สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

อีกหนึ่งอุดมการณ์ สานความตั้งใจฟื้นฟูวิถีชาวนาไทยแห่งลุ่มน้ำคลองภูมี

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมี ได้มีกิจกรรมเก็บข้าวเพื่ออนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของคนในชุมชน โดยรวมตัวกัน ณ บ้านนายจรินทร์ ธรรมวาโย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจที่จะสืบสานวิถีเดิมๆไว้ “บ้านหูแร่”ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนแถบนี้ในอดีต ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่สวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่ แต่ชาวบ้านบางครอบครัวก็ยังนิยมทำนากันอยู่ ส่วนใหญ่จะทำไว้กินเอง ต้นทุนการทำนาต่ำเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีใดๆ กินข้าวได้อย่างสบายอุรา

 คำอธิบายภาพ : jarin1

คุณจรินทร์  ธรรมวาโย แกนนำกลุ่มหูแร่เจ้าของนาผืนนี้

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สถานการณ์การทำนาในหลายพื้นที่ในลุ่มน้ำคลองภูมีเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น อาจเกิดจากสภาวะข้าวยากหมากแพง ต้นทุนการผลิตสูง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มีมาก จะเห็นได้ว่าหลายๆกลุ่มเริ่มตื่นตัวที่จะปลูกข้าวไว้กิน ผืนนาผืนน้อยเริ่มมีความหมายมากขึ้น รอยยิ้มของผู้คนเริ่มกลับมา ... แม้นี่คือรอยยิ้มหนึ่งตรงมุมเล็กๆของสังคม แต่ก็เป็นรอยยิ้มที่สุขใจ เราเชื่อว่าความสุขเริ่มจากตรงนี้คือที่ใจ “ทำนาได้อะไรมากกว่าที่คิด” วันนี้คุณจรินทร์ ได้ข้าวไว้กิน ได้เพื่อนไว้คุย ได้รักษาผืนนาซึ่งเป็นมรดกของครอบครัวเอาไว้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่อนุรักษ์ความสมดุลของระบบนิเวศน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำภูมี และที่สำคัญได้ดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณชาวนาแห่งลุ่มน้ำภูมี ทางเครือข่ายฯขอเป็นกำลังใจให้ทุกความตั้งใจดีดำเนินวิถีที่สอดคล้องสมดุลต่อระบบนิเวศน์ต่อไป

 คำอธิบายภาพ : jarin2

เพื่อนบ้านใกล้เคียงมาร่วมเรียงเก็บข้าว

 คำอธิบายภาพ : somnuk

คุณสมนึก หนูเงินประธานเครือข่ายฯ  เห็นอยู่ไกลๆนู้นคุณสุจิน แก้วบุญส่ง (ไม่ได้เก่งแต่จัดรายการวิทยุนะ)

 คำอธิบายภาพ : meaw

คุณแมว ณัฐฑวรรณ อิสระทะ เจ้าแม่แห่งข้าวลุ่มน้ำคลองภูมี

บทความโดย นางสาวปราณี วุ่นฝ้าย - กองเลขาเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมี

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว