ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
สมัชชาสุขภาพตำบลพิจิตร “รวมพลคนพิจิตร 5 รั้วรวมใจต้านภัยยาเสพติด” เมื่อ 29 เมษายน2552 ที่ผ่านมามีผู้มาร่วมงานราว 400 คนแสดงให้เห็นความร่วมมืออย่างแข็งขันของชาวตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ทั้งฝ่าย บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ และการเมืองท้องถิ่น
งานจัดขึ้น ณ ศาลาโรงเลี้ยง สำนักสงฆ์โคกพะยอมซึ่งอยู่ติดกับสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พิจิตร บรรยากาศก่อนเที่ยงเริ่มอวลด้วยกลิ่นหอมยั่วน้ำลายจากน้ำแกงขนมจีน ที่นำมาเลี้ยงรับรองผู้มาร่วมงานทุกคน
บ่ายโมงพิธีเปิดโดยนายสมพิศ หาญณรงค์ นายอำเภอนาหม่อม จู่ๆ เกิดลมอื้ออึงมาพร้อมเม็ดฝนกระหน่ำหนักเล่นเอาเต็นท์ทั้งหลังเกือบถูกยกปลิวหายไปตามแรงลม แต่พ้นช่วงเวลานาทีนั้นไปแดดกลับมาสว่างจ้า ทุกอย่างกลับมาสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ใครคนหนึ่งอดไม่ได้ เอ่ยถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำนองว่าฤาผู้ปกปักษ์รักษาลูกหลานจะมาแสดงตัวตนให้ได้รับรู้กระมัง
งานวันนั้นหลอมรวมกิจกรรมสมัชชาสุขภาพตำบล ,5 รั้วรวมใจต้านภัยยาเสพติด และการย้อนตำนานท้องถิ่นเข้า เป็นเนื้อเดียว ไฮไลท์อยู่ที่การเปิดเวทีละคร 5 เรื่องควบ ละครแบบง่าย ๆของชาวบ้าน นักแสดงจำเป็นชนิดคนคุ้นเคย กับผู้ชมคนกันเอง บทละครยกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมาสอดแทรก ทั้งหยอดมุกแซวผู้ชมที่มีตัวเป็นๆ อยู่ตรงหน้า จึงสร้างความตื่นเต้น ฮือฮา ตลอด 3 ชั่วโมงบ่ายวันนั้น
ต้องยอมรับว่า ตำนานอันน่ามหัศจรรย์แห่งชุมชนหลายแห่งที่ถูก เล่าขานส่งต่อมาตามกระแสเวลาแบบปากต่อปาก กำลังสะดุดหยุดลงในโลกของคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชมตำนานอื่นผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบกำลังแห่งตำบลพิจิตรฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งเพราะขณะนั้นทุกสายตาจับจ้องตรงไปยังลานปูนยกสูงในโรงเลี้ยง ที่ดัดแปลงเป็นเวทีละครขนาดย่อม
หลังจากอนันต์ แก้วชนะ กำนันตำบลพิจิตร ประกาศว่าจะมีการบันทึกการแสดงละครเป็นวีซีดีเพื่อจำหน่ายทั่วไปในราคาชุดละ 50 บาท ก็ถึงคิวละครเรื่องแรก “ตำนานวังทวด”แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนวัดเนินพิจิตร ผู้เขียนบทและกำกับคือครูสาโรจน์ สังขวรรโณ ผู้ค้นคว้าข้อมูลตำนานวังทวด แอ่งน้ำขนาดใหญ่กลางป่า
เด็กๆระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนวัดเนินพิจิตร กำลังเดินทางกลับเข้าไปในตำนาน โดยการรับบทตัวละคร ตำนานที่สืบค้นโดยครูสาโรจน์ บอกว่า สมัยก่อนวังทวด เป็นวัง(แอ่งน้ำ)ใหญ่ น้ำใส และลึกมาก โดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้และสัตว์น้ำตามธรรมชาติ
ใกล้วังทวด มีผู้คนไปสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งบริเวณนั้นลักษณะเป็นที่ราบมีสายน้ำไหลผ่าน มีสวนทุเรียน สวนเงาะ สวนจำปาดะ เรียกชุมชนแถวนั้นว่าบ้านขุนขอน เนื่องจากไม้ต้นไม้ใหญ่ล้มอยู่นานหลายสิบปี จนขอนไม้มีเห็ดขึ้นเต็มคล้ายขน ชาวบ้านเรียกว่าขนขอน ต่อมาเพี้ยนเป็นขุนขอน
“ในวังทวดมีทวดเป็นงูใหญ่เฝ้าอยู่ในวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีถ้วยชามลอยขึ้นมาเต็มอยู่ในวัง” ครูสาโรจน์เล่า เมื่อมีงานการ ตามประเพณี มีความจำเป็นต้องใช้ถ้วยชาม ชาวบ้านขุนขอนจะนำธูปเทียน หมากพลู ไปอธิษฐานขอถ้วยชามที่วังทวดมาใช้ เป็นประจำ ใช้เสร็จแล้วต้องทำความสะอาดแล้วเอาไปคืนยังที่เดิม
เหตุการณ์ต่อมาชาวบ้านกระทำการไม่เหมาะสมหลายประการ ทั้งไม่คืนถ้วยชามให้ทวด คืนไม่ครบบ้าง ทำสกปรกบ้าง ทวดจึงไม่ให้ถ้วยชามชาวบ้านใช้อีกต่อไป จึงไม่พบว่ามีถ้วยชามลอยขึ้นมาอีกเลย
ครั้นมาถึง พ.ศ. 2484 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดอหิวาตกโรคระบาด ชาวบ้านที่อยู่บ้านขุนขอน อพยพมาอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลพิจิตร จนปัจจุบัน ! เพียงละครเรื่องแรกก็เรียกรอยยิ้ม หัวเราะ สลับเสียงกรี๊ดแบบเด็กรุ่นใหม่ อยู่เป็นระยะ มุกเด็ดตำนายวังทวด ดูเหมือนจะอยู่ในฉากชาวบ้านนำธูปเทียน หมากพลู ไปอธิษฐานขอถ้วยชาม ครู่เดียวถ้วยชามถูกโยนออกมาจากหลังฉากจนเกลื่อนเวที สำหรับทวดงูใหญ่ เด็กๆ ใช้ลูกโป่งจำนวนมากมาร้อยต่อ
ละครเรื่องวังทวดนำเอาการเล่นจับเข้ในน้ำซึ่งเป็นการเล่นของเด็กแบบโบราณสอดแทรกเอาไว้ในฉากหนึ่งอีกด้วย สิ่งเหล่านี้กำลังสูญหายไปอย่างถาวร
ภาษากลางสไตล์ทองแดง ความเรียบง่าย ใสซื่อ เป็นเสน่ห์ที่นำทุกคนกลับไปสู่ตำนานไม่ยาก ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งทุกคนล้วนเป็นลูกหลานของตำนานนั่นเอง เพียงแต่บางเวลาอาจถูกกระชากลากถูไปทางอื่นจนหลงทิศผิดทาง
ละครตำนานเรื่องที่สองว่าด้วยตำนานควนสำหรุด นักแสดงหลักเป็นนายปี่ ปราชญ์ภูมิปัญญาประจำตำบลพิจิตร ที่นี่เป็นถิ่นหนังตะลุง โนรา อันเลื่องชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ความเป็นท้องถิ่นแห่งศิลปินจึงน่าจะมีส่วนสำคัญให้กิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อนไปได้
บำรุง แก้วเรืองรองอายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ 3 ตำบลพิจิตร เป็นผู้สืบค้นประวัติควนสำหรุด และบรรยายหลักบนเวทีละครเรื่องนี้ ได้จัดดอกไม้ธูปเทียนขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“การแสดงทุกเรื่องที่ได้เอามาแสดง วันนี้ ไม่ได้ต้องการลบหลู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไม่ได้ทำลาย ให้เสียหายแต่มุ่งเน้นที่จะส่งเสริม ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา สืบสานตำนานกันต่อไป” เขาประกาศให้ได้ยินโดยทั่วกัน
บำรุง เล่าว่า จากการการสอบถามข้อมูลจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆคน พบว่าที่มาของควนสำหรุด มีมา 2552ปี แล้ว
ที่เรียกอย่างนั้นเพราะสมัยก่อนในเวลาช่วงเย็น 4 -5 โมง ประชาชนในตำบลพิจิตร แถวบ้านคลองบ่วง พลีควาย เนินพิจิตร หรือบ้านพรุ มองไปทางควนหรือเนินเขาสำหรุด จะมองเห็นคล้ายผ้าสีขาว หรือคล้ายยาง(พารา)แผ่นตากอยู่บนควน บนต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ว่าจะมองจากตรงไหนก็จะเห็นุดเดียวกัน แต่ถ้าเข้าไปตรงนั้น จะไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่ง กิ่งไม้สักใบไม่มีรอยหัก ใบไม้สักใบไม่มีรอยขาด จึงสมมติกันมาว่าตาสำหรุดมาอยู่ แต่ไม่มีใครรู้ชื่อเสียงเรียงนาม แต่ไม่เคยมีใครพบตัวตน ของตาสำหรุดสักคนเดียวได้สมมุติชื่อควนนี้ว่าควนสำหรุด
ตาสำหรุดภาษาชาวบ้านเรียกตาผ้าขาว ที่นุ่งขาวห่มขาวมาปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่าชี แต่ผู้ชายเรียกว่าสำหรุด
“ผมเป็นตัวหลักในการสืบค้นข้อมูล เพราะผมคลุกคลีมากับกำนันคนก่อน คือกำนันเวียง เพชรสกุล พอรู้ตำนานมาบ้าง คนที่แก่ที่สุดที่ยังอยู่ในพื้นที่ อายุ 80 ปี ผมไปถามมาหมดทุกคนแล้วก็ได้ข้อมูลมาประมาณนี้ แต่ใครมีข้อมูลมากกว่าผมมาเพิ่มเติมได้” บำรุงเล่าว่าเขาเองคลุกคลีกับควนสำหรุดมานาน สถานที่แห่งนี้นับเป็นที่ดั้งเดิม อันกล่าวถึงกันมานานในตำบลพิจิตร เป็นตำนานของท้องถิ่นนี้ก็ว่าได้
“ชาวบ้านทีรู้ เขาให้ข้อมูล โดยเฉพาะตอนมาวัดเขามาคุย เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จนผมเขียนเป็นเอกสารคร่าว”บำรุงว่า คนที่ให้ข้อมูลมากที่สุดชื่อว่านายคง ยะถาวรชาวบ้านหมู่ 3 ซึ่งสวนนายคง อยู่ติดบริเวณควนสำหรุดทำให้รู้มากพอสมควร ซึ่งนายคงได้รับข้อมูลต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ ที่ไปคลุกคลีอยู่ตรงนี้ เป็นประจำอีกทอดหนึ่ง
เป็นครั้งแรกของท้องถิ่นที่มีการพูดถึงตำนานดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ทำให้ชาวบ้านทั่วไปหันมาสนใจด้วย ทุกวันนี้ทำให้ชาวบ้านทั่วไปหันมาพูดถึง เกี่ยวกับประวัติกันมากขึ้นมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่น บำรุงยังลงมือเขียน ละคร ขึ้นมาแสดงด้วยตนเอง “ต่อไปน่าจะมีละครนี้ไปเล่าต่อ ผมเน้นไปที่เด็กนักเรียน ได้เรียนรู้ ตอนนี้ นักเรียนและทางโรงเรียนสนใจ ใช้เป็นกรณีศึกษาต่อไป”
ช่วงหนึ่งตำนานเรื่องนี้เงียบไปจนแทบ ไม่มีใครพูดถึงได้มาพูดกันใหม่คราวนี้เอง ขนาดคำว่าสำหรุดเด็กรุ่นหลังจะไม่เข้าใจ แต่พอมาจัดแสดงเป็นละครก็จะได้รู้
บนควนสำหรุดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นบ่อน้ำในหินอยู่ 3 ลูก ลูกที่หนึ่งเรียกว่าบ่อเรือ ลูกที่สองเรียกว่าบ่อกระทะ ลูกที่สามเรียกว่าบ่อขัน
“ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่านั้น ก็คือ ถ้าใครเข้าไปบุกรุก หรือทำลายป่าไม้ในเขาลูกนี้ ก็จะมีอันเป็นไป ละครของผมจะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไปบุกรุกควนสำหรุดจะมีอันเป็นไปทุกคน”
ละครเรื่องตาสำหรุด อธิบายตีความถึงปริศนาไก่ขาว บนควนสำหรุด
เชื่อว่าใครขึ้นไปบุกรุก แผ้วถางเอาที่ดินมาเป็นของตัวเองจะมีอันเป็นไป หลายคนไปขอที่ ซึ่งตาสำหรุดจะยกให้ แต่ขอแลกกับไก่ขาวตัวหนึ่ง
ในเนื้อเรื่องตัวละครต้องการจะเข้าไปแผ้วถางป่า แต่ได้ข่าวว่าเจ้าของสถานที่ไม่ยินยอม จึงบนบานขอเอากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลสถานที่ ซึ่งตาสำหรุดได้มาเข้าฝันโดยบอกว่าใครบุกรุกจะต้องแลกกับไก่ขาวตัวหนึ่ง
“ไก่ขาวก็คือคนตายที่ห่อผ้าขาวคือชีวิตคนนั่นเอง” บำรุงกล่าวสรุปบนเวทีอย่างน่าขนลุกขนพอง เพื่อจะบอกว่าใครบุกรุกควนสำหรุดต้องแลกด้วยชีวิตคนนั้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบนยอดควนสำหรุดมีภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งขึ้นไปตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลพิจิตร เคยมีคนเสนอความคิดทำโครงการที่จะทำเป็นหอดูดาวซึ่งมีความเป็นไปได้ในอนาคต
นอกจากควนสำหรุด บำรุง ยังเป็นผู้สืบค้นประวัติ ทวดโคกโหนด อันนำมาสู่ละครเรื่องที่ 3 ว่าด้วย ตำนานทวดโคกโหนด โคกโนดมีพื้นที่ 2 งาน อยู่ติดถนน ที่หมู่3 ตำบลพิจิตร ปัจจุบันบริเวณนั้นมีต้นตาลโตนด 3 ต้น มีศาลาอยู่ 1 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ และศาลพระภูมิ 1 หลัง ส่วนของเดิมเคยมีได้พังไป
บำรุง เล่าว่า เดิมบริเวณดังกล่าวเป็นที่สูง จึงเรียกว่าโคกโหนด ต่อมาปู่จ๊วด บ้านจิตร กับปู่แดง บ้านทุ่งโหนด ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ได้สร้างศาลขึ้น 1 หลัง และได้นำรูปทวด(สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชน) ทำมาจากไม้ มาไว้ที่ศาลา ประกอบด้วย ทวดงู ทวดช้าง และทวดเงาะ ซึ่งรูปทวดดังกล่าวมีคนเคารพบูชามาจนถึงทุกวันนี้
“สำหรับทวดเงาะหรือทวดลานเงาะมาจากบริเวณบ้านโคกพะยอม เป็นที่อยู่ของทวดเงาะ จึงทำให้วัดต้องทำรูปเงาะไว้ด้วย” เรื่องที่ชาวบ้านบนบานทวดโคกโหนดมีหลายเรื่อง เช่น วัว ควาย สูญหาย ลูกหลานสอบเข้าทำงาน ส่วนใหญ่ได้ตามประสงค์การแก้บนทำโดย โนราดิบ ลูกประทัด ติดทอง ไข่ต้ม ก๋วยเตี๋ยว อาหารคาวหวาน
“การที่ผมสืบค้นตำนาน ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องแบบนี้มากขึ้น ที่ไม่สนใจก็มาพูดถึง ในกลุ่มเด็กๆ ที่ไม่ค่อยรู้ ก็ได้รู้ คิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไป ไม่เฉพาะวันนี้เท่านั้น คงจะมีกิจกรรมต่อไปอีก” บำรุงว่า ละครตำนานเรื่องสุดท้าย ว่าด้วยตำนานถ้ำนางเลือดขาว เรื่องนี้แสดงโดยบรรดาเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดพรหมประดิษฐ์ (พลีควาย) โรงเรียนระดับประถมศึกษา อีกแห่งหนึ่งในตำบลพิจิตร
ละครเดินไปตามเนื้อเรื่องของกนกภรณ์ เพชรสกุล ครูโรงเรียนวัดพรหมประดิษฐ์ เป็นผู้สืบค้นตำนาน
อดีตกาลนานมาแล้ว ณ เทือกเขาคันหลาว ซึ่งเป็นเทือกเขาด้านตะวันตกของตำบลพิจิตร เป็นแหล่งที่มีสมุนไพร และขมิ้นขาวอยู่จำนวนมาก
ยังมีถ้ำลึกลับเป็นที่อาศัยของหญิงสาวหน้าตาสวยงามนางหนึ่ง เธออาศัยอยู่ในถ้ำและกินขมิ้นขาวเป็นอาหาร จนผิวพรรณขาวผ่องเป็นยองไยประดุจดั่งเลือดนางนั้นเป็นสีขาว นางทอผ้าใช้ในวัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ
วันหนึ่งขณะที่ชาวบ้านไปเก็บของป่าก็ได้ยินเสียงทอผ้าดังขึ้นจึงเกิดความกลัวนำเรื่องที่ได้ยินไปปรึกษาพระภิกษุรูปหนึ่ง พระจึงชวนสามเณรออกเดินทางไปบิณฑบาต ณ บริเวณนั้น หญิงสาวก็ออกมาใส่บาตรด้วยขมิ้นขาว ฝ่ายสามเณรเห็นหญิงสาวก็แอบหลงรัก
เกิดเรื่องราวขึ้นเมื่อวันหนึ่งพระเกิดอาพาธไม่สามารถไปบิณฑบาตได้ เณรอาสาไปบิณฑบาตแทน เมื่อหญิงสาวคนงามจากถ้ำในเขาคันหลาว ลงมาใส่บาตร เณรผู้หลงความรักจนหน้ามืดตามัวได้ทำการปลุกปล้ำ
นางต่อสู้จนเณรสลบไป ฝ่ายหญิงสาวคิดว่าเณรเสียชีวิต แล้วจึงปิดปากถ้ำด้วยก้อนหินและหนีไปอยู่ที่เขารักเกียรติ (ภูเขาอีกแห่งในจังหวัดสงขลา) ว่ากันว่าปัจจุบันถ้ำนี้ยังมีอยู่ แต่ไม่สามารถเข้าไปถึงข้างในได้เพราะมีก้อนหินปิดปากถ้ำ มีเพียงช่องเล็กๆ และตำนานเล่าขานสู่กันฟังท่านั้นเอง
ละครเรื่องสุดท้ายบนเวทีวันนั้นชาวบ้านตำบลพิจิตรร่วมแสดง เนื้อเรื่องสะท้อนความเป็นจริงของปัญหายาเสพติด ที่เกิดขึ้นในชุมชน การมั่วสุมของวัยรุ่นติดยา ถึงการก่ออาชญากรรม อันส่งผลกับผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้เสพเอง ครอบครัว เจ้าหน้าที่บ้านเมือง สังคม แก่นของเรื่องชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าบุตรหลานของตัวเอง เป็นคนดี ห่างไกลจากยาเสพติดทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาเมื่ออยู่นอกสายตาของพ่อแม่ กลับทำตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกว่าพ่อแม่จะรับรู้บางทีก็สายเสียแล้ว
ทางออกของปัญหา ที่ละครพยายามบอกคือถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องจับมือร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง สอดคล้องกับจังหวะสุดท้ายของงานที่มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเป็น 5 รั้วรวมใจต้านภัยยาเสพติด
เทคนิคการละครที่พิจิตรนับว่าน่าสนใจ ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เห็นว่าการละครสามารถนำมาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้สำหรับเรียนรู้ได้ลึกซึ้ง
เป็นละครชาวบ้านที่ไม่ต้องยึดหลักทฤษฎีการละคร สิ่งที่ได้คนทั้งตำบลมาช่วยกันเล่นช่วยกันดู เด็กรุ่นใหม่ได้รับรู้ตำนานถิ่นตัวเอง เนื้อเรื่องสะท้อนสิ่งที่ดีงาม ปัญหา และทางออก ผู้ชมมีส่วนร่วมใกล้ชิดทั้งตัวผู้แสดงและเรื่องราวของตนเอง
ละครเวทีห้าเรื่องนั้น สี่เรื่องแรกเป็นตำนานหลักของตำบลพิจิตร นับเป็นทุนทางวัฒนธรรม
ตำนานแบบนี้ผู้ศึกษาทางด้านคติชนวิทยาอาจมองเห็นได้ว่ามีโครงสร้างใหญ่ไม่ต่างจากท้องถิ่นอื่น กรณีวังทวด และตำนานนางเลือดขาวนั้นเห็นได้ชัด การอธิษฐานของชาวบ้านเพื่อขอจานชาม มาใช้ปรากฏอยู่ตามตำนานหลายแห่งในภาคใต้ ส่วนควนสำหรุดและ โคกโหนด มีความเป็นเฉพาะถิ่นสูงกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด นับว่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรม และเชื่อมโยงกับทุนทางสิ่งแวดล้อม
วังทวด ควนสำหรุด โคกโหนด ควนคันหลาว ล้วนเป็นสถานที่ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก่อนแต่ได้สะท้อนว่า ปัจจุบันธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงโดยน้ำมือมนุษย์ไปอย่างมากมาย บางแห่งมีโอกาสได้รับผลกระทบที่ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนในเรื่องต่างๆตามมา
ละครเรื่องที่ห้าพูดถึงปัญหายาเสพติดปัญหาใหม่ที่รุกเข้าสู่ชุมชน ก่อนใช้เวทีสมัชชาสุขภาพตำบล ประกาศนโยบาย 5 รั้วรวมใจต้านภัยยาเสพติด
วันที่ตำนานอันงดงาม กำลังเลือนหาย ธรรมชาติถูกทำลาย ปัญหาสังคมเข้ามาแทนที่ ถ้าจะมองอย่างภาพรวมจะเห็นว่า เรื่องราวอดีต ปัจจุบัน อนาตค ไม่ได้แยกส่วนออกไป ทุกส่วนเป็นเหมือนจิกซอว์ที่ต้องมาต่อกันเพื่อเป็นพลังรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวินาที.
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง
- จากเสียงสะท้อนผลักสู่นโยบาย เพื่อชนชั้นผู้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ