สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

"บ้านหนังสือชุมชน" รากฐานชีวิตคนหาดใหญ่

by wanna @31 ก.ค. 49 15:19 ( IP : 58...172 ) | Tags : อัลบั้มกิจกรรม

โดย ปิยนาถ ประยูร

5 ปีที่แล้ว ซอยโวค บริเวณหาดใหญ่ใน จ.สงขลา เคยมีโครงการห้องสมุดชุมชน "รักบ้านเกิด" ตั้งอยู่ ด้วยความหวังจะให้เป็นห้องสมุดสุขภาวะสำหรับชาวสงขลา ให้เป็นแหล่งความรู้ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม

หากแต่เปิดตัวโครงการไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ห้องสมุดชุมชน "รักบ้านเกิด" ก็ต้องยุติบทบาทตัวเองลง ด้วยปัญหาต้นทุน สถานที่ และอาสาสมัครที่จะเข้ามาทำงาน

กระนั้น เมล็ดพันธุ์ความคิดสร้างสรรค์ก็หาได้ตายลงไปด้วย

ถึงปี 2549 ห้องสมุดสุขภาวะชุมชนขนาดใหญ่ ก็เกิดขึ้นอีกครั้งในบริเวณชุมชนตลาดพ่อพรหม (หาดใหญ่ใน) จากการอุปถัมภ์ของสมาชิกในชุมชนผู้หนึ่ง ที่บริจาคอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 1 คูหา ให้ทำเป็นห้องสมุดโดยไม่คิดค่าตอบแทน ส่วนทุนทรัพย์ดำเนินการและทรัพยากรสารสนเทศส่วนหนึ่ง ได้จากโครงการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เปิดให้บริการช่วงเปิดเทอม จันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. ช่วงปิดเทอมเปิดให้บริการจันทร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. ปิดทำการทุกวันพุธทั้งเปิดเทอมและปิดเทอม

พื้นที่ใกล้เคียง "บ้านหนังสือ" จัดเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา แวดล้อมด้วย ท่าหาดใหญ่ ที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ วัดหาดใหญ่ ฯลฯ มีความคึกคักของผู้คน หลากหลายด้วยวัฒนธรรม นับว่าเป็นทำเลที่พร้อมจะเป็นศูนย์กลางของแหล่งความรู้ให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น แนวคิดหลักของ "บ้านหนังสือ" จึงไม่พ้นการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต และเป็นชีวิตที่มีความสุข

เมื่อย่างก้าวเข้าไปใน "บ้านหนังสือ" จะเป็นเสมือนกับการเข้าไปในห้องการเรียนรู้ชุมชน ที่แบ่งออกเป็น 2 โซน

โซนแรกเป็นโซนของเด็กๆ มีหนังสือสำหรับเด็ก มีของเล่นเพื่อพัฒนาการเด็ก มีสื่อวีดิทัศน์ที่สามารถฉายให้ชมทางโทรทัศน์ในมุมเล็กๆ ที่อบอุ่น และอีกโซนมีไว้สำหรับเยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่ มีสื่อประเภท "อ่าน ดู ฟัง เขียน เล่น สร้าง แสดง และสัญจร" ให้เลือกหยิบ

ประเภทการอ่าน ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวันทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นิตยสารรายเดือน ให้ความรู้ด้านการเมือง วิทยาศาสตร์ บันเทิง หนังสือวรรณกรรม การ์ตูน หนังสือทำมือของกลุ่มสื่อทางเลือก จดหมายข่าวของกลุ่มเยาวชนและองค์กร จุลสารภายในชุมชน

การดู มีวิดีโอภาพยนตร์และสารคดีเนื้อหาน่าสนใจ และมีนิทรรศการในห้องหนังสือไว้แสดงถึงรายละเอียดของเทศกาลศิลปะต่างๆ และเหตุการณ์ทั่วไป

ด้าน "ฟัง" มีห้องสมุดเสียงให้บริการสื่อเสียงเพลง เรื่องเล่าต่างๆ เช่น ตำนานเมืองสงขลา สถานที่ทางประวัติศาสตร์ใน จ.สงขลา เกร็ดความรู้ที่สนุกน่าสนใจ และยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อต่างๆอยู่เรื่อยๆ

ส่วนสื่อประเภทเขียน ได้แก่ การรวมตัวกันของเครือข่าย จัดกิจกรรมเพื่อการเขียนขึ้น เช่น การเขียนเชิงสร้างสรรค์ บทกวี เรื่องสั้น ความเรียง หรือแม้แต่เขียนเพลง

"เล่น" คือ การจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ที่สนับสนุนให้เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนหันมาสนใจการละเล่นท้องถิ่น พร้อมไปกับการทำความรู้จักกับการละเล่นเดิมที่หายไป

"สร้าง" เป็นการเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและทักษะการใช้มือ ผสมผสานความรู้ด้านศิลปะ เช่น การปั้นดินเหนียว ดินน้ำมัน การทำเซรามิค การวาดรูปสีน้ำ และสีเทียน "แสดง" คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมให้มีการแสดงละครแก่กลุ่มเยาวชน

สุดท้าย "สัญจร" คือ การทำห้องสมุดสัญจร เคลื่อนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ เยาวชน และผู้ที่อยู่ไกลออกไปได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของ "บ้านหนังสือ" และยังมีกิจกรรม "ออกค่าย" ร่วมอีกด้วย

ทรัพยากรของทั้ง 8 สื่อ ไม่ใช่ได้มาจากการซื้อหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่สมาชิกในชุมชนซึ่งอยู่ในนามเครือข่ายต่างๆ ของ จ.สงขลา เช่น กลุ่มห้องสมุดเคลื่อนที่ของเทศบาลหาดใหญ่ เครือข่ายทะเลสาบสงขลา เครือข่ายส่งเสริมสุขภาพสงขลา เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา ชมรมรักเมืองหาดใหญ่ ชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ กลุ่มมานีมานะ (กลุ่มละครสร้างสรรค์) กลุ่มหมื่นส้อง(กลุ่มวรรณกรรม) หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ทางไท สมิหลาฯ วิทยุ มอ.FM 88.0 MHz อสมท 96.5 MHz วิทยุชุมชน เว็บไซต์ songkhlatoday.com ฯลฯ เป็นแนวร่วมในการรับบริจาคหนังสือ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดกิจกรรม

บ้านหนังสือในปัจจุบันนี้รายล้อมไปด้วยเด็กๆ และเยาวชนที่เข้ามานั่งอ่านหนังสือ ซึ่งเมื่ออ่านหนังสือจบ พวกเขาก็จะช่วยกันแสดงความเห็นที่มีต่อหนังสือต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรหนังสือต่อไป

สำหรับผู้ใหญ่ เมื่อใช้เวลาว่างจากการทำงานเข้ามาหาหนังสืออ่านแล้ว ภาพที่เด็กๆ มีความกระตือรือร้นอ่านหนังสือ ยังเป็นทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใหญ่มีความตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสารอีกด้วย

"บ้านหนังสือ" จึงไม่ใช่แค่ที่เก็บสื่อสาระความรู้ แต่เป็นบ้านอีกหลังของคนหาดใหญ่ ที่พร้อมต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ ให้ทุกคนได้เดินเข้าไปด้วยความรื่นรมย์ เยี่ยมชมนิทรรศการ อ่านข่าวสารกิจกรรมเทศกาลของชุมชนตั้งแต่หน้าประตูไปจนถึงด้านใน และนั่งลงบนเก้าอี้เพื่อพักผ่อนจิตใจ ซึมซับความรู้ดีๆเข้าสู่ชีวิต และเดินออกมาอีกครั้งด้วยความรู้สึกเบิกบานใจ
เป็นอีกทางที่จะก้าวไปสู่การมี "สุขภาวะ" ที่ดีของชีวิต

ที่มาหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10358  หน้า 34


อ่านรายละเอียดโครงการ

Relate topics

Comment #1
ส (Not Member)
Posted @12 ม.ค. 50 10:12 ip : 125...136

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว