แผนสุขภาพประเด็นการดูแลผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็น 5 การสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการและผู้ด้อยโอกาส
หลักการและเหตุผล
โดยภาพรวมของสุขภาวะของคนพิการจังหวัดสงขลา พบว่า คนพิการจำนวนมากยังคงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือการบริการสุขภาพตามสิทธิ์ที่มีอยู่และระบบการบริการสุขภาพก็ยังไม่มีการประกันการเข้าถึงข้อมูลและการบริการตามสิทธิที่มีอยู่ได้ คนพิการไม่สามารถรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพความพิการ ขาดข้อมูลข่าวสารในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบัน และมีความต้องการบริการสุขภาพส่วนบุคคลนอกเหนือจากการฟื้นฟูสมรรถภาพ คือด้านการป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาโรคเหมือนกับประชาชนทั่วไป
การบริการทางการแพทย์เท่าที่มีและเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามชุดของความรู้หรือการนิยาม (วาทกรรม) ทางการแพทย์ และอาจกล่าวได้ว่ามิได้ให้การดูแลแบบองค์รวมกล่าวคือ เน้นด้านการรักษา มากกว่า การป้องกัน การฟื้นฟูสมรรถภาพและการส่งเสริมสุขภาพ ทำให้คนพิการมองสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วรักษามากกว่าการป้องกัน ส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพตนเอง นอกจากนั้นการส่งเสริมสุขภาพก็ยังขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นและจำเพาะในคนพิการแต่ละประเภทในทางปฏิบัติอีกมาก
ในภาพรวมด้านนโยบายและกฎหมายยังอยู่ในทิศทางการสงเคราะห์คนพิการมากกว่าการพัฒนาศักยภาพมนุษย์เพื่อความยั่งยืน นั่นคือยังคงสะท้อนทัศนะที่สังคมมองว่า คนพิการควรถูกกำหนดให้เป็นคนชั้นล่าง ที่ต้องรอรับการสงเคราะห์ กระบวนทัศน์ของระบบสุขภาพและสังคมโดยรวมในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่ายังไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการที่แท้จริงของคนพิการ ทำให้การสนองตอบหรือการบังคับใช้กฎหมายหลัก ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไม่สัมฤทธิ์ผลในแง่การสร้าง/พัฒนาสุขภาวะคนพิการเท่าที่ควร ทำให้การทำงานที่ผ่านมาไม่ได้สร้างการเรียนรู้ในสังคมเกี่ยวกับความพิการและคนพิการ อย่างลึกซึ้งถึงแก่นจริงๆ
นอกจากนี้ เรื่องราวในโลกความเป็นจริงของคนพิการยังคงเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่รู้และไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ในแง่การทำงานขององค์กรคนพิการ โครงสร้างขององค์กรคนพิการมีความสัมพันธ์กันในแนวดิ่ง ศูนย์ความคิดและการจัดการอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ไม่สามารถส่งข่าวสารที่เป็นปัจจุบันได้ทันเหตุการณ์ และไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ ข้อมูลจะอยู่ที่องค์กรยังไม่ถึงคนพิการทุกคนโดยตรงได้ องค์กรคนพิการประเภทต่าง ๆ ในภาคใต้ยังไม่ได้ทำงานร่วมกันในเชิงแนวคิดและเครือข่ายมากนัก แต่ละองค์กรเน้นการทำงานเพื่อให้เกิดรูปธรรมของสิทธิของคนพิการประเภทของตนเองเป็นหลัก องค์กรคนพิการแต่ละประเภทยังไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณอย่างแท้จริง ไม่มีงบประมาณการดำเนินงานแบบต่อเนื่อง จึงต้องทำงานแบบพึ่งตนเอง ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และไม่ต่อเนื่อง การที่ขาดการทำงานในเชิงเครือข่ายประสานทำงานกัน ทำให้ไม่สามารถสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ลงลึกไปถึงระดับฐานความคิดความเชื่อได้
จากสถานการณ์สุขภาวะคนพิการดังกล่าวที่การทำงานของแต่ละภาคส่วนขาดการบูรณาการเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ของสุขภาวะที่เป็นองค์รวม จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์การทำงานและมีการระดมทรัพยากรเพิ่มขึ้นโดยต้องมีฐานปฏิบัติการที่เป็นเครือข่ายของภาคีองค์กรคนพิการ องค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีความศรัทธาต่อแนวคิดที่ว่า "มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน คนพิการสามารถพัฒนาศักยภาพ หากได้รับโอกาสอย่างเสมอภาคเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี" องค์กรคนพิการและนักวิชาการที่ทำงานด้านคนพิการ จึงร่วมกันจัดทำ "แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา: แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการจังหวัดสงขลาขึ้น
ปรัชญาและวิสัยทัศน์
มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน คนพิการสามารถพัฒนาศักยภาพ หากได้รับโอกาสอย่างเสมอภาคเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี
แนวคิดและทิศทาง
แนวความคิดการดำเนินงานด้านคนพิการในประเทศ ได้ให้ความสำคัญที่การพัฒนาคนพิการ ซึ่งเป็นทรัพยากรทางสังคมที่ต้องได้รับการสร้างเสริมศักยภาพอย่างสูงสุดตามสภาพ มีความเสมอภาคที่จะได้รับผลจากการพัฒนาเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป จนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ในครอบครัว ชุมชน และสังคม มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และมีความสามารถในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2550 - 2551 จึงได้วางแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดจนแผนและพันธะสัญญาที่ตกลงร่วมกับนานาประเทศ ดังนี้
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่กำหนดสิทธิที่พึงได้รับมีโอกาสรับบริการพื้นฐานทางสังคม และการคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
- พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ส่งเสริมให้คนพิการได้รับโอกาส สิทธิการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
- แผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2547 - 2549 ที่วางวิสัยทัศน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจังหวัดสงขลา ให้เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีโอกาสทัดเทียมกับคนปกติ โดยใช้ยุทธศาสตร์การดำเนินงานแบบบูรณาการ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเป็นธรรม เสมอภาคและสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2545 - 2549 ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพคน และการคุ้มครองทางสังคม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม โดยให้ "คน" เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา บนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 - 2554 ที่เน้นการการพัฒนาที่เอาคนเป็นตัวตั้งโดยคำนึงถึงทุกมิติของคุณค่าความเป็นคน และการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยยึด "คน" เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา บนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคี
- แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ โดยให้ความสำคัญกับทำงานในลักษณะเครือข่ายปฏิบัติการทางสังคมผ่านการเรียนรู้ ที่มีความสัมพันธ์กันฉันมิตร
- ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในศักดิ์ศรี และคุณค่าของตัวบุคคล และในความเสมอกันแห่งสิทธิของทั้งชายและหญิง ส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมตลอดจนมาตรฐานแห่งชาติให้ดีขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น
- และแผนปฏิบัติการระดับโลกด้านคนพิการ วาระเพื่อการปฏิบัติ และกฎมาตรฐานเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคนพิการ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดมาตรการอันจะเป็นผลดีแก่การป้องกันความพิการ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ด้วยการตระหนักถึงเป้าหมายของการมีโอกาส และส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของคนพิการในชีวิตสังคม ตลอดจนการพัฒนาความเสมอภาคกับคนทั่วไปให้เป็นจริง
วัตถุประสงค์ของแผนงานฯ
- เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ให้เต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ แบบบูรณาการ ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของคนพิการแต่ละบุคคล
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมตัวของคนพิการและครอบครัวของคนพิการ เป็นเครือข่ายขององค์กรช่วยเหลือตนเองของคนพิการ ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน และก้าวหน้า
- เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน และสังคม มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพและสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ
ยุทธศาสตร์
จากแนวคิด แนวทาง และวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ดังนี้
- สร้างเสริมความเข้มแข็งขององค์กรของคนพิการ โดยการหนุนเสริมองค์กร "สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา" และสร้างเครือข่ายผู้พิการระดับอำเภอ ที่มีระบบการจัดสรรทรัพยากร และการสนับสนุนการประสานงานแบบเครือข่ายขององค์กรภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทั้งในด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม และการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ ครอบครัว องค์กร ภาคี เครือข่ายของคนพิการ และชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและมีการบูรณาการ 2.การสร้างเสริมสุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยพัฒนาระบบการดูแลคนพิการระดับอำเภอแบบเบ็ดเสร็จ และพัฒนาศักยภาพผู้พิการให้พึ่งตนเองได้ โดยให้บริการด้านการจดทะเบียน การจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องช่วยความพิการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือด้านการแพทย์ การศึกษา การอาชีพและด้านสังคม ให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของคนพิการแต่ละบุคคล
- ส่งเสริมให้ชุมชน และสังคม มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการ และมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เป็นการสร้างปฏิบัติการชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยค้นหาคนพิการและครอบครัวที่มีศักยภาพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปธรรมการดำเนินชีวิต ค้นหาชุมชนสร้างเสริมสุขภาวะหรือพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะ และเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของนโยบายสาธารณะในการสร้างเสริมสุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพคนพิการ รวมถึงการเผยแพร่เรื่องความสามารถในการพัฒนาตนเองและศักยภาพคนพิการ การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการ และคนพิการ
โครงสร้างการทำงาน
ที่ปรึกษา
- ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
- นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
- พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา
คณะทำงาน
คุณสมศักดิ์ ผจงวงศ์
- คุณชูชาติ กสิกรรมไพบูลย์
- คุณปรีดาพร สีหาวงษ์
- ผศ. ทพ. นพ. สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์
- อ. อำนาจ ทองขาว
- พันจ่าเอก ทวีป เสนขวัญแก้ว
- คุณสมพร ปาตังตะโร
- คุณยงยุทธ แสงพรหม
- คุณเบญจพรรณ เอี่ยมเอม
- คุณจุฑา สังขชาติ
- คุณโตมร อภิวันทนากร
- คุณศิริพล สัจจาพันธ์
- ผศ. เนตรนภา คู่พันธวี นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา
- ประธานกลุ่มคนหูหนวกภาคใต้
- นายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดสงขลา
- คณะทันตแพทยศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
- กรรมการสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา
- อพม.ก อำเภอระโนด
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้
- กลุ่มละครมานีมานะ
- เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้
- คณะพยาบาลศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์
แผนปฏิบัติการเพื่อการขับเคลื่อน
- ยุทธศาสตร์สร้างเสริมความเข้มแข็งขององค์กรคนพิการ: แผนงานการหนุนเสริมองค์กร "สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา" และสร้างเครือข่ายผู้พิการระดับอำเภอ ประกอบด้วยโครงการปฏิบัติการ ดังนี้ 1.1 โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการ "สมาคมคนพิการ จ. สงขลา วัตถุประสงค์ เพื่อให้องค์กรคนพิการมีที่ตั้งที่ถาวร มีเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เช่น การประชุมคณะกรรมการสมาคมคนพิการ ฯ เป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมสุขภาวะและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นต้น มีครุภัณฑ์และวัสดุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานคนพิการ และมีงบบริหารจัดการที่เพียงพอ สม่ำเสมอ ผู้รับผิดชอบ คุณสมศักดิ์ ผจงวงศ์ นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา คณะกรรมการสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
1.2 โครงการจัดตั้งชมรมคนพิการระดับอำเภอ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเครือข่ายองค์กรคนพิการในระดับอำเภอ ที่ทำหน้าที่ประสานงานคนพิการ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ปรึกษาให้แก่คนพิการ ประชาชน และหน่วยงานในระดับอำเภอ ผู้รับผิดชอบ พันจ่าเอก ทวีป เสนขวัญแก้ว คนพิการอำเภอสิงหนคร คุณยงยุทธ แสงพรหม คนพิการอำเภอควนเนียง คุณเบญจพรรณ เอี่ยมเอม อพม. ก อำเภอระโนด แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
1.3 โครงการการจัดการระบบฐานข้อมูลคนพิการ วัตถุประสงค์ เป็นการศึกษาทบทวน สำรวจ รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ของคนพิการ และข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาฐานข้อมูลศักยภาพคนพิการ (Every Human Mapping-Deform: EHM-Deform) วางระบบการสืบค้น การเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารของคนพิการ ผู้รับผิดชอบ อ. อำนาจ ทองขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
1.4 โครงการจดหมายข่าวคนพิการ วัตถุประสงค์ เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ แก่คนพิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา ผู้รับผิดชอบ คุณสมศักดิ์ ผจงวงศ์ นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา คุณสมพร ปาตังตะโร สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา ผศ. เนตรนภา คู่พันธวี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
- ยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ฯ: แผนงานพัฒนาระบบการดูแลผู้พิการระดับอำเภอแบบเบ็ดเสร็จและแผนงานพัฒนาศักยภาพผู้พิการให้พึ่งตนเองได้ ประกอบด้วยโครงการปฏิบัติการ ดังนี้
2.1 โครงการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียนและบริการผู้พิการเบ็ดเสร็จ นำร่องใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสิงหนคร อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอควนเนียง และอำเภอจะนะ โดยเป็นศูนย์ ฯ ที่ประกอบด้วยองค์กรอย่างน้อยสามองค์กร คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชมรมคนพิการระดับอำเภอ นั้น ๆ
วัตถุประสงค์ 1.วางระบบการค้นหาและข้อมูลคนพิการระดับอำเภอ 2.ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาและหรือประสานการช่วยเหลือด้านการแพทย์ การอาชีพ การศึกษาและด้านสังคม
- ให้บริการช่วยเหลือให้ได้สิทธิการรักษา ได้อุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งสนับสนุนเบี้ยยังชีพแก่คนพิการ รายละ 200 บาท แก่องค์กรคนพิการ
ผู้รับผิดชอบ
- ผศ. เนตรนภา คู่พันธวี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอจะนะ
- พันจ่าเอก ทวีป เสนขวัญแก้ว คนพิการอำเภอสิงหนคร
- คุณสมพร ปาตังตะโร คนพิการอำเภอสิงหนคร
- คุณยงยุทธ แสงพรหม คนพิการอำเภอควนเนียง
- คุณเบญจพรรณ เอี่ยมเอม อพม. ก อำเภอระโนด แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
2.2 โครงการการฝึกอาชีพและส่งเสริมการศึกษา โดยสมาคมคนพิการทำหน้าที่ประสานงานและขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการฝึกอาชีพของคนพิการ ทั้งการศึกษาในโรงเรียนเฉพาะคนพิการโรงเรียนเรียนร่วม การศึกษานอกโรงเรียน และการประกอบอาชีพอิสระ การทำงานในหน่วยงานเอกชน สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจในระดับอำเภอ วัตถุประสงค์ พัฒนาการศึกษา อาชีพและการตลาดของผลิตภัณฑ์งานอาชีพคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีเศรษฐานะที่พอเพียงในการดำรงชีวิต ผู้รับผิดชอบ สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
3 ส่งเสริมให้ชุมชน และสังคม มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการ ฯ : แผนงานการสร้างความเข้าใจและเจตคติที่ถูกต้องต่อคนพิการและนำไปสู่นโยบายสาธารณะในการขับเคลื่อนสุขภาวะคนพิการในแต่ละประเด็นและแต่ละพื้นที่ และเผยแพร่ชุดความรู้ " เรื่องผู้พิการสู่สาธารณะ"
3.1 โครงการ "งานวันคนพิการ" วัตถุประสงค์ การสร้างความเข้าใจและเจตคติที่ถูกต้องต่อคนพิการและนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและนโยบายสาธารณะ เกิดกลไกการเรียนรู้และกลไกการมีส่วนร่วมของคนพิการและภาคีพันธมิตร โดยขับเคลื่อนด้วยเวทีสมัชชากระบวนการเรียนรู้ของคนพิการจังหวัดสงขลา ผู้รับผิดชอบ
- ผศ.เนตรนภา คู่พันธวี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.ทพ.นพ.สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คุณสมศักดิ์ ผจงวงศ์ นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
3.2 โครงการการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะผู้พิการจังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์
- สร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์และสภาวะของผู้พิการในการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรระหว่างผู้คนในสังคม 2.กระตุ้นให้สังคมเกิดความรู้ความเข้าใจ ปรับกระบวนทัศน์และแนวคิดในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงสิทธิโดยเฉพาะด้านบริการสุขภาพด้านต่างๆของผู้พิการ 3.พัฒนาคุณภาพและศักยภาพการสื่อสารในท้องถิ่นให้เป็นช่องทางในการยกระดับสุขภาวะของผู้พิการ
ผู้รับผิดชอบ
- คุณจุฑา สังขชาติ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้
- คุณโตมร อภิวันทนากร กลุ่มละครมานีมานะ
- คุณศิริพล สัจจาพันธ์ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
3.3 โครงการเผยแพร่ชุดความรู้ " เรื่องผู้พิการสู่สาธารณะ"
วัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำหนังสือชุดความรู้ "สถานการณ์ผู้พิการจังหวัดสงขลา" ออกเผยแพร่
ผู้รับผิดชอบ
- ผศ. เนตรนภา คู่พันธวี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คุณสมศักดิ์ ผจงวงศ์ นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา
- คุณชูชาติ กสิกรรมไพบูลย์ ประธานกลุ่มคนหูหนวกภาคใต้
- คุณปรีดาพร สีหาวงศ์ นายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดสงขลา แหล่งทุน แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
8. การประเมินผล
โครงการประเมินผลโดยใช้กระบวนการเรียนรู้
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินการสร้างเสริมสุขภาวะ และการพัฒนาศักยภาพคนพิการ โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น
- คนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาศักยภาพแบบบูรณาการ ทั้งทางด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม อย่างเต็มศักยภาพแต่ละบุคคลอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของคนพิการแต่ละบุคคล
- คนพิการ และผู้ปกครองคนพิการในทุกท้องถิ่น รวมตัวเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะ การพัฒนาศักยภาพคนพิการ รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประกอบกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเพิ่มขึ้น
- องค์กรท้องถิ่น มีนโยบายและกฎหมาย รวมถึงมีกลไกที่เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและคุ้มครองคนพิการให้มีความเสมอภาคกับคนทั่วไป
- คนพิการ ครอบครัวของคนพิการ องค์กรคนพิการ ชุมชน สังคม องค์กรภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อคนพิการ ดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยประสานการทำงานแบบเครือข่าย
- คนพิการได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 15 ต่อปี
- คนพิการมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี
- คนพิการตระหนักรู้สิทธิ หน้าที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และเทคโนโลยีอย่างน้อยร้อยละ 20 ของบริการที่มีอยู่
- คนพิการ ครอบครัวของคนพิการ ชุมชน และสังคม ทั้งในเมืองและชนบท มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับความพิการและคนพิการ และมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะ และพัฒนาศักยภาพคนพิการเพิ่มขึ้น
คนพิการทั้งในเมืองและชนบทของจังหวัดสงขลา มีสุขภาวะที่ดีเพิ่มขึ้น ทั้งด้านร่างกายสติปัญญา จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ
ผู้รับผิดชอบ ผศ. เนตรนภา คู่พันธวี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แหล่งทุน สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้
Relate topics
- ขาเทียมสำหรับผู้พิการขา
- เครือข่ายคนพิการในสงขลา
- "แม่นก" เธอมีความสุขแม้ลูกพิการ
- เร่งหาทางออกให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการ
- สธ.ทุ่ม 10 ล้านจัดหน่วยแพทย์ให้บริการผู้พิการและผู้สูงวัยใน ตจว.
- รายงานการประชุมวางแนวทางการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียน และชมรมคนพิการ อ. จะนะ
- ประชุมวางแนวทางการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียน และชมรมผู้พิการระดับอำเภอสิงหนคร
- รายงานประชุมแนวทางการจัดตั้งชมรมคนพิการระดับอำเภอระโนด ในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
- รายงานการประชุมทำความเข้าใจและติดตามแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา
- ร่างแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็น การสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการและผู้ด้อยโอกาส