"ผักกางมุ้งพบพระ":โปรเจกต์กินนิ่มๆ มรดกบาปยุค"เนวิน"ล่อเกษตรกรกู้-ป้อนออเดอร์ ซีพี.
"ผักกางมุ้งพบพระ":โปรเจกต์กินนิ่มๆ(1) มรดกบาปยุค"เนวิน"ล่อเกษตรกรกู้-ป้อนออเดอร์ ซีพี.
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤษภาคม 2550 10:15 น.
สมาชิกกลุ่มปลูกผักกางมุ้งพบพระ กำลังพาไปดูแปลงปลูกที่เคยขึ้นโครงหลังคาไว้เมื่อปี 41 รวมทั้งเสาแทงก์น้ำ ที่เตรียมไว้สำหรับบำรุงแปลงผักกางมุ้ง แต่สุดท้ายพวกเขาไม่เหลืออะไรเลย
บุญใส ไชยวงศ์ เลขาธิการกลุ่มปลูกผักกางมุ้งพบพระ (เสื้อสีฟ้า) , ลิขิต วรศิริ ประธานกลุ่มฯ (เสื้อสีเทา) กำลังอธิบายถึงที่มา ที่ไปโครงการนี้ ที่สุดท้ายทำให้เขาและเพื่อนเกษตรกรทั้งหมด 29 คน กลายเป็นหนี้ และจำเลยในคดีผิดสัญญาเงินกู้ , ค้ำประกัน อยู่ในขณะนี้
กลุ่มเกษตรกรปลูกผังกางมุ้งพบพระ จ.ตาก ที่ร่วมกันยืนยันว่า กลายเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐ - คนของบริษัท ซีพี. ที่เข้ามาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 41 สุดท้ายไม่มารับซื้อผลผลิตตามสัญญา
ทองหลา สมสัตย์ และเพื่อนเกษตรกรในกลุ่มปลูกผังกางมุ้งพบพระ กำลังนำเอกสาร พร้อมหมายเรียกที่เกิดจากการเข้าร่วมโครงการปลูกผังกางมุ้ง ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ เมื่อปี 41 มาให้ดู เพื่อยืนยันว่า พวกเขาถูกหลอก
ส่วนหนึ่งของมุ้ง ซีพี.ที่ชาวบ้านต้องกู้เงินจากสหกรณ์การเกษตรพบพระจำกัด มาซื้อในราคา 16,500 บาท/หลัง (ขนาด 216 ตร.ว.) สุดท้ายเกษตรกรบางรายต้องนำมากองทิ้งไว้ โดยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ หลังจากที่โครงการปลูกผักกางมุ้งต้องล้มเหลวไปอย่างสิ้นเชิง
เกษตรกรในกลุ่มปลูกผักกางมุ้งพบพระ จ.ตาก บางรายต้องนำมุ้ง ซีพี.ที่ต้องซื้อมาตามคำแนะนำของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตร เมื่อปี 41 มาทำเป็น "เล้าไก่" แทน
ตาก - แฉอีกหนึ่งโปรเจกต์ กินนิ่ม ๆ ยุค "เนวิน ชิดชอบ" ครองเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ปั้นโครงการ "ผักปลอดสารพิษ : ผักกางมุ้ง" ใช้เครือข่ายกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั่วประเทศ วิ่งหาสมาชิกกู้เงินผ่านสหกรณ์การเกษตร ซื้อมุ้งจาก ซีพี. ใช้ตำแหน่งการันตีรับซื้อผลผลิตทุกเม็ด วาดฝันสุดหรูให้ชาวบ้าน สุดท้ายปล่อยลอยแพทั่วประเทศ เผย "เกษตรกรพบพระ"สุดระทม ถูกต้มจนเปื่อย
"เราถูกหลอกแน่ ๆ เพราะปลูกผักกางมุ้งตามโครงการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ - ซีพี. ที่มีคนระดับรองอธิบดีฯ/สหกรณ์อำเภอพบพระ การันตีให้เมื่อปี 41 สุดท้ายขายไม่ได้ซักบาท แถมตกเป็นหนี้นับแสนต่อคน กลายเป็นจำเลยที่ต้องเดินขึ้นศาลในไม่กี่วันข้างหน้านี้อีก"
นายลิขิต วรศิริ ประธานกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ อ.พบพระ จ.ตาก , นายบุญใส ไชยวงศ์ เลขานุการกลุ่มฯ , นายทองหลา สมสัตย์ หัวหน้ากลุ่มฯ บ้านรวมไทย 1 พร้อมด้วยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเผยแพร่ และผลิตผักอนามัยปลอดสารพิษ (ผักกางมุ้ง) ปีการท่องเที่ยวไทย อีกเกือบ 10 คน จากทั้งหมด 29 คน ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้เมื่อปี 41 บอกในทำนองเดียวกันทันทีที่ทีมข่าว "ผู้จัดการ" เดินทางไปถึงบ้านเลขที่ 113 หมู่ 8 ต.พบพระ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่กลุ่มปลูกผักปลอดสารฯ อ.พบพระ ร้องเรียนต่อ "ผู้จัดการ" ว่าถูก "นักการเมือง - กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - ซีพี." หลอกลวง จนตกเป็นจำเลยกันถ้วนหน้า
"ผักกางมุ้ง" : โปรเจกต์ปั้นเงินให้นายแลกเก้าอี้
นายลิขิต พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มฯ บอกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 41 สมัยที่นายเนวิน ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการพร้อมกันหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งเหนือ อีสาน ภาคกลาง และใต้ เช่น อ.พบพระ จ.ตาก ,เลย ,ขอนแก่น ,หาดใหญ่ สงขลา ,นครปฐม , บุรีรัมย์ ,ศรีสะเกษ , เพชรบูรณ์ เป็นต้น มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ
ว่ากันว่า โครงการนี้ เป็นเรื่อง "นโยบาย" จากเบื้องบน ที่สั่งกันมาเป็นทอด ๆ จากฝ่ายการเมือง มาที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ - เจ้าหน้าที่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) - สหกรณ์จังหวัด ลงไปถึงสหกรณ์อำเภอ - สหกรณ์การเกษตรฯ โดยมีเกษตรกรเป็นเหยื่อ
เช่น กรณีของ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นกลุ่มนำร่อง ที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของนางเพลินจันทร์ จันทร์เจริญ สหกรณ์ อ.พบพระ ในขณะนั้น (ปัจจุบันย้ายไปดำรงตำแหน่งสหกรณ์นิคมพระร่วง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย) ที่มาชักชวนพวกตนที่สมัยนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ เพราะไม่อยากเป็นหนี้ ให้เข้าร่วมโครงการ โดยยืนยันว่า เป็นโครงการของกรมส่งเสริมฯ มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) มารับซื้อผลผลิต
โดยนางเพลินจันทร์ ได้รวบรวมเกษตรกรมาได้ 29 คน จากนั้นได้ให้สหกรณ์การเกษตรพบพระ จำกัด รับทั้งหมดเป็นสมาชิก ตั้งเป็นสมาชิกกลุ่มที่ 19 กลุ่มผักปลอดสารพิษ เพื่อใช้สิทธิ์กู้เงินจากสหกรณ์ฯ (ที่ตั้งเรื่องขึ้นไปกู้เงินจากกรมส่งเสริมฯมาอีกทอดหนึ่ง) นำมาลงทุน ซึ่งเบื้องต้นจะต้องซื้อมุ้งจาก ซีพี.มาดำเนินการ
ลิขิต กับกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารฯ พบพระ ได้นำเอกสารการฝึกอบรมเกษตรกรเรื่อง "การผลิตผักอนามัยปลอดภัยสารพิษ" โดยคณะกรรมการและคณะทำงานโครงการเผยแพร่และผลิตพืชอนามัยปลอดภัยสารพิษ ปีการท่องเที่ยวไทย ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ พฤษภาคม 41 มาให้ดู พร้อมกับบอกว่า หลังจากที่ตั้งกลุ่มกันได้แล้ว พวกเขาได้เข้ารับการอบรม ทั้งจากตัวแทนกระทรวงเกษตร - ซีพี. ซึ่งคราวนั้นมีนายกอบเกียรติ บันสิทธิ์ นักกีฏวิทยา 8 กรมวิชาการเกษตรฯ ในขณะนั้นให้ความรู้เรื่องหนอน แมลง ศัตรูพืช , นายวิสุทธิ์ ปัญญาเลิศ จากซีพี. หรือเจียไต๋ มาพูดเรื่องเมล็ดพันธุ์ - ปุ๋ย ระบบการผลิต รวมถึงการตลาด
"เขาบอกว่ากะหล่ำลุ้ย หรือกะหล่ำปลี รวมถึงคะน้า จะขายได้ 12 บาท/กก.จากเดิมถ้าเป็นกะหล่ำลุ้ยธรรมดาขายกัน 1-2 บาท/กก. ผักกวางตุ้ง/มะเขือ กก.ละ 8 บาท ผลผลิต 1.5 -2 ตัน/ไร่ (ผักทั่วไป 5 ตัน/ไร่) ทำแค่ 2 งานต่อราย ปีหนึ่งทำได้ 4-5 รอบ ทำให้พวกเราฝันว่าจะลืมตาอ้าปากได้แน่นอน ทำแค่ 2 รอบก็ปลดหนี้ได้แล้ว"
นอกจากนี้นางเพลินจันทร์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยเฉพาะนายประทิน ศุภนคร รองอธิบดีฯ ในขณะนั้น (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว) ก็เข้ามาให้ความรู้ พูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรก่อนเริ่มโครงการอีก ณ บ้านเลขที่ 113 หมู่ 8 ต.พบพระ เมื่อเดือนมิถุนายน 41
นายลิขิต เล่าว่า คราวนั้นนายประทิน ศุภนคร บอกกับเกษตรกรว่า กระทรวงมีนโยบายผลิตพืชผักอนามัยปลอดภัยสารพิษ มีเงินสนับสนุน มีบริษัท ซีพี.มารับซื้อ แต่ต้องซื้อมุ้งของ ซีพี.มากางกันแมลง 216 ตร.ว.ต่อ 1 หลัง ราคา 16,500 บาท โดยจ่ายเงินผ่านสหกรณ์
"เราถามว่า ซีพี.จะรับซื้อจริงหรือไม่ ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้หรือไม่ นางเพลินจันทร์ บอกว่า ไม่จำเป็น เธอเป็นสหกรณ์อำเภอดูแลให้ได้ การันตีให้ได้ ทำให้พวกเราเชื่อมั่น จึงเข้าร่วมโครงการเต็มตัว"
จากนั้นก็เริ่มกู้กันเมื่อเดือนสิงหาคม 41 คนละประมาณ 35,000 - 40,000 บาท เพื่อนำมาดำเนินการ แบ่งเป็นค่ามุ้ง 16,500 บาท/หลัง (ขนาด 2 งาน 16 ตร.ว.) ที่เหลือเป็นค่าท่อน้ำ - ค่าปุ๋ย - ค่าดำเนินการอื่น ๆ
ซึ่งเฉพาะค่ามุ้ง 16,500 บาท หักกันสด ๆ ณ สหกรณ์การเกษตรพบพระ โดยเกษตรกรจะได้รับมุ้งจาก ซีพี. โดยตรง ตามสเปกที่กำหนดไว้ 1 ตารางนิ้ว ต้องมี 24 ช่อง พร้อมใบเสร็จรับเงิน
แต่หลังจากได้รับมุ้ง - จ่ายเงิน พร้อม ๆ กับสถานะลูกหนี้สหกรณ์การเกษตรอำเภอพบพระ จำกัด แล้ว จนถึงวันนี้ ลิขิต กับพวก ยืนยันว่า ยังไม่เห็นหน้าเจ้าหน้าที่ ซีพี.ที่บอกว่า จะมารับซื้อผลผลิตจากโครงการผักกางมุ้งนี้อีกแม้แต่ครั้งเดียว ขายเองก็ไม่ได้ เพราะผักปลอดสารมีราคาแพง ยังไม่ได้รับความนิยม
ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ให้เกษตรกรในกลุ่มนำผลผลิตไปขายที่ "มุมผักปลอดสาร ตลาดไท" ที่นายเนวิน ชิดชอบ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้นมาเป็นประธานเปิด เพียงครั้งเดียว
"ผมยังเอาฟักลูกใหญ่ปลอดสาร มอบให้นายเนวิน ในวันที่มาเปิดมุมผักปลอดสารพิษที่ตลาดไทด้วย" นายบุญไส กล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ"
นายลิขิต บอกว่า นับจากนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าหน้าไหน ก็ไม่เคยเห็นหน้าอีก สหกรณ์อำเภอก็ย้ายไปแล้ว รองอธิบดีฯก็ไม่เคยเห็นแม้แต่เงาอีก เจ้าหน้าที่ ซีพี.ก็หายเข้ากลีบเมฆ "ผักปลอดสาร" ที่เราปลูกในมุ้งอย่างดีที่ "ต้อง" ซื้อจาก ซีพี.ทันทีตอนที่กู้เงิน เฉลี่ยเกษตรกร 1 ราย ทำผักกางมุ้ง 2 งาน ต้นทุนที่ 2 หมื่นบาท แต่ขายได้ไม่ถึง 2 พัน คือ ต้องเอาผักปลอดสารที่หวังว่าจะขายได้กิโลละ 12 บาท มาขายในราคา 2 บาทเหมือนผักทั่วไป
"ทนทำกัน 2-3 รอบก็ต้องเลิก เพราะใช้สารเคมีก็ไม่ได้ ใช้ยา-ปุ๋ยชีวภาพ ก็ต้นทุนสูง แต่ต้องขายถูก บางคนลงทุนตามจับหนอน แมลงที่เล็ดรอดเข้าไปในมุ้งกับมือ จนไม่ไหว สุดท้ายต้องเลิกกันหมด"
มาถึงวันนี้ !! ลิขิต กับเกษตรกรในกลุ่ม บอกได้แค่ว่า หมดหวังกับโครงการของรัฐ แถมสถานะทางสังคมก็ถูกตราหน้าว่า "ไอ้ขี้โกง หนีหนี้" อีกด้วย
แฉสหกรณ์ฯตัวดี : บีบให้กู้
และเมื่อ "ผู้จัดการ" ตรวจสอบไปที่สหกรณ์การเกษตรพบพระ จำกัด ที่เป็น "เจ้าหนี้" เกษตรกรในโครงการ "ปลูกผักกางมุ้ง" พบพระกลุ่มนี้ เพื่อยืนยัน ที่มา - ที่ไป ของโครงการนี้ ปรากฏว่า นางพรทิพย์ จูสิงห์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพบพระ จำกัด ระบุว่า คนที่ดำเนินงานนี้เป็นหลักคือ นางเพลินจันทร์ จันทร์เจริญ ที่เป็นสหกรณ์อำเภอในขณะนั้น
นางเพลินจันทร์ เป็นผู้นำเกษตรกรทั้ง 29 ราย มาให้สหกรณ์ฯรับเป็นสมาชิก จากนั้นให้สหกรณ์ฯกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อนำมาให้เกษตรกรกลุ่มนี้กู้ไปทำโครงการผักกางมุ้ง โดยขอความร่วมมือเชิงบังคับว่าหากสหกรณ์ฯ ไม่ยอมรับเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นสมาชิกและปล่อยเงินกู้ให้ไปทำผักกางมุ้ง ต่อไปหากกรมมีโครงการอื่นๆ จะไม่ยอมให้สหกรณ์ กู้เงิน
"ตอนนั้นเราก็ถามเหมือนกันว่า มีสัญญารับซื้อผลผลิตจาก ซีพี.หรือไม่ เขาบอกว่า ไม่จำเป็น เขาเป็นสหกรณ์อำเภอฯอยู่ สามารถดูแลได้ ทำให้สหกรณ์ฯจำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ โดยกู้เงินจากกรมมาให้สมาชิกใหม่กู้ต่อ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโครงการอื่น ๆ ของสหกรณ์ฯ อนาคต" นางพรทิพย์ กล่าวย้ำ
สอดคล้องกับคำยืนยันจากข้าราชการในแวดวงกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ หลายคน ที่บอกว่า หลายจังหวัดพอรู้ที่มา ที่ไปโครงการนี้ ก็หาทางเลี่ยงให้กรมไปคุยกับสหกรณ์การเกษตรโดยตรง แต่หลายจังหวัดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดำเนินการให้เอง เพื่อแลกความก้าวหน้าในชีวิตราชการ โดยจะทำในลักษณะเดียวกันก็คือ รวบรวมเกษตรกรมาเข้าโครงการ - ใช้ให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่กู้เงินจากกรมส่งเสริมฯ มาปล่อยกู้ ภายใต้เงื่อนไขซื้อมุ้งจาก ซีพี.
เป็นกระบวนการทำมาหากินบนหลังเกษตรกรอย่างเลือดเย็น ที่ยังคงพบเห็นอยู่แทบทุกซอกมุมของไทยในทุกวันนี้
Relate topics
- อีกหนึ่งอุดมการณ์ สานความตั้งใจฟื้นฟูวิถีชาวนาไทยแห่งลุ่มน้ำคลองภูมี
- เปิดตัวสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม 4 ก.พ.นี้
- ออกปากดำนาภูมิปัญญา - ห้องเรียนท้องนา
- สัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยโซนคาบสมุทรสทิงพระ อ.กระแสสินธุ์
- รายงานการประชุมคณะทำงานประเด็นเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ ประจำเดือนมิถุนายน
- "สะตอ" ผักพื้นบ้านภาคใต้มากประโยชน์
- เร่งดันผลิต 'เกษตรอินทรีย์' รองรับตลาดโลก 1.3 ล้านล้านบาท
- พบ16กลยุทธ์เคมีเกษตรทำชาวนา-ผู้บริโภคตายผ่อนส่ง
- กรมวิชาการเกษตรชี้ปลูกพืชGMOเพื่อศึกษาวิจัย-ยันมีมาตรการคุมเข้ม
- กรมวิชาการฯแนะ5กรรมวิธี คุมวัชพืชสวนยางไม่พึ่งสารเคมี