สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

'ทบ.หาดใหญ่-อปท.สงขลา' เล็งผุดเตาเผาขยะ 2,162 ล้าน

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เทศบาลนครหาดใหญ่จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผลักดันโครงการระบบกำจัดขยะรวม แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยการก่อสร้างระบบเตาเผาแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ขนาด 4.3 เมกะวัตต์ มูลค่า 2,162 ล้านบาท โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน คิดราคาจัดการขยะตันละ 350 บาท แต่ยังไม่สรุปจะใช้พื้นที่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ หรือ ต.ทุ่งขมิ้น อ.นาหม่อม รอลงมติเห็นชอบก่อนเริ่มสร้างในปี 2551

เทศบาลนครหาดใหญ่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เร่งแก้ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยร่วมกัน หลังพบว่าปริมาณของขยะในพื้นที่ต่างๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่สำหรับกำจัดขยะมีไม่เพียงพอ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่อง "การกำหนดแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกัน ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" โดยมีการเชิญตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในการจัดการขยะด้วยระบบเตาเผาขยะรวม

สำหรับโครงการที่เทศบาลนครหาดใหญ่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จะดำเนินการร่วมกันคือ "โครงการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน" ที่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างใน 2 พื้นที่คือบริเวณ ต.ทุ่งขมิ้น อ.นาหม่อม จ.สงขลา และ พื้นที่ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ยังไม่กำหนดชัดเจนว่าจะก่อสร้างพื้นที่ใด เนื่องจากต้องรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเห็นชอบร่วมกันก่อน ซึ่งมีระยะเวลาในการตัดสินใจในเรื่องนี้ 150 วัน

นางวราภรณ์ คุณาวนากิจ วิศวกรเคมี ซึ่งร่วมคณะมากับ บริษัท โอเปอเรเตอร์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ และ พื้นที่ดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก และพื้นที่ฝังกลบขยะเดิมถูกใช้งานมานานกว่า 20 ปีแล้ว และกำลังประสบปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณขยะมูลฝอย ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ดังนั้น การกำจัดขยะมูลฝอยด้วยการเปลี่ยนเป็นพลังงาน จึงมีความเหมาะสม เนื่องจากได้ใช้ประโยชน์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"เทคโนโลยีทางเลือกที่จะนำมาใช้สามารถทำงานโดยมีการคัดแยกวัสดุ กำจัดวัสดุที่ไม่เหมาะสม และนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ด้วยเครื่องอัดอัตโนมัติโดยการออกแบบให้แยกจำนวนการนำเอากลับมาใช้ใหม่และให้เกิดการผสมผสานให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็น โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 4.3 เมกะวัตต์ นำเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ก็อาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้น เช่น มลพิษทางอากาศ กลิ่น และกากของเสีย" นางวราภรณ์ กล่าวและว่า

สำหรับโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ ซึ่งยังคงต้องรอให้เทศบาลตำบลมีความเห็นชอบและอนุญาตให้ใช้พื้นที่ จึงจะสามารถดำเนินการได้ และหากผ่านความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่แล้ว จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2551 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 2,162 ล้านบาท มีอายุการใช้งาน 25 ปี

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการสอบถามอย่างกว้างขวาง ถึงระบบการจัดการและความเป็นไปได้ในการลงมือก่อสร้างเตาเผาขยะในรูปแบบดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มีการสะท้อนว่าประสบปัญหาขยะในพื้นที่ล้น ไม่สามารถกำจัดได้หมด ประกอบกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้เทศบาลนครหาดใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ และเร่งดำเนินการโดยด่วน เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานานในหลายพื้นที่แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง

นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณขยะโดยเฉพาะในพื้นที่หาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาก อยู่ที่วันละ 250 - 300 ตันต่อวัน และลดลงเหลือ 120ตันต่อวัน ในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการก่อวินาศกรรม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสามารถบอกได้ว่ามีจำนวนคนหายไปจากหาดใหญ่ ถึงเกือบ 9 หมื่นคน แต่เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน อ.หาดใหญ่ จะกลับสู่ภาวะปกติ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว

"โครงการนี้ หากเราลงทุนเองก็จะเป็นปัญหาในเรื่องของงบประมาณ ที่จะต้องดูแลในหลายๆ เรื่อง เทศบาลฯจึงอยากให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยคิดค่าจัดการขยะในราคาตันละ 350 บาท ซึ่งราคาจะลดลงอีกหากมีปริมาณขยะมากขึ้น แต่ถ้าขยะไม่พอต่อการดำเนินการ ราคาก็อาจสูงขึ้นเหมือนภูเก็ตที่คิดตันละ 700 - 800 บาท เชื่อว่าหากก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลา 4-5 ปี เตาเผาขยะก็คงอยู่ได้โดยตัวมันเอง จึงอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ได้กลับไปคิดว่าจะร่วมกันหรือไม่ จากนั้นจะได้มีการเซ็นเอ็มโอยู และก่อสร้างทันที แต่หากพิจารณาแล้วมีต้นทุนสูงเหมือนภูเก็ตเราก็คงไม่เอา" นายไพร กล่าว

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 พฤศจิกายน 2549 19:23 น.

Comment #1
พูนศักดิ์ (Not Member)
Posted @9 พ.ค. 51 14:57 ip : 130...86

ตันละ 350 บาท แม้กระทั่งทำหลุมฝังกลบแบบ Sanitary Landfill มาตรฐานต่างประเทศนะยังแทบไม่ได้เลย  แล้วนี่จะทำเตาเผาที่มีค่าก่อสร้างและซ่อมบำรุงสูงกว่าอย่างต่ำ 4-5 เท่าจะเอาเงินจากไหน  อยากให้ศึกษาผลกระทบให้ดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (เอาโปรแกรมเช่น LCA มาช่วย) พร้อมกับด้านเศรษฐศาสตร์

Comment #2
ดนัย วานาโย (Not Member)
Posted @10 ต.ค. 52 23:23 ip : 113...73

ยังสร้างโรงเตาเผาไม่ได้แน่นอน ตราบใดที่ความง่ายในการเทกองขยะมีการรับผลประโยชน์หลากหลายรูปแบบ ที่ดินทำให้เป็นหลุมนำดินไปขายได้ รับฝากทิ้งก็ได้เงิน ราคาที่ดินจากถูกเป็นแพงได้ ไม่เกิน 5 ปี ก็จะมีชาวบ้านออกมาประท้วง จึงจะมีการฝั่งกลบที่ถูกต้อง ภายใต้ต้นทุนสูงมากๆ โรงงานใหญ่ที่มีอยู่แล้ว หากเสีย เงินจะซ่อมยังไม่มีเลย เพราะค่าซ่อมเขาพูดกันระดับ 50 ล้าน ทราบด้วยนะครับเจ้านาย  ไม่ง่ายอย่างที่พูดนะจ๊ะจะ  บอกให้

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว