สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยโซนคาบสมุทรสทิงพระ อ.กระแสสินธุ์

สัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัย อ.กระแสสินธุ์
      กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีโอกาสลงพื้นที่โซนคาบสมุทรสทิงพระ เข้าร่วมกิจกรรม
“ สัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัย ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมประเด็นเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ 1ใน 14 ประเด็นแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ครั้งนี้เป็นการสัญจรลงพื้นที่ ม.2 ต.กระแสสินธุ์ อ.กระแสสินธุ์
      กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของกลุ่มผลิตพืชผักไร้สารพิษ ต.กระแสสินธุ์ การสร้างเครือข่ายสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัย  และเป็นการให้กำลังใจกันในฐานะของเพื่อนผู้มีอุดมการณ์ในการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อตนเองและสังคม ผมรู้สึกเช่นนั้น
      บ่ายโมงกว่า ผู้เข้าร่วมเวทีทยอยกันเดินทางมาถึงสถานที่นัดหมาย      เวทีการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ใช้บริเวณลานบ้านของหนึ่งในสมาชิกเกษตรกรของกลุ่มเกษตรกรฯ เก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงินถูกวางเป็นวงกลมใต้ต้นมะขามชานบ้าน พี่น้องเกษตรกรนั่งอยู่บ้างแล้ว เกษตรกร ชาวบ้าน ตัวแทนส่วราชการทยอยกันมาเรื่อยๆจนเกือบเต็มตามจำนวนเก้าอี้ที่ถูกจัดวางไว้
      การแลกเปลี่ยนเริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับจาก พี่สุพร น้อยสำลี ประธานกลุ่มเกษตรฯ  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัญจรครั้งนี้ทยอยแนะนำตัว ทำให้ทราบว่าผู้เข้าร่วมครั้งนี้มีใครเข้าร่วมบ้าง ในพื้นที่จะมีสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรฯ ต.กระแสสินธุ์ และจากหน่วยงานราชการ มีเกษตรกรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ประธานสหกรณ์การเกษตร เภสัชกรจากโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่กศน. อำเภอกระแสสินธุ์    จากนอกพื้นที่มีกลุ่มเกษตรจากบ้านดอนคัน ต.คูขุด กลุ่มเกษตรทำกินทำใช้ ต.วัดจันทร์ กลุ่มอิงพฤกษ์ ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ และคณะทำงานกลางประเด็นเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ
      ระหว่างการแนะนำตัวน้ำมะพร้าวสดๆเป็นลูกๆ ถูกเสริฟ์เป็นอาหารว่าง หนึ่งในผลผลิตไร้สารพิษของสมาชิกกลุ่ม       ท่านเกษตรอำเภอได้ให้ข้อมูลบริบทพื้นฐานของอำเภอกระแสสินธุ์ว่าประกอบด้วย 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.โรง ต.เชิงแส ต.กระแสสินธุ์ และต.เกาะใหญ่  สำหรับพื้นที่ ต.กระแสสินธุ์ ประมาณ 80-90 % เป็นพื้นที่นา  10 % เป็นสวนยางพารา สำหรับอาชีพก็จะมี ทำนา สวนยางพารา และประมงบ้างเล็กน้อย สภาพดินไม่ค่อยสมบูรณ์นัก และในพื้นที่จะมีน้ำท่วมในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
      การพูดคุยแลกเปลี่ยนครั้งนี้ถูกถ่ายทอดผ่านวิทยุออนไลน์ healtyradio และเครือข่ายวิทยุสุขภาพ พอทราบบริบทพื้นที่พอสังเขปคุณพี่สุพรก็เล่าถึงการดำเนินงานกลุ่มเกษตรฯ โดยทางกลุ่มดำเนินการมาประมาณ 2 ปี  โดยมีสมาชิก 18 ครัวเรือน แต่ที่ดำเนินการหลักประมาณ 10 ครัวเรือน การค้นหาสมาชิกเริ่มจากคนใกล้ตัว
สำหรับกลุ่มการผลิตเป็นแบบไร้สารพิษ โดยเริ่มจากการวางแผนการผลิตโดยพี่สุพร ที่จะดูจากความเหมาะสมและปริมาณผลผลิตที่จะออกมา มีการสนับสนุนการปรับแปลงเพื่อการผลิต  เมล็ดพันธุ์ และ น้ำหมัก  ประเภทของผัก เช่น ฟักทอง ฟักเขียว สายบัว ผักคะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง เป็นต้น
      การตลาด ปัจจุบันจะมีการส่งผักให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ ครั้งละประมาณ 70-80 kg ทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์  ทุกวันศุกร์นำไปขายที่ตลาด รพ.กระแสสินธุ์  มีการขายเห็ดฟางที่ตลาดระโนดมีการกำหนดราคาผักใบประกันราคาที่  25 บาทต่อกิโลกรัม  การบริหารจัดการด้านตลาดจะมีโดยมีคนกลาง คุณสิโรจน์ ทิพย์วารี  ดำเนินการ โดยตัด 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบริหารจัดการ
      ทางกลุ่มจะมีการการควบคุมคุณภาพ  จากพี่สุพรเป็นหลัก ที่จะคอยเยี่ยมเยียนแปลงเกษตรของสมาชิกภายในกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ สอบถามและช่วยแก้ปัญหาการผลิต  และจากรพ.หาดใหญ่ที่จะมาสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว
ปัญหาหลักของกลุ่ม คือ ปัจจุบันผลผลิตผักของกลุ่มยังไม่เพียงพอ และผักใบลายในฤดูฝน
แนวทางความร่วมมือที่น่าจะสอดคล้องกับบทบาทภารกิจของหน่วยงานราชการ
      ตัวแทนหน่วยงานบอกบทบาทภารกิจและเสนอแนวความร่วมมือ
สำหรับพัฒนาชุมชน จะส่งเสริมการรวมกลุ่ม  การวางระเบียบ และการบริหารจัดการกลุ่ม  กศน. จะสนับสนุนด้านความรู้ และ วัสดุ อุปกรณ์ ประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน  โรงพยาบาลอำเภอกระแสสินธุ์ นโยบายอาหารปลอดภัย ปัจจุบันมีการให้พื้นที่จำหน่ายพืชผักทุกวันศุกร์ เกษตรอำเภอ จะเป็นการสนับสนุนวิชาการ และสหกรณ์การเกษตร ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ
      วงเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะหลายข้อ เช่น
      ทางพัฒนาชุมชนเสนอให้ทางกลุ่มควรส่งเสริมกิจกรรมกลางของกลุ่มให้มากขึ้น เช่น การประชุมประจำ  การใช้ข้อมูลในการดำเนินการกลุ่ม
      ครูปราณีเสนอว่าควรมีการเชื่อมโยงหน่วยงานในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น เกษตร กศน. พัฒนากร เพราะบทบาทภารกิจสามารถหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มได้
      คุณกำราบ พานทอง ทางกลุ่มควรมีการชูประเด็นพึ่งตนเองให้ชัดขึ้น เช่น เมล็ดพันธุ์ และควรรณรงค์ให้ความสำคัญกับผักพื้นบ้าน เพราะเป็นพืชผักที่สอดคล้องกับภูมินิเวศ
และเป็นห่วงแนวโน้มการเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่การปลูกยางมากขึ้น
      จากการแลกเปลี่ยนเห็นทั้งศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการโดยมีชุมชน ชาวบ้านเองเป็นหลัก  ซึ่งมีความเข้าใจในมิติมุมมองอาหารปลอดภัยในหลายระดับ  เห็นบทบาทภารกิจของหน่วยงานที่สามารถจะหนุนเสริมการดำเนินการของกลุ่มได้ เห็นโอกาสที่ประเด็นเกษตรและอาหารฯ ที่จะมาหนุนเสริมกระบวนการของทางกลุ่มได้่
      บรรยากาศแดดร่มลมตกแล้ว ปิดท้ายกิจกรรมสัญจรสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัย ทางคณะก็ได้ลงดูแปลงผักที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก  ร่องรอยแปลงว่างหลายแปลง  เหลือแต่แปลงผักบุ้งที่ยังคงสภาพ  มีสระน้ำอยู่ถัดจากแปลงผัก ทราบจากพี่เจ้าของแปลงว่าผลผลิตพืชผักเพิ่งถูกเก็บไปเมื่อ2-3 วันที่ผ่านมา  รอยยิ้ม  การซักถามกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร ความเป็นกันเอง วันนี้กลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่งใน ต.กระแสสินธุ์ โซนคาบสมุทรสทิงพระ ก็ยังคงเดินหน้าผลิตอาหารปลอดภัยให้กับตัวเองและเพื่อนมนุษย์ต่อไป

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว