เครือข่ายพ่อแม่อัดกรมกร๊วก ยื้อผุดกฎคุมเรตติ้งป้องเอกชน
ริดรอนสิทธิ : คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (กปส.) แถลงข่าวคัดค้าน พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักรพ.ศ...,พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์และพรบ.การประกอบวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งผ่านการผลักดันจาก คมช.และสนช.เนื่องจากริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
องค์กรเครือข่ายครอบครัวออกมาสนับสนุนการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ พร้อมตำหนิกรมประชาสัมพันธ์ที่เพิกเฉยไม่เร่งออกประกาศควบคุมการจัดเรตติ้งอย่างเป็นรูปธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวผู้ปกครองเฝ้าระวังสื่อและสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จัดเสวนาเรื่องจัดเรตติ้งทีวีสาธารณะกับความหวังของสถาบันครอบครัว ซึ่งนายกิจ สุนทร แกนนำเครือข่ายผู้ปกครองเฝ้าระวังสื่อ กล่าวว่า เครือข่ายสนับสนุนการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ และมติครม.เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ให้รายการ น.คือรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำสำหรับเด็กอายุระหว่าง 13-18 ปี ออกอากาศหลังเวลา 20.00 น. ส่วนรายการ ฉ คือ รายการเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ ออกอากาศหลังเวลา 22.00 น. เพื่อคุ้มครองเด็กจากการบริโภคสื่อไม่เหมาะสม เพราะสภาพสังคมปัจจุบันที่ผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำต้องปล่อยให้บุตรหลานดูโทรทัศน์เพียงลำพัง ซึ่งถือเป็นข่าวดีของสังคม แต่ที่น่าเสียใจคือ กรมประชาสัมพันธ์ไม่สนองนโยบายรัฐบาล เพราะยังไม่ดำเนินการอะไรเป็นรูปธรรม
"จนถึงวันนี้กรมประชาสัมพันธ์กลับเพิกเฉยไม่ออกระเบียบอะไรมารองรับ เครือข่ายจึงขอตั้งคำถามถึงนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ว่ามีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร มีอะไรติดขัด ถึงได้ทำเหมือนยื้อเวลาที่จะออกกฎมาป้องกันเด็กและเยาวชน หรือเป็นห่วงผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ผู้ผลิตละครมากกว่า และอยากฝากไปถึงคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่แสดงเจตจำนงชัดเจนที่จะสนับสนุนแนวคิดจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ว่าความตั้งใจดีกำลังจะถูกขัดขวาง"แกนนำเครือข่ายกล่าว
ขณะที่นายฮิมรอน เชษฐวัฒน์ แกนนำเครือข่ายฯอีกคนหนึ่งกล่าวว่า มติครม.ดังกล่าวให้กรมประชาสัมพันธ์รับผิดชอบในการจัดลำดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ เพื่อประเมินคุณภาพของเนื้อหา รวมถึงกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศ และกำหนดให้จัดทำกฎหมายและนโยบายรองรับการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ถือเป็นการกำหนดไว้ชัดเจนว่า กรมประชาสัมพันธ์ต้องออกกฎหมายหรือระเบียบเพื่อมารองรับ แต่จนถึงขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ยังไม่ดำเนินการใดๆ การกระทำเช่นนี้จะถือได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ทั้งนี้ ระหว่างการเสวนาส่วนหนึ่ง มีการนำเสนอผลการศึกษาของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เรื่อง "1 ชั่วโมง... ดูทีวี มีสุข" ที่สำรวจพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กอายุ 3-12 ปี ในกทม. พบว่า เด็กส่วนใหญ่ดูรายการของผู้ใหญ่ถึง 54.1% นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาการดูโทรทัศน์ของเด็กที่ส่งผลต่อพฤติกรรม พบว่า หลังเด็กดูรายการโทรทัศน์แล้ว เด็กจะวิ่งเข้าหาของเล่นที่เป็นอาวุธ โดยไม่สนใจเล่นของเล่นที่เป็นจินตนาการ จึงสรุปได้ว่า โทรทัศน์มีผลให้เด็กนิยมเล่นของที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าของเล่นแบบสร้างจินตนาการ
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข กล่าวว่า การศึกษาของนักจิตวิทยาถึงพฤติกรรมของเด็กในการรับชมรายการโทรทัศน์ พบว่า เด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงใน 3 ลักษณะคือ 1.ทำตาม โดยใช้แบบอย่างจากพฤติกรรมที่พบเห็นในรายการโทรทัศน์ 2.ความชินชา จากการพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในรายการบ่อยๆ และ3.ลดความยับยั้งชั่งใจในด้านความรุนแรงและเรื่องเพศ
"สื่อโทรทัศน์จึงมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ให้ออกอากาศในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการคุ้มครองเด็ก เพราะความสามารถของเด็กในการใช้วิจารณญาณ และการตัดสินใจไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่" น.พ.ยงยุทธกล่าว
วันที่ 2/7/2007 แนวหน้า
Relate topics
- คุยเรื่องสื่อภาคประชาชน
- ติดตามการเดินทางของคนตัวเล็กในพื้นที่เล็ก ๆ แต่สร้างพลังอย่างมหาศาล
- รายการวิทยุน่าติดตามฟังเครือข่ายภาคีแผนสุขภาพ จ.สงขลา
- เชิญร่วมเวทีเฉลี่ยทุกข์-สุขคนทำสื่อภาคประชาชน ภาคใต้
- ครม.อนุมัติร่างกฎหมายจัดระเบียบคลื่นความถี่หวังปฏิรูปสื่อ
- ชี้ เสรีภาพ "สื่อ" ทั่วโลกกำลังเสื่อม ไทยติดโผจากเหตุล้มรบ.ปีก่อน
- แผนสุขภาพประเด็นการสื่อสารสาธารณะเพื่อสุขภาพ
- ร่างแผนสุขภาพประเด็นการจัดการสื่อสารสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ
- ทำเนียบสื่อมวลชน
- เวทีย่อยประเด็นสื่อสารสาธารณะ ครั้งที่ 2