สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เน้นพัฒนาหาดใหญ่ - สงขลาแบบ'ทวินซิตี้'

by kai @13 ต.ค. 49 16:54 ( IP : 58...11 ) | Tags : อัลบั้มกิจกรรม
photo  , 200x275 pixel , 23,448 bytes.

เน้นพัฒนาหาดใหญ่ - สงขลาแบบ'ทวินซิตี้'

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 ตุลาคม 2549 15:30 น.

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ -เครือข่ายผังเมืองสงขลา กางแผนโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวม เมืองหาดใหญ่และสงขลา ให้ทุกภาคส่วนแสดงความเห็น ระบุทิศทางการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ เน้นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และการขยายเขตเมืองสู่ปริมณฑล จากเดิม 254.52 ตร.กม.เป็น 808 ตร.กม.ครอบคลุม 5 อำเภอ 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 3 เทศบาลตำบล 21 อบต. เน้นพัฒนาแบบทวินซิตี้ พร้อมเตรียมปลุกผีนิคมฯฉลุง โดยใช้มาตรการผังเมืองบังคับตั้งโรงงาน แนะย้ายเขตทหารที่สงขลา พัฒนาเป็นแหล่งเที่ยว เชื่อดึงเงินลงทุนได้มหาศาล
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายผังเมืองสงขลา จัดระดมความคิดเห็น "ทิศทางการพัฒนา หาดใหญ่ - สงขลา สู่การเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ ภายใต้โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา และโครงการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่" ที่ ลานกิจกรรมชั้น 5 ห้างโอเดี้ยน ช็อปปิ้ง มอลล์ หาดใหญ่ โดยมีตัวแทนภาคประชาชน นักธุรกิจ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังประมาณ 60 คน
นายบุญโรจน์ แสงหยกกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การศึกษาการวางผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา และ อ.หาดใหญ่ มีความจำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาในหลายๆ ประเด็น เนื่องจากอาจจะเกิดปัญหาและผลกระทบตามมาในภายหลังได้
"ยกตัวอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ มีการสร้างสนามบินไปก่อนแล้วมาทำผังเมืองทีหลัง ก็จะมีปัญหาตามมา ส่วนใน อ.หาดใหญ่ ปัญหาที่พบมาโดยตลอด คือ ปัญหาน้ำท่วม การสร้างถนนสายต่างๆ ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ แม้จะมีการขุดคลองระบายน้ำหลายสาย แต่ยังไม่แน่ว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้หรือไม่ การวางผังเมืองที่เหมาะสมจึงสำคัญต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน" นายบุญโรจน์ กล่าว
นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิชย์ วิศวกรผังเมือง บริษัทคอนซัลแตนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ผู้รับศึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ กล่าวว่า การศึกษาการจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ เน้นหนักไปที่การป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาได้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นทั่วโลก โดยทวีปเอเชียมีความถี่สูงสุด ซึ่งภัยที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือภัยน้ำท่วม
"ใน อ.หาดใหญ่ ช่วงหน้าฝนพื้นที่รอบๆ ตลองอู่ตะเภาและลำคลองสาขามีน้ำหลากมาก แม้จะมีการขุดคลองระบายน้ำแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยอุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อปี 2459 ระดับน้ำ 2 เมตร จากนั้นก็ท่วมมาตลอดแต่ไม่หนักมาก จนกระทั่งปี 2531 ก็ท่วมสูงอีกกว่า 1.43 เมตร จนกระทั่งปี 2543 ระดับน้ำท่วมสูงถึง 3.50 เมตร พื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำวาก เช่น ต.บ้านหาร ต.น้ำน้อย ต.คูเต่า ซึ่งเป็นชุมชนรอบคลองอู่ตะเภา" นายศักดิ์ชัย กล่าวและว่า

การปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ ได้มีการขยายพื้นที่ครอบคลุมเขตปริมณฑล รวม 808 ตร.กม. ประกอบไปด้วยเขตการปกครอง 5 อำเภอ 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 3 เทศบาลตำบล(ทต.) 21 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ได้แก่ อ.หาดใหญ่ (ต.คลองอุตะเภา ต.คูเต่า ต.ฉลุง ต.ท่าข้าม ต.ทุ่งตำเสา ต.ทุ่งใหญ่ ต.น้ำน้อย ต.บ้านพรุ ทต.คลองแห ทต.ควนลัง ทม.บ้านพรุ ทต.คอหงส์ ทน.หาดใหญ่) อ.นาหม่อม (ต.นาหม่อม, คลองหรัง ต.ทุ่งขมิ้น ต.พิจิตร) อ.บางกล่ำ (ต.ท่าช้าง ต.บ้านหาร ต.ท่าช้าง ต.แม่ทอม) อ.คลองหอยโข่ง (ต.คลองหรา ต.คลองหอยโข่ง) อ.ควนเนียง (ต.บางเหรียง)
สำหรับ แนวคิดในการวางผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ คือ 1.การพัฒนาเมืองที่สนับสนุนแผนพัฒนาประเทศ และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพปลอดจากอุทกภัย 2.กรอบแนวคิดในการวางผังระยะยาว เป็นการพัฒนาเมืองระบบหลายศูนย์กลาง 3.การพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง โดยอาศัยศักยภาพของระบบขนส่งมวลชน เพื่อสนับสนุนบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และลดความจำเป็นในการเดินทางเข้าสู่เขตเมืองชั้นใน 4.การสงวนและรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความสามารถในการระบายน้ำ ของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในเขตชานเมืองของเมืองหาดใหญ่
ทั้งนี้ การขยายพื้นที่จากเดิม 254.52 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) เพิ่มขึ้นเป็น 808 ตร.กม เป็นไปเพื่อเพิ่มบทบาทศูนย์พาณิชยกรรม หรือพื้นที่ปลอดภัยจากอุทกภัย ศูนย์พาณิชยกรรมรอง 2 พื้นที่ คือทางเข้าสนามบินฯ และพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ ศูนย์พาณิชยกรรมชุมชน 4 แห่ง คือ ชุมชนเมืองบางกล่ำ นาหน่อม คลองหอยโข่ง และทุ่งตำเสา ศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนชนบท 9 แห่ง คือ ศูนย์ชุมชนบางเหรียง ท่าช้าง ทุ่งตำเสา ทุ่งขมิ้น คลองหรัง พิจิตร ท่าข้าม น้ำน้อย
นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหาน้ำท่วม มีทั้งมาตรการการใช้สิ่งปลูกสร้าง เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำต่างๆ มารองรับน้ำช่วงน้ำหลาก ส่วนมาตรการการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง จะเน้นที่การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และวิเคราะห์ปริมาณน้ำควบคู่กัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าศักยภาพของพื้นที่ บริเวณ อ.บางกล่ำ ทางเข้าสนามบินหาดใหญ่ เทศบาลตำบลคลองแห ต.ฉลุง มีศักยภาพมากในการพัฒนาเป็นชุมชนเมือง เพราะมีความปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วมมากกว่าที่อื่น
ดังนั้นในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งตามผังพื้นที่ที่เป็นสีเขียวลาย ถูกเพิ่มเข้ามาและกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป้องกันปัญหาน้ำท่วม กฎหมายจะไม่บังคับย้อนหลัง แต่หลังประกาศใช้ผังเมืองแล้ว จะไม่ส่งเสริมให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ ซึ่งจะมีมาตรการที่ชัดเจนมาควบคุมในส่วนนี้ด้วย
ด้านนายสมชาย โพธิวงศาจารย์ วิศวกรผังเมือง บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้รับศึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในส่วนของผังเมืองรวมจังหวัดสงขลานั้นมีประเด็นที่น่าสนใจคือการกำหนดพื้นที่รองรับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ พื้นที่ อ.สิงหนคร อ.รัตภูมิ อ.ควนเนียง และ อ.บางกล่ำ เป็นกลุ่มพื้นที่บริการด้านขนส่งสินค้า เน้นการส่งเสริมให้พื้นที่เกิดการขยายตัวทางการพัฒนาในรูปแบบของการคมนาคมและขนส่ง เชื่อมโยงกับท่าเรือปากบาราจังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลาที่ อ.สิงหนคร รวมทั้งเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการขนส่งจากผลของโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี เน้นการส่งเสริมบทบาททางด้านการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของจังหวัดสงขลาและพื้นที่ภาคใต้ และการมีบทบาทการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นฐานการผลิต และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ รวมทั้งการเชื่อมโยงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่ใกล้เคียง
"การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ ซึ่งจะเห็นว่ามีโครงการวางท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งโรงไฟฟ้าสงขลา เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว รวมทั้งยังมีการศึกษาการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เพื่อแก้ปัญหาท่าเรือน้ำลึกสงขลาที่มีปัญหาการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งในส่วนนี้มีการว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาไปแล้ว แต่พื้นที่ภาคใต้มีการต่อต้านการพัฒนาสูง จึงพัฒนาไปได้ช้า ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงมาก อย่างกรณีโครงการท่อก๊าซ ไทย - มาเลย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับผลประโยชน์ ชาวบ้านเขาก็เลยต้าน" นายสมชายกล่าวและว่า
ในส่วนของการกำหนดให้พื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.บางกล่ำ เป็นพื้นที่ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ก่อนหน้านี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากก่อนหน้านี้การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวติดปัญหาในหลายๆ ด้าน โรงงานอุตสาหกรรมแย่งกันตั้งโรงงานบริเวณริมถนน ไม่ยอมเข้าไปใช้พื้นที่นิคมฯ ซึ่งการวางผังเมืองใหม่ จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าไปตั้งในนิคมฯ เป็นการขีดวงไม่ให้กิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมรบกวนชุมชนที่อยู่อาศัย
"ที่ผ่านมาการบริหารจัดการทั้งด้านการตลาด และสิ่งต่างๆ ที่จะมาสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ เกิดการติดขัด ทั้งเรื่องของแหล่งน้ำ และการขนส่ง รวมทั้งขณะนั้นยังไม่มีมาตรการด้านผังเมืองมาเป็นตัวควบคุมการตั้งโรงงาน ในการจัดทำผังเมืองใหม่ครั้งนี้จึงเป็นมาตรการที่จะมากำกับให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวตามกรอบและแนวคิดที่กำหนดไว้ในผังเมือง เมื่อผังเมืองประกาศใช้ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น" นายสมชายกล่าว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา และเมืองหาดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีการแยกส่วนต่างคนต่างทำ แต่ก็ได้คำนึงถึงความสอดคล้องและความเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ ในรูปแบบทวินซิตี้ โดยเน้นให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจและบริการ ส่วนสงขลาเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง และส่งเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
"การพัฒนาผังเมืองจะมองเรื่องของศักยภาพของเมืองเป็นตัวตั้ง เช่น การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว จะเห็นว่าพื้นที่เขตทหารบริเวณถนนชลาทัศน์ ในเขต อ.เมืองสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและบริการได้ หากมีการย้ายเขตทหารออกไป จะเป็นเขตดึงดุดเงินลงทุนเข้ามาอย่างมหาศาล แค่จุดเดียวก็สามารถเปลี่ยนอะไรได้อีกมาก" นายสมชาย กล่าว
ด้านนายวีระพันธ์ มุสิกสาร หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้เสนอแนะให้มีการทบทวนโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการพิจารณาศักยภาพของเทศบาลตำบลคอหงส์ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังต่ำกว่าศักยภาพจริง
ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ได้มีการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติ ขึ้นในพื้นที่ ทำให้ในอนาคตอันใกล้พื้นที่ดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนด้านโรงแรมที่พัก และบริการต่างๆ ที่จะตามมา ซึ่งในโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ ได้มองข้ามจุดนี้ไป และตนจะจัดทำข้อเสนอเป็นเอกสารเสนอแนะไปยังบริษัทที่ปรึกษาอีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้านี้

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว