เร่งดันผลิต 'เกษตรอินทรีย์' รองรับตลาดโลก 1.3 ล้านล้านบาท
วันเสาร์ที่ 19 เดือนมกราคม พศ. 2551 ค้นหาข่าว มติชนออนไลน์
เร่งดันผลิต 'เกษตรอินทรีย์' รองรับตลาดโลก 1.3 ล้านล้านบาท
ชี้เกษตรอินทรีย์ของไทยโตช้า ก.เกษตรฯ เร่งผลักดันตามยุทธศาสตร์ชิงส่วนแบ่งตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท พร้อมสร้างเกษตรกรเป็นแนวร่วมตั้งเป้า 1 แสนคนต่อปี รองรับการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 แสนไร่ในปี 2552
นายรุ่งเรือง อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง "เกษตรอินทรีย์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดโลก" ว่า ขณะนี้ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกมีเพิ่มมากขึ้นถึง 20 %/ ปี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ของโลกในปี 2549 สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายยังสูงกว่าราคาสินค้าเกษตรทั่วไปถึง 20 - 30 % ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในไทยยังมีสัดส่วนน้อยมาก จากตัวเลขในปี 2549 มีพื้นที่เพาะปลูก 140,963 ไร่ หรือร้อยละ 0.103 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น และเมื่อเทียบกับประเทศจีนและอินเดียพบว่า ประเทศไทยยังเติบโตช้ากว่ามาก โดยพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 71 ของโลกจากจำนวน 85 ประเทศที่มีการจัดอันดับ
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปี 2548 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 970 ล้านบาท โดยส่งไปจำหน่ายที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดหลัก ส่วนสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ขณะที่ผัก และผลไม้ ก็เพิ่งเริ่มได้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้จะมีอัตราการเติบโตที่เร็วก็ตาม
นายรุ่งเรือง กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ พยายามเร่งผลักดันการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้องในการทำเกษตรอินทรีย์ และการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ที่มุ่งทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก และผลผลิตก็ไม่ได้มีหน่วยงานมาตรวจรับรองมาตรฐาน เนื่องจากเป็นการผลิตที่มุ่งบริโภคในครัวเรือน แต่เมื่อเกษตรกรกลุ่มนี้มีเครือข่ายและมีการผลิตเหลือการบริโภคก็ต้องมีการจำหน่ายเป็นการค้า ก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดระบบและมีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหาร
ในส่วนนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้เข้าไปเชื่อมโยงและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรรายย่อย โดยผ่านปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปี 2550 ที่มีการสนับสนุนปราชญ์ชาวบ้านรวม 40 ศูนย์ พัฒนาเกษตรกรได้กว่า 23,000 คน และในปี 2551 จะสนับสนุนให้เพิ่มขึ้นเป็น 129 ศูนย์ครอบคลุมเกษตรกร 75,000 ราย เพื่อให้การผลิตที่ได้จากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยมีมาตรฐานรองรับสามารถเข้าสู่ตลาดในซุปเปอร์มาเก็ตได้
นอกจากนี้ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภาพรวม ยังได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ขึ้นประกอบด้วยองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เป็นเจ้าภาพหลักในการเชื่อมโยงส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน รวมถึงยังได้ร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ปี 2551 - 2552 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 6 ด้านประกอบด้วย 1. ด้านมาตรฐานและระบบการรับรองที่ต้องได้รับการยอมรับในระดับสากล 2. ด้านการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรเครือข่าย 3.ด้านระบบเชื่อมโยงการผลิต การแปรรูป และการตลาด 4. ด้านการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การตลาด 5. ด้านการวิจัยและพัฒนา และ 6. ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความชัดเจนขึ้น เป็นรูปธรรม และสามารถขยายพื้นที่เป้าหมายการทำเกษตรอินทรีย์ให้เป็น 2 แสนไร่ได้ในปี 2552
Relate topics
- อีกหนึ่งอุดมการณ์ สานความตั้งใจฟื้นฟูวิถีชาวนาไทยแห่งลุ่มน้ำคลองภูมี
- เปิดตัวสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม 4 ก.พ.นี้
- ออกปากดำนาภูมิปัญญา - ห้องเรียนท้องนา
- สัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยโซนคาบสมุทรสทิงพระ อ.กระแสสินธุ์
- รายงานการประชุมคณะทำงานประเด็นเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ ประจำเดือนมิถุนายน
- "สะตอ" ผักพื้นบ้านภาคใต้มากประโยชน์
- พบ16กลยุทธ์เคมีเกษตรทำชาวนา-ผู้บริโภคตายผ่อนส่ง
- กรมวิชาการเกษตรชี้ปลูกพืชGMOเพื่อศึกษาวิจัย-ยันมีมาตรการคุมเข้ม
- กรมวิชาการฯแนะ5กรรมวิธี คุมวัชพืชสวนยางไม่พึ่งสารเคมี
- "ผักกางมุ้งพบพระ":โปรเจกต์กินนิ่มๆ มรดกบาปยุค"เนวิน"ล่อเกษตรกรกู้-ป้อนออเดอร์ ซีพี.