สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

'นาทับ'เหมาะสร้างท่าเรือเชื่อมแลนด์บริจ์ บ.ปรึกษามั่นใจศักยภาพ-ชาวบ้านรอดูประชาพิจารณ์

'นาทับ'เหมาะสร้างท่าเรือเชื่อมแลนด์บริจ์ บ.ปรึกษามั่นใจศักยภาพ-ชาวบ้านรอดูประชาพิจารณ์


12 เม.ย.ที่ผ่านมา อบต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ร่วมกับกรมการขนส่งทางน้ำและพานิชยนาวี ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ณ ห้องประชุมอบต.นาทับ โดยมีประชาชนจากต.นาทับเข้าร่วมประชุมประมาณ 130 คน

ดร.มานะ ภัตรพานิช ผู้อำนวยการจัดการ บ. ซี สเปคตรัม จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯกล่าวว่า การเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ของจ.สงขลาเกิดจากโครงการแลนด์บริจด์สงขลา-สตูลซึ่งเชื่อมต่อกันเพื่อการขนส่งสินค้าทางทะเลสู่ต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่งที่ปัจจุบันเราต้องใช้ท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านในการขนส่งสินค้า ทำให้เสียเปรียบและเสียโอกาสในการแข่งขันกับต่างประเทศ

"ปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกจ.สงขลาเองมีข้อจำกัดหลายประการเช่น มีขนาดเล็กไม่เพียงพอกับความจำเป็นที่มีมากขึ้นในอนาคต การขาดอุปกรณ์ขนถ่าย ร่องน้ำมีความลึกไม่เพียงพอกับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งการสร้างท่าเรือนี้จะมีควบคู่กันกับทางจ.สตูลคือที่ปากบารา" ดร.มานะ กล่าวและว่า

จากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหากดูความเหมาะสมทั้งหมดที่มีตั้งแต่เรื่องร่องน้ำ การคมนาคมทั้งทางรถยนต์ รถไฟ ความพร้อมของสาธารณูปโภค ขนาดของพื้นที่ รวมทั้งระยะทางที่สั้นที่สุดจากจ.สตูล ทำให้คณะทำงานวางพื้นที่เป้าหมายไว้ที่จ.สงขลา โดยมี 3 พื้นที่คือ ที่ต.วัดจันทร์ อ.สะทิงพระ ต.สะกอม อ.เทพา และต.นาทับ อ.จะนะ

"จากสองพื้นที่ที่เราลงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเขาไม่ยอมรับโครงการของเรา ด้วยเหตุผลหลายประการ สำหรับพื้นที่ต.นาทับ เราค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถสร้างโครงการนี้ในพื้นที่นี้ได้ หากประชาชนที่นี่ยอมรับ เพราะหากดูความเหมาะสมต่างๆ เช่นการมีพื้นที่สาธารณะที่มีหลายร้อยไร่ เส้นทางคมนาคมที่ไกล้ถนนสายหลัก ระยะทางจากจ.สตูลที่ไม่ไกลมาก" ดร.มานะ กล่าว

นายประสิทธิ์ วิสุทธิ์จินดาภรณ์ นายอำเภอจะนะ กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ของจังหวัดนี้ หากสามารถสร้างขึ้นที่พื้นที่ต.นาทับ จะเป็นประโยชน์กับพื้นที่เช่นเรื่องภาษีที่อบต.สามารถเรียกเก็บและนำไปพัฒนาตำบลได้

"เรื่องนี้ชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิของทุกคน แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเจริญของชุมชนว่า ถ้าโรงงานไม่สร้างเขาไม่ราดยางถนนหรอก เช่นเดียวกัน องค์กรปกครองท้องถิ่นหากไม่มีงบประมาณจากตรงนี้ก็บริหารยาก อย่างไรก็ตามเรื่องสิ่งแวดล้อมก็สำคัญเช่นเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง การทำประมงของชาวบ้านระหว่างการก่อสร้างซึ่งก็ต้องศึกษากัน"

ด้านนายสุไหลหมาน โหดเส็น นายกอบต.นาทับ กล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงการระดมความคิดเห็นว่าพื้นที่ต.นาทับมีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของโครงการ ซึ่งหากประชาชนต.นาทับเห็นด้วยก็ต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมเศรษฐกิจของชุมชนอีกมาก

"ขณะนี้ชาวบ้านที่ค่อนข้างเป็นห่วงก็มีจากหมู่7และ11(เป็นหมู่บ้านอยู่ใกล้โครงการ) ทางโครงการฯเองหากจะทำที่นี่จริงๆ ต้องตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในกรณีใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากโครงการ อย่างไรก็ตาม ดร.มานะเองท่านก็บอกว่าไม่มีผลกระทบร้ายแรงอะไรกับพื้นที่มากนัก เพราะมีการศึกษาที่ค่อนข้างครอบคลุมและสามารถเตรียมป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้" นายสุไหลหมาน กล่าว

นายนิรันดร์ หมัดเลาะ ประธานสภาอบต.นาทับ กล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลบางส่วนของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งในรายละเอียดนั้นยังต้องมีการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็นกันอีกหลายรอบ เพราะเป็นโครงการใหญ่

นายนพดล นุ้ยสมัน ราษฎรหมู่ 4 กล่าวว่า ตนสนใจเรื่องวิธีทำประชาพิจารณ์ว่าหากโครงการจะเกิดขึ้นในต.นาทับจริง จะมีการทำกันอย่างไรเพื่อให้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นจากประชาชนมากที่สุด เพราะสังเกตจากหลายๆ โครงการไม่ครอบคลุมความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนอย่างแท้จริง

โดย Focus Team

Comment #1
เศร้า (Not Member)
Posted @11 ต.ค. 50 07:59 ip : 146...16

แล้วท่าเรือนำลึกที่มีแล้วละครับ

Comment #2
พอเพียง (Not Member)
Posted @11 ต.ค. 50 08:02 ip : 146...16

ขอให้เพียงพอ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว