวง บ้านหาร บางกล่ำ”
กลุ่มเป้าหมาย 20 คน กำหนดคุณสมบัติ ต้องเป็นผู้สูงอายุ เป็นคณะกรรมการ ของชมรมผู้สูงอายุ เป็นผู้นำศาสนาอิสลาม ชาวไทยพุทธ ที่มีบทบาท พลังในชุมชน
ส่วนวิทยากรเราเชิญผู้มีความรู้ ประสบการณ์ ผ่านการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการสร้างชุมชนสันติสุขมา
กลุ่มเป้าหมายได้มา ค้นหาปัญหา ระดมพลังสมอง ส่วนวิทยากรให้ความรู้ว่าการสร้างชุมชนสันติสุขจะต้องมีองค์ความรู้อะไรมาเกี่ยวข้อง
“เราให้เขาคิดว่าเมื่อเขาต้องเจอปัญหาเขาจะใช้วิธีจัดการอย่างไร วางแผนว่าทำอย่างไร ซึ่งในกระบวนการนี้ เราเห็นว่าแต่ละท้องถิ่นปัญหาหนักคือยาเสพติดถัดมาคือ ลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาการอยู่แบบไม่เอื้ออาทรเท่าที่ควร ปัญหารถซิ่ง ปัญหาครอบครัว แตกแยกขาดความอบอุ่น”
บทบาทผู้สูงอายุในการสร้างชุมชนสันติสุข พวกเขาได้กลับไป แต่งตั้งคณะกรรมการในชุมชนดึงส่วนต่างๆ เช่น อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสาธารณสุข ผู้นำ ศาสนา ฯลฯ เข้ามารับรู้และร่วมขับเคลื่อนโดยสมาคมเครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา ยังคอยเป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับวิทยากรเฉพาะด้านนี้ เพื่อร่วมแก้ปัญหา
“คำว่าทำให้สันติสุข อาจจะเป็นการปลูกต้นไม้ ก็ได้หรือว่าจัดกิจกรรมร่วมกัน ขุดคลอง บำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งพวกเขาต้องออกแบบกันเอง จะได้เกิดความสามัคคีกัน ผลจะได้กับชุมชนของเขา”
ป้าเสาเล่าว่าหลังจาก 2 เดือนไปติดตามมีชมรมที่ทำงานได้ผลดี เห็นผลถึงการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือที่สะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ ปัญหาชุมชนที่นี่คือเด็กติดยา ผู้รับผิชิบโครงการได้จัดเดินรณรงค์ชวนคนกลุ่มอื่นเข้ามาร่วม ให้กำลังใจหมู่บ้านต่างๆ จัดแข่งขันกีฬา ประกาศแนวคิดร่วมกันทำให้หมู่บ้านปลอดยาเสพติด
ผู้สูงอายุที่สะพานไม้แก่นซึ่งมาทำโครงการนี้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีขึ้น การถูกยอมรับจาก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ พี่น้องประชาชน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองก็มีคุณค่าทางสังคม
นับเป็นปีแรกที่ผู้สูงอายุมีบทบาท หันมาช่วย สังคม ชุมชนของเขาเอง เท่ากับส่งเสริมบทบาทผู้สูงอายุให้อยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีเกียรติ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
พบผู้สูงอายุยังถูกทอดทิ้ง
ป้าเสาเล่าว่าจากการออกเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุยากไร้ถูกทอดทิ้ง ของคณะกรรมการสมาคมเครือข่ายสุขภาพ พบผู้สูงอายุยากไร้ถูกทอดทิ้ง ในอำเภอต่างๆของจังหวัดสงขลา มีความเป็นอยู่ลำบาก ทุกข์ยาก เหงาหงอย
บางคนพิการ อาศัยอยู่ในกระต๊อบผุๆ ห่างจากเพื่อนบ้าน ลูกหลานมีคนเดียว นานๆจะมาดูแลสักครั้ง ได้เพื่อนบ้านผลัดกันให้อาหารให้น้ำ บางวันได้กินเพียงมื้อเดียว บางรายอาศัยอยู่ในวัด ไม่มีรายได้ ได้พระภิกษุในวัดดูแลให้อาหาร ให้ยา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย บางรายไม่มีญาติพี่น้องเลย ไม่มีอาชีพ เนื่องจากชรามาก แต่ได้รับการสงเคราะห์ปลูกกระต๊อบให้อยู่ มีเพื่อนบ้านดูแลให้อาหารกิน และให้ยาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
รายหนึ่งลูกหลานไปทำงานในเวลากลางวัน ปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียวค่ำๆจึงจะกลับมาดู
“การไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ยากไร้ เราทำหลายอย่าง เช่นการแจกถุงยังชีพ ตัดผม ตัดเล็บ วัดความดัน และพูดคุย ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นมีความรู้สึกดีขึ้น”
การที่ทางสมาคมฯ ไดเห็นบ้านผุพัง หลังคา ฝาบ้านไม่มี ได้แจ้งกับสำนักงานพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จังหวัดสงขลา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปช่วยเหลือ
“ชมรมฯเป็นคนแจ้งข้อมูลเราว่าตรงไหนมีผู้สูงอายุ ถูกทอดทิ้งอยู่ หรือว่ายากไร้ ไม่มีใครดูแล ขาดอาหาร เสื้อผ้า เราก็ไปเยี่ยมเราได้ช่วยเหลือ ภาครัฐไปไม่ถึง เพราะบางคนอยู่ในป่า หรืออยู่ในทุ่งนา ดูเหมือนเป็นกระต๊อบร้าง แต่มีคนอยู่ เราเดินไปเสาะแสวงหา คนไม่มีบัตรไปรักษาพยาบาลได้ เราก็ ไปแจ้งจังหวัด เพื่อดำเนินการ อันนี้เราได้ช่วยเขาจริงๆ บางทีไม่มีอะไรกิน นอนไข้อยู่ บางที เป็นแผลเหวอะหวะเรามีทีมพยาบาลไปด้วย”
นอกจากการเยี่ยมเยียน บางพื้นที่ เน้นฝึกอาชีพ เช่น ที่ท่านางหอม และสทิงพระ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรดอกไม้จันทน์ จนกลายเป็นอาชีพ สร้างรายได้ อาชีพอีกอย่างที่ได้รับความนิยมคือนวดแผนไทย ซึ่งผู้สูงอายุนำไปประกอบอาชีพได้จริง
ป้าเสามองถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุสงขลาว่าโดยภาพรวมดีขึ้น มี มีการหันมาออกกำลังกาย และช่วยเหลือตนเอง ให้อยู่ได้แต่ละชมรมพยายามทำกิจรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น พาเขากลับมาสู่สังคม
“จากคนไม่กล้าออกสังคมทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตในสังคม ในนามสมาคมฯ เราทำหน้าที่ให้ความรู้ เวลาเราออกไปชมรม เราก็ให้ความรู้เรื่องดูแลสุขภาพ เป็นงานประจำที่ทำ เราเน้นเรื่องการออกกำลงกาย เรื่อง สุขภาพกาย สุขภาพจิตดี แข็งแรง และอยู่ร่วมกับเพื่อนในสังคมได้ ดูแลการเจ็บป่วยเล็กๆน้อย ๆที่สามารถดูแลด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งหมอ”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สูงอายุจะแข็งแรงขึ้นหรือตื่นตัวมากก็ตาม ป้าเสามองว่าคงต้องเฝ้าดูแลให้ยั่งยืน อย่างการออกกำลังกายต้องสร้างเป็นนิสัยคนไหนที่ทำแล้ว เกิดประโยชน์ ก็ไม่ต้องไปเตือนเขาแล้ว แต่อีกส่วนยังต้องบอก
“ เราพยายามทำงานนี้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด แม้ว่าจะเหนื่อย บางครั้ง เรามาทำตรงนี้อุทิศตนทำงานตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เราอุทิศเวลาเพื่อสังคมขณะเดียวกันต้องดูแลตัวเองในแง่สุขภาพ เพราะสุขภาพดี เราทำงานได้นาน เราพยายามทำให้ผู้สูงอายุ เป็นแบบย่างที่ดีของสังคมเพื่อให้เยาวชนเห็นเป็นแบบอย่าง นั่นคือสิ่งที่เราทำ” .
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ