สาแหรกเครือญาติ ตรรกะเลิกทะเลาะ
สาแหรกเครือญาติ ตรรกะเลิกทะเลาะ
“สมัยก่อนถ้าถูกคนแก่ด่าว่าไอ้ลูกสัตว์! ขนมต้มเดือน10 ไม่ได้พลอยของมึงสักหนวย นั่นเจ็บมากแต่มาด่าทุกวันนี้เด็กยิ้ม เพราะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงว่าคือการไม่รู้จักบุญคุณคน”
ครูเปลื้อง สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนหมู่ 8 ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่าเราเมื่อครั้งวันเปิดท่าโอ ท่าเรือริมคลองอู่ตะเภา อันเป็นการฟื้นวิถีประวัติศาสตร์ชุมชน ชักชวนชาวบ้านหันหน้ากลับมาร่วมกันรักษาดูแลสายน้ำ
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อ 5 กรกฎาคม เป็นส่วนหนึ่งในงานถวายเทียนพรรษาทางน้ำ 9 วัด ประจำปี 2551 หลังท่าโอเรียกว่า “สวนสืบสาน” ที่ดินรกร้าง ชุมชนเคยใช้เป็นสถานที่ทำบุญหัวสาและทำบุญวันว่าง ภายใต้ร่มรื่นของไม้ใหญ่ กำลังถูกปรับใช้เป็นศูนย์กลางรื้อฟื้นวัฒนธรรม ตำบลคูเต่า
วันที่ชาวคณะถวายเทียนพรรษาเป็นแขกพิเศษของสวนสืบสาน มีการเหยียบ(ทำ)ขนมจีน แบบโบราณเอาไว้เลี้ยงรับรอง การสาธิต แสดงทางวัฒนธรรม และนำเสนอโครงการจัดทำผังเครือญาติ ของโรงเรียนวัดดอน ซึ่งนับว่าทุกส่วนเกี่ยวโยงกัน
ครูเปลื้องผู้เป็นแกนนำตั้งกลุ่มฟื้นฟูเครือญาติสัมพันธ์ โรงเรียนวัดดอน พบว่าคนชุมชนแห่งนี้ล้วนแต่มีความผูกพันมาตั้งแต่อดีต แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เหินห่างกันไป การสืบญาติน่าจะนำสิ่งที่ดีกลับมา
“เราลองทำกับเด็กชั้นป.6 จำนวน 16 คน ให้เด็กไปสืบว่า สายพ่อมาจากไหน สายแม่มาจากไหน ย้อนยุคให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลานี้พวกเขาจะสืบสาวเล่าเรื่องตัวเองได้หมด”
เด็กหลายคนเชื่อมโยงตัวเองถึงรุ่นทวดทั้งสายพ่อและแม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้มาก่อน บางคนเพิ่งรู้ว่าทวดอยู่ต่างหมู่บ้าน และเสียชีวิตไปนานแล้ว บนเส้นสายโยงใยตระกูลจากตัวเองถึงทวดทำให้พบญาติพี่น้องที่ไม่เคยรู้จักอีกมาก
“เด็กเขาจะรู้ หลังได้เขียนแผนผังญาติเขาได้ เฉพาะชั้น ป.6 จำนวน 16 คนสามารถเชื่อมโยง 4 วงศ์ตระกูล”
เด็กทุกคนนับญาติกันได้หมด ครูเปลื้องมั่นใจว่าข้อมูลนี้ถูกต้องแน่ เพราะเขาอยู่ที่นี่มานาน รู้ว่าลูกศิษย์แต่ละคนตระกูลมาจากไหน ลูกใครหลานใคร
“จากเดิมที่หยิกหูกัน เพราะไม่รู้ว่าพี่น้องกันพอไปสืบแล้ว พบว่าแม่เฒ่า(ยาย)ของเด็กคนนี้กับปู่เขา เป็นพี่น้องกัน แต่เด็กมาคนละนามสกุล”ครูเปลื้องเล่า
คนทุกวันนี้ ส่วนมากนับญาติด้วยนามสกุลเดียวกัน แต่ลืมไปว่าญาติต่างนามสกุล อาจใกล้ชิดแนบแน่นไม่ต่างกัน ด้วยสายเครือญาติทางการแต่งงาน แต่เปลี่ยนนามสกุลเดิมตามสามี
“แต่ก่อน เด็กไม่รู้ว่าเป็นญาติกัน พอรู้ เกิดความภาคภูมิใจว่า พี่น้องเขาก็หลายคนเหมือนกัน ไม่ใช่มีสองสามคน ไม่ใช่ป้าสักคนลุงสักคนน้าสักคนเท่านั้น พอสืบสาวราวเรื่องต่อยังรู้ว่าพี่น้องไม่ใช่อยู่ในหมู่บ้าน แต่อยู่หมู่บ้านอื่นด้วย โยงใย ไปต่างถิ่น ต่างอำเภอก็มี”
ครูเปลื้องยกตัวอย่าง ด.ญ.ทิพากร ไชยประสิทธิ์ ที่เพิ่งรู้ว่าทวดฝ่ายแม่ชื่อแจ้งอยู่ที่บ้านหัวนอนวัด อำเภอบางกล่ำ แต่ไม่มีชีวิตแล้ว แม้แต่หน้าตา ก็ไม่เคยเห็น แต่อย่างน้อยโครงการนี้ทำให้เธอรู้ว่าพ่อกับแม่อยู่คนละฝั่งคลองอู่ตะเภา รู้โยงใยต่อไปว่าใครเป็นญาติพี่น้องบ้าง
“เขาเกิดภาคภูมิใจไม่เดียวดายอีกเมื่อคิดถึงญาติพี่น้องที่มีอยู่”
คนสมัยก่อน ให้ความสำคัญกับเครือญาติ รักกัน นับถือกันหนักแน่น ครอบครัวไหน เกิดลูกเกิดหลาน ต้องนำไปแนะนำให้รู้จักจนทั่ว
“เขาจะบอกว่าตายายเดียวกัน ที่ใช้คำว่าตายายเดียวกัน คือวงศาคณาญาติเดียวกัน ตรงนี้หายไป เพราะถูกทอดทิ้ง” ครูเปลื้องเล่า อธิบายเหตุผลที่ทำให้ทุกคนเหินห่างกันว่า
- การเห็นแก่ตัวของสังคม
- วัฒนธรรมที่ดีถูกยกเลิก เช่น การเอาขนมจีนไปให้คนแก่เดือน 5 ให้ขนมต้มเดือน 10 และ การแนะนำเด็กให้รู้จักญาติพี่น้อง ในโอกาสต่าง
- เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา
ชุมชนสมัยก่อนต่างจากทุกวันนี้มากตรงการมีใจ เอื้อเฟื้อ ดูแลกัน เห็นได้จากคนรุ่น 60 ปีขึ้นไปยังยึดสายเครือญาติผูกพันเหนียวแน่ แต่วัยหลังจากนั้นลดหย่อนลงมา จนเหลือแค่เพียงเส้นบางๆ ที่มองแทบไม่เห็น เมื่อถึงเด็ก
“คนแต่ก่อน ยึดถือพี่น้องมาก จะคุ้มครองพี่น้องตัวเองอย่างคนด้น (นักเลง) พี่น้องเลี้ยงวัว ควาย ไม่มีใครกล้ามาขโมย”
การทำนา จะมีการช่วยกันไถนา หากคนที่ถูกร้องขอติดธุระไม่ได้ไปเอง จะให้วัวไปใช้
กระบอกทองเหลืองสำหรับทำเส้นขนมจีนประเพณีวันว่าง เป็นของหายาก แต่คนที่มีก็เอื้อเฟื้อคนอื่นในชุมชน โดยให้หยิบยืมหรือทำเส้นขนมจีนให้คนอื่นไปด้วยกัน ทุกฝ่ายจึงต้องถนอมน้ำใจกัน แต่ปัจจุบันไม่มีใครเกี่ยวข้องหรือต้องง้อใคร เพราะไม่ต้องทำเส้นขนมจีนเอง แต่ไปซื้อในตลาด
“น้ำใจเลยหายาก”
ครูเปลื้องว่า หากจะเปรียบระหว่างพุทธกับมุสลิมฝ่ายหลังดูจะแน่นแฟ้นกว่า เพราะลักษณะการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมักอยู่ด้วยกันไม่แยกไปไหน แต่งงานในวงชุมชน
หลังจากการจัดทำผังเครือญาติของเด็ก ป.6 โรงเรียนวัดดอน ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า 4 ตระกูลใหญ่ ของ หมู่ 8 ตำบลคูเต่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เด็กอาศัยอยู่ ประกอบด้วย ไชยประสิทธิ์ ,ไชยวรรณ ,จินดาวงศ์ และ ณรงค์รัตน์
“พอมาสืบแล้วจินดาวงศ์กับณรงค์รัตน์ พี่น้องกันอีก แต่เด็ก มาใช้คนละนามสกุล เนื่องด้วยไปใช้นามสกุลพ่อ แม่ณรงค์รัตน์ แต่พ่อจินดาวงศ์ เด็กก็เลยเรียนรู้ว่าเราพี่น้องกัน”
ครูเปลื้องเชื่อว่าถ้าสืบให้ลึกในหมู่8 คงมาจาก 2 ตระกูลใหญ่เท่านั้น คือ จินดาวงศ์ และไชยวรรณ สรุปว่าพี่น้องกันหมด
การได้เห็นว่าชุมชนมีที่มาอย่างไร ทำให้เกิดความรัก สามัคคี มากขึ้น
“ครูถามเด็กว่าที่รบกันอยู่ รบกันทำไม่เช็คให้ดี พ่อเฒ่าเธอกับย่ามันนั้นสองคนพี่น้อง”
การรื้อฟื้นเครือญาติ พอเห็นแววว่าช่วยแก้ปัญหาอะไรบางอย่างได้ ครูเปลื้องตั้งความหวังว่า เมื่อรุ่นพี่ ป.6 ทำได้แล้ว จะขยายต่อไปทุกระดับชั้น แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือหลังจากนับญาติได้แล้ว คือเร่งฟื้นประเพณีเข้าหาคนเฒ่าคนแก่อย่างจริงจัง
วัฒนธรรมสำคัญของท้องถิ่น เกี่ยวกับการนับญาติ คือการเหยียบขนมจีนหรือการทำขนมจีนเพื่อร่วมประเพณีทำบุญวันว่างเดือน 5
“ทำไมขนมจีน เพราะ เป็นขนมเส้น ยาว เชื่อว่าถ้าเอาไปให้วงศาคณาญาติเป็นการต่อเยื่อใยไปยังพี่น้องยาวเหมือนเส้นขนมจีนนี่ปู่ครูเล่าให้ฟัง ที่ทำในเดือน 5เรียกว่าทำบุญว่าง เพราะ ฤดูร้อน ว่างจากทำนา พี่น้องที่อยู่ไกล ๆไปทำอาชีพอื่น จะกลับมาบ้านเดิมเพื่อไหว้หลุมศพ ปู่ ย่า ตา ทวด ในป่าช้า ลูกหลานได้มาพบคนเฒ่าคนแก่ว่า ยังสบายดีอยู่หรือเปล่า นั่น คือเป็นความฉลาดที่ให้ลูกหลานกลับมาบ้านโดยไม่บอกเหตุผล เขาบอกโดยการทำบุญ เขาไม่ได้สั่ง แต่ลูกหลานกลับมาเอง”
ใครไม่กลับมาบ้านเกิดในประเพณีวันว่าง ชุมชนถึงกับเชื่อว่าเขาผู้นั้นอาจจะไม่มีชีวิตอีกแล้ว
กระบวนการการเหยียบขนมจีน เป็นกุศโลบายสร้างความสามัคคีดีๆนี่เอง การทำเส้นขนมจีนตามแบบโบราณ ใช้ เวลาต่อเนื่องถึง 3 วัน
วันแรกเริ่มแช่ข้าวสาร วันที่สองบดเม็ดข้าวเป็นแป้งแล้วทับเพื่อรีดน้ำออก เอาใส่ผ้ามัดจุกปล่อยให้แห้ง เรียกว่า “เหงแป้ง” ในย่ำรุ่งวันที่ 3 เอาแป้งทำเป็นก้อนกลมราวครึ่งกิโลกรัม นำไปต้มในน้ำเดือด ก้อนแป้งเจาะรูตรงกลางเพื่อให้ ความร้อนเข้าถึงมากที่สุด รูที่เจาะยังสะดวกกับการจะใช้ไม้เสียบจากน้ำเดือดมาเข้าตำในครก มือสาก 2-3 คนช่วยกันตำจนแป้งเหนียวเป็นเนื้อเดียว
“สามวันที่ทำขนมจีนคิดดูเถอะ ทำคนเดียวได้อย่างเดียวตอนแช่แป้ง ที่เหลือต้องช่วยกันทำ ยิ่งสมัยก่อนในหมู่บ้านหนึ่ง มีกระบอกทำเส้นขนมจีนแค่ 2 กระบอก ยิ่งต้องช่วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ ”
เมื่อทำเส้นขนมจีน ทำน้ำแกง เสร็จ เวลาสำคัญที่สุดคือการเอาขนมจีนใส่ปิ่นโต ไปให้ ปู่ย่าตาทวด
“บางคนอาจไม่ใช่สายเลือดโดยตรงแต่มีพระคุณอย่างให้ควาย ให้วัวมาไถนา เขาจะบอกลูกเลยว่า ต้องเอาขนมจีนให้ บอกเหตุผลว่าทวดคนนั้นเคยช่วยอะไร มีบุญคุณอย่างไรกันมา”
หากคนแก่ผู้รับไม่รู้ว่าเด็กที่นำขนมจีนมาให้เป็นใครก็จะเอ่ยปากถาม “สูลูกเต้าเหล่าใครกัน” ตรงนี้เองเกิดการนับญาติขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในแต่ละปี คนเฒ่าคนแก่ที่รู้ว่าลูกหลานจะมาหาไม่อยู่เฉยเหมือนกันต้องเตรียม กล้วย ส้ม ลูกเนียง สะตอ ใส่ปิ่นโตกลับให้ลูกหลานทุกคน
ลักษณะเดียวกัน จะเกิดอีกครั้งในการทำบุญเดือน 10 พียงแต่สิ่งของที่นำไปให้เปลี่ยนเป็นขนมต้ม และขนมเดือน 10
“ปีนี้ครูอยากจะดู ขนมต้มเดือน 10 ที่จะถึงนี้ ว่าเด็ก เอาไปให้ใครบ้าง ทำผังเครือญาติไปแล้วเกิดผลจริงหรือไม่ต้องดูตรงนี้” ครูเปลื้องว่า
ทางหนึ่งที่จะทำให้สำเร็จ ครูจะพูดกับผู้ปกครองให้ปลูกฝังเรื่องนี้กับเด็กจริงจัง วัฒนธรรมนี้ขาดหายไปนับ 10 ปี โทษเด็กไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่รุ่นหลัง ละเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญ จนสิ่งมีค่าค่อยเลือนหายแบบไม่รู้ตัว
ด.ต.นิคม ทองมุนี สจ.สงขลา มองสิ่งปรากฏการณ์เปลี่ยนไปว่าประเพณีทำบุญวันว่างอาจยังอยู่ แต่แทนที่จะเหยียบขนมจีน ทุกวันนี้สะดวกมาก ชาวบ้านแค่ไปซื้อขนมจีนจากตลาด
“ซื้อมาทำบุญจะไม่ฝากคนแก่หรอก แต่เหยียบขนมจีนทำเป็นชะ(ตะกร้าสานใส่เส้นขนมจีน) เอาไปฝากย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า น้องตา น้องยาย แจกแล้วได้สายใย ได้โครงสร้างความเป็นเครือญาติ ผมรู้จักน้องพ่อเฒ่าตั้งแต่เล็ก เพราะเอาขนมจีนไปให้” ด.ต.นิคมว่า
ภาพพ่อแม่จะเอาขนมจีนใส่ปิ่นโตให้ลูกหลาน เอาให้ฝากปู่ย่าตายาย เป็นภาพแห่งความมีน้ำใจ แต่สมัยนี้ไม่มี ต่างคนต่างอยู่ เหมือนไม่มีเครือญาติมาเกี่ยวข้อง
“บางทีเป็นญาติกันจริง แต่ลูกพี่ลูกน้องเราไม่นับญาติกัน บางทีน้องสาวผม ไปใช้นามสกุลสามี แต่ ถ้าลูกผม ลูกพี่ชายนามสกุล เหมือนกัน สองคนนี่ ลูกพี่ชายผมกับลูกผม เป็นเหมือนญาติเป็นยี่ห้อ แต่ลูกน้องสาว สายเลือดเดียวกัน แต่ต่างนามสกุล กลับเหมือนไม่ใช่ญาติ”
นั่นคือปัญหาจากการนับญาติโดยดูเพียงนามสกุลเดียวกัน การทำผังเครือญาติ จึงจะมองความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ชัดเจนในอีกมิติหนึ่งได้
“ผมอยากเห็นกระบวนการแบบครูหมอตายาย ที่โยงด้วยสายเลือด ไม่ใช่ด้วยนามสกุล ทะเบียนบ้าน” ด.ต.นิคม มองว่า ในมุมโรงเรียนวัดดอน นักเรียน ทำตามที่ครูสั่ง แต่ว่าชุมชนยังไม่เข้าใจ
“ผมว่าเด็กเขียนออกมา มันเชื่อมด้วยตัวหนังสือไม่ได้เชื่อมด้วยตัวจริง ต้องเดินด้วยตัวบุคคล เพราะฉะนั้นสำหรับนักเรียนต่อไปคือ เอาขนมจีน ขนมแห้ง ขนมลา เป็น เอาไปให้ ยาย พ่อเฒ่า ไปให้ใครต่อใคร พ่อต้องมาเล่าลูกว่าทวด เป็นน้องของแม่เฒ่าพ่อ แบบนี้จะเกิดผังเครือญาติ แค่อยู่ในสมุดไม่ได้”
ด.ต.นิคมมองว่าโครงการผังเครือญาติโรงเรียนวัดดอน อาจถือเป็นจุดเริ่มต้น แต่ยังไม่ถึงเจตนารมณ์ เป้าหมายต้องเดินไปพบของจริง ยกตัวอย่างเมื่อพ่อบอกเด็กว่าทวดคือใครเด็กต้องหา ต้องสืบให้พบ แล้วไปสนิทสนม
“ต้องไปสัมพันธ์กัน เอาเด็กไปสัมพันธ์กับผู้เฒ่า ด้วยขนมจีน ขนมลา ด้วยการใช้วัฒนธรรม เก่าๆ เด็กได้รู้เขาประกอบจากส่วนไหนบ้าง ถ้าโครงการนี้ได้ผลจะได้รับการสนับสนุนจากชุมชนมาก”
….......................................................................................................
1 สิงหาคม 2551 ในห้องเรียน ป.6 โรงเรียนวัดดอน ถึงเวลาที่เด็กเป็นฝ่ายเล่าเรื่องนี้ให้ฟังบ้าง
พวกเขาช่วยกันเล่าว่าก่อนลงไปทำผังครูแนะนำรูปแบบให้ พอลงไปสืบ ทำให้รู้จักญาติพ่อแม่ มากขึ้น ที่ผ่านมา ค่อนข้างเลือนราง รู้จักเฉพาะคนในครอบครัวตัวเอง ญาติที่ไม่ค่อยพบ ผู้ใหญ่จะรู้กันเอง เด็กจะไม่ได้รับรู้ด้วย พอทำผังเครือญาติ จึงรู้ว่านับญาติกันได้หมด ในชั้น ป.6 ไม่มีใครที่นับญาติคนอื่นไม่ได้ แม้แต่ครูเปลื้องก็เป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง
“มีคนเคยทะเลาะกันบ้าง แต่พอรู้ว่าเป็นญาติก็เลิกทะเลาะกันแล้ว”เด็กชายคนหนึ่งยอมรับ
ด.ญ. กฤษฎี จินดาวงศ์ เล่าว่า ประเพณีวันว่าง เดือน 5 ที่ผ่าน เธอได้เอาขนมจีนไปให้ปู่ คนที่จัดขนมจีนใส่ถุงให้คือย่า
“ หนูอยู่กับครอบครัวฝ่ายย่า ย่ากับปู่แยกกันอยู่ วันนั้นย่าจัดขนมจีนให้ ใส่ถุงไป มี เส้นขนมจีน น้ำแกง และ ผัก ก็ขี่จักรยานคนเดียวพาไปให้ที่คูเต่า อีกหมู่บ้านที่ไม่ไกล เมื่อไปถึงได้เจอป้าด้วย วันนั้นปู่ให้เงินกลับมา 100 บาท” เธอเล่าว่า เพิ่งทำได้แบบนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว ครั้งแรกตอนอยู่ ป.5
เหมือนเพื่อน อีก1-2 คนที่บอกตรงกันว่า เคยเอาขนมเดือน 10 ไปให้ยาย มี ขนมต้ม ขนมเจาะหู ยายให้ของกลับมา มี ขนมลา กล้วย และให้พร
ด.ญ.ทิพากร ไชยประสิทธิ์ นักเรียนเรียนดีประจำชั้น ลูกช่างสี ที่ชอบนั่งฟังพ่อเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชุมชน เธอบอกว่า นามสกุลที่พบมากของเด็กโรงเรียนวัดดอนประกอบด้วย จินดาวงศ์ ทองสองยอด ทองชูช่วย และ ไชยวรรณ เมื่อครูให้ไปสืบเครือญาติ มักไปถามจากพ่อแม่ มีโอกาสพบคนแก่ ท่านจะอธิบายว่าเด็กแต่ละคน นับญาติกันได้อย่างไร
“ครูบอกว่า มีเรื่อเล็กๆน้อยๆ จะทะเลาะกันทำไม เพราะเป็นพี่น้องโดยสายเลือด บางคนเป็นพี่น้องสายการแต่งงาน นามสกุลอาจไม่เหมือนแต่พี่น้องกัน” เธอเล่า
ครูเปลื้อง ที่ติดตามผลงานความคืบหน้ามาตลอด นั่งฟังอยู่ด้วยเสริมบางตอนบอกว่า จะนำเรื่องนี้นำเสนอในกิจกรรมบ้านคุณธรรม ของทางโรงเรียนที่จะจัดในเดือนกันยายน เพื่อให้ทุกคนสนใจ
ที่โรงเรียนวัดดอน ยังมีกิจกรรมอื่นอันเกี่ยวข้อง ไม่ว่าการจัดทำหนังสือประวัติความเป็นมาของชุมชนหมู่ 8 การจัดกิจกรรมเรียงความ ที่ตั้งหัวข้อเครือญาติที่เราภาคภูมิใจ เราจึงได้เห็นเด็กยกย่องบรรพบุรุษของพวกเขาที่เชี่ยวชาญ การต่อกระดูก หมอบีบนวด หมอชาวบ้าน ผู้อุทิศตัวช่วยเหลือสังคม บางคนเก่ง ทำเครื่องมือหาปลาหาชนิดใครเปรียบยาก เหล่านี้
ล้วนเป็นกิจกรรมน่าสนใจ ต่อการวางรากฐานความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นในชุมชนอนาคต.
ตาหลวงนา ผังความเชื่อ
ครูเปลื้อง สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอน ให้เด็กช่วยกันหาข้อมูลชุมชน และจัดทำหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า วิถีหมู่ 8
หมู่8 ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มี 4 ชุมชนย่อย ประกอบด้วย บ้านดอน บ้านโอ ชายคลอง และ หลวงนา (โหล๊ะ) รวม แล้ว 200 ครัวเรือน
เดิม ชาวบ้านผูกพันอยู่กับ แหล่งน้ำ อันเชื่อมโยงกับคลองสายหลัก คือคลองอู่ตะเภาอันอุดมไปด้วย กุ้งหอย ปูปลา แม้แต่จระเข้ ชาวบ้านนิยมจับปลาหมอ ดุก ไหล ช่อน โดยเครื่องมือจับปลา จำพวกเบ็ดราว เบ็ดทาง ไซ รัน ชุด กัด แห การละเล่นประจำถิ่นมี เพลงเรือแหลมโพธิ์ เพลงกล่อมเด็ก ทอยตรอก หมากขุม หมากเก็บ บุคคลสำคัญท้องถิ่น บ้างล้มหายตายจาก ที่มีชีวิต อายุ เลย 80 ปี แล้ว มี หมอตำแย ศิลปินพื้นบ้าน นายหนังตะลุง มือปี่ มือซอ คนแกะรูปหนังตะลุง คนแทงหยวก คนร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ คนต่อเรือ ขุดเรือ คนแกะลายกนกโลง วัฒนธรรมปรเพณีสำคัญ คือทำบุญวันว่าง เดือน 5และทำบุญเดือน 10
คนที่นี่มีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระภูมิเจ้าที่ พ่อแม่ตายาย (โนราโรงครู) โพระพรึง (คล้ายโนราโรงครู มีการอัญเชิญดวงวิญญาณแต่ใช้ทับเป็นเครื่งดนตรีทับเพียงอย่างเดียว)
โนราโรงครู และโพระพรึง นับเป็นการนับญาติ สำคัญอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมา ใครอยู่ในสายญาติต้องเข้าร่วมพิธี แต่เด็กรุ่นใหม่กลับห่างหายไป
ความเชื่อเรื่องตาหลวงนาว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยปกปัก คุ้มครองชาวบ้าน ให้ทำมาหากินอยู่กินดี มีตำนานมาตั้งแต่รุ่น ปู่ย่าตาทวด ตาหลวงนา สิงสถิตอยู่ ที่ต้นหยีใหญ่อายุกว่า 200 ปี บริเวณกลางทุ่ง บ้านตาหลวงนา (หรือบ้านโหล๊ะ)
มีเรื่องเล่าว่าตาหลวงนาเป็นมุสลิม ร่างกายใหญ่ มีลูกหลานมาก เป็นคนเฒ่ากลางบ้าน หมายความว่า เป็นที่เคารพนับถือ ปัจจุบันบ้านตาหลวงนา ไม่มีมุสลิมอยู่ แต่ พบว่าที่นาส่วนใหญ่เคย เป็นของมุสลิม แต่ภายหลังเปลี่ยนมือมาเป็นของพุทธ-มุสลิม ครึ่งต่อครึ่ง
เมื่อชาวบ้านต้องการสิ่งใด จะบนบานตาหลวงนา ให้ช่วยเหลือ ตามเรื่องเล่าว่า ตาหลวงนาแสดงปาฎิหาริย์หลายครั้ง อย่างมาช่วยป้องกันโจรที่มาลักวัว บางครั้งมาปรากฏร่างให้เห็นเป็นคนมาเตือนว่าจะมีโจรมา หรือแปลงร่างเป็นหมาหมีตัวใหญ่ กระโดดกัดโจร ดลใจให้โจรที่เข้ามาลักวัว เดินหลงอยู่ในบ้านเจ้าของวัว กลับไม่ถูกจนถูกจับได้ ทุกปี ในข้างขึ้นเดือน 7 จะมีพิธีบวงสรวง สักการะตาหลวงนา โดยทุกบ้านจะจุดตะเกียงเอาไว้หน้าบ้าน (ปัจจุบันใช้เทียน) เชื่อว่าเพื่อให้ตาหลวงนาได้มาคุ้มครอง หัวค่ำ ชาวบ้านจุดเทียนเสร็จแล้ว จะออกไปรวมตัวกันที่ กลางทุ่งนาบ้านตาหลวงนา บริเวณต้นหยี จะจัดให้มีพระสวด การทำเทียมดา (ศาลทำจากหยวกกล้วย) และการแสดงหนังตะลุง ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ
ด.ญ.ทิพากร ไชยประสิทธิ์ เล่าในชั้นเรียน ป.6 ว่า ในวันบวงสรวงตาหลวงนา จะมีการจุดเทียนไว้หน้าบ้าน เมื่อเธอจะเล่าต่อคนอื่น ขัดเอาไว้ นัยว่าไม่น่าจะพูดถึง หรือไม่แน่ใจว่าควรพูดหรือไม่ สุดท้ายยอมรับว่ากลัวกัน เพราะเป็นเรื่องผี ลึกลับ
“งานประเพณี หลายอย่างเด็กไม่ค่อยได้เข้าร่วมเท่าไรนัก มีบ้าง งานบวชงานแต่ง เมื่อไปงานจะได้เจอญาติ รู้จักเขา แต่ ที่เด็กชอบ คือไหว้เจ้าที่ เพราะมีของกิน ได้กินของเซ่นไหว้หลังพิธี” เด็กชายคนหนึ่งกระซิบยอมรับ
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง

