พบ16กลยุทธ์เคมีเกษตรทำชาวนา-ผู้บริโภคตายผ่อนส่ง
พบ16กลยุทธ์เคมีเกษตรทำชาวนา-ผู้บริโภคตายผ่อนส่ง
14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 12:54:00
นักวิจัยพบบริษัทจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชงัด 16 กลยุทธ์ กระตุ้นการใช้สารเคมี ส่งผลชาวนา-ผู้บริโคตายผ่อนส่ง อาศัยช่องโหว่กฎหมาย นักวิชาการห่วงเกษตรกรได้รับข้อมูลบิดเบือน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายพัฒนพงศ์ จาติเกตุ นักวิจัยอิสระ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ได้ศึกษาวิธีการส่งเสริมการขายสารเคมีเกษตรให้แก่เกษตรกรในระดับไร่นา พบว่า บริษัทที่ทำการตลาดส่วนใหญ่ มักจะมาจากบริษัทข้ามชาติ และบริษัทของคนไทยขนาดกลาง
โดยอาศัยช่องโหว่ที่ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ชัดเจน โดยใช้กลยุทธ์การตลาดถึง 16 วิธี เพื่อกระตุ้นยอดขาย ได้แก่
1.การจับรางวัล ชิงโชค
2.การสัมมนาและจัดเลี้ยง
3.การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน
4.การขายพ่วงกับเมล็ดพันธุ์
5.การจัดแปลงสาธิตในพื้นที่เพาะปลูก
6.การจัดแนะนำสินค้าในชุมชน
7.การให้ของแจกของแถม
8.การให้โบนัสหรือรางวัล
9.การลดราคา
10.การให้ค่านายหน้าแก่ร้านค้าหรือสหกรณ์
11.การให้เครดิตหรือการจ่ายเงินเชื่อ
12.การจัดอบรมเกษตรกร
13.การทำยอดสะสมการใช้สารเคมีเพื่อแลกของรางวัลต่างๆ
14.มีสิ่งตอบแทนเมื่อลูกค้านำเงินมาชำระ
15.การโฆษณาผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งวิทยุ นิตยสารทางการเกษตร แผ่นพับ ใบปลิว รถแห่ ฯลฯ
16.การจัดแสดงสินค้าหน้าร้าน หรือการโฆษณา ณ จุดขาย
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สารเคมีเหล่านี้ ถือเป็นวัตถุอันตราย การปล่อยให้ทำการตลาดโดยปราศจากการควบคุม และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องถือเป็นผลร้ายต่อสังคมโดยรวม
อีกทั้งเกษตรกรผู้ใช้ต้องตายผ่อนส่ง จากการใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็นและใช้ผิดวิธี รวมทั้งคนไทยที่ต้องบริโภคสารปนเปื้อน
โดยเครือข่ายเกษตรกรเล่าให้ฟังว่า จากความไม่รู้และเข้าใจผิดของเกษตรกร พบว่าในบางพื้นที่เกษตรกรเอายาฆ่าหญ้ามาผสมกับน้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อให้มีกลิ่นหอมแล้วฉีดพ่น ซึ่งปริมาณสารพิษไม่ได้ลดน้อยลงเลย ถือเป็นหอมมรณะ สำหรับเกษตรกรไทย ตนเป็นห่วงการได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ข้อมูลบิดเบือน ทำให้เกษตรกรได้รับพาภัยในลักษณะตายผ่อนส่ง
นางอรพรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันการควบคุมตลาดสารเคมีมีเพียงบทบัญญัติในมาตรา 51 พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย 2535 เท่านั้น โดยระบุว่า "การควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการโฆษณาให้ถือว่าวัตถุอันตรายที่มีการกำหนดฉลากตามมาตรา 20 (1) เป็นสินค้าที่มีการควบคุมฉลาก โดยกรรมการควบคุมฉลากตามกฏหมายดังกล่าวโดยอนุโลม" โดยไม่มีข้อบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง
และในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่เคยมีผลการบังคับใช้ให้เห็น เพราะความไม่ชัดเจนในการใช้กฎหมาย ตลอดจนปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ และขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีอย่างแท้จริงของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค
Relate topics
- อีกหนึ่งอุดมการณ์ สานความตั้งใจฟื้นฟูวิถีชาวนาไทยแห่งลุ่มน้ำคลองภูมี
- เปิดตัวสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม 4 ก.พ.นี้
- ออกปากดำนาภูมิปัญญา - ห้องเรียนท้องนา
- สัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยโซนคาบสมุทรสทิงพระ อ.กระแสสินธุ์
- รายงานการประชุมคณะทำงานประเด็นเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ ประจำเดือนมิถุนายน
- "สะตอ" ผักพื้นบ้านภาคใต้มากประโยชน์
- เร่งดันผลิต 'เกษตรอินทรีย์' รองรับตลาดโลก 1.3 ล้านล้านบาท
- กรมวิชาการเกษตรชี้ปลูกพืชGMOเพื่อศึกษาวิจัย-ยันมีมาตรการคุมเข้ม
- กรมวิชาการฯแนะ5กรรมวิธี คุมวัชพืชสวนยางไม่พึ่งสารเคมี
- "ผักกางมุ้งพบพระ":โปรเจกต์กินนิ่มๆ มรดกบาปยุค"เนวิน"ล่อเกษตรกรกู้-ป้อนออเดอร์ ซีพี.