สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ประกันสุขภาพ ที่ไกลกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค

by kai @14 ธ.ค. 47 22:35 ( IP : 61...150 ) | Tags : มุมมองหมอ

ประกันสุขภาพ  ที่ไกลกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค

    นับตั้งแต่นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ถูกสถาปนาขึ้นในสังคมไทย  โดยเริ่มนำร่องเมื่อวันที่  1 เมษายน 2544  จนถึงวันนี้    แนวคิดการประกันสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคนได้กลายเป็นสวัสดิการสังคมพื้นฐานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว  ก้าวต่อๆไปที่ต้องเดินก็คือการทำให้การประกันสุขภาพในประเทศไทยที่มีอยู่หลายระบบมีการปรับให้เข้ามาเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกัน  มีความเป็นธรรม  ไม่มีความแตกต่างแบ่งชั้นวรรณะ  และมีคุณภาพมาตรฐานในการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในปัจจุบันนี้  สังคมไทยมีระบบการประกันสุขภาพแก่คนไทยใน 3 ระบบคือ
1. สิทธิในโครงการสวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว  ซึ่งมีผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 7 ล้านคน  มีกรมบัญชีกลางเป็นผู้ดูแลงบประมาณส่วนนี้  สิทธิประโยชน์เป็นเกรดเอ เน้นที่การรักษา  เบิกได้ไม่อั้น ข้อจำกัดน้อยมาก  จนงบบานไม่มีหุบมากขึ้นทุกปี 2. สิทธิในฐานะผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม  ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตน  มีผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 7.5 ล้านคน  มีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดูแลงบประมาณส่วนนี้  สิทธิประโยชน์เกรดบี  ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องร่วมจ่าย  แต่ยังเน้นสิทธิหนักไปทางการรักษาพยาบาล  มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นโรงพยาบาลคู่สัญญา
3. สิทธิในนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของกระทรวงสาธารณสุข  หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค  ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกคนที่ไม่อยู่ในการประกันสุขภาพของ 2 ระบบข้างต้นประมาณ  46 ล้านคน  เป็นสิทธิเกรดซี  แต่ครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐาน  จุดเด่นคือได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค  และมี โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่ว่าเล็กใหญ่เป็นคู่สัญญา  กลับหัวกลับหางกับการจัดการของสำนักงานประกันสังคม นอกจากนี้ก็ยังมีการประกันสุขภาพในโครงการย่อยอีกอย่างน้อย 2 โครงการคือ  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  และ พระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน  สำหรับการบาดเจ็บทุพพลภาพจากการทำงาน  ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้เรียกได้ว่ามีข้อจำกัดอุปสรรคในระบบอยู่มาก  เบิกยากหลักฐานซับซ้อนจนบ่อยครั้งที่สถานบริการผลักให้เป็นภาระของผู้ป่วยเพื่อตัดรำคาญ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความรู้น้อย  ชีวิตต้องหาเช้ากินค่ำ  การที่จะไปเรียกร้องเบิกชดเชยค่ารักษาพยาบาลบ่อยครั้งที่ถือว่าฟาดเคราะห์ไปทั้งๆที่มีสิทธิ  เพียงเพราะระบบไม่ได้ถูกวางให้เอื้อต่อผู้ป่วยในการเข้าถึงความคุ้มครองได้อย่างแท้จริง การประกันสุขภาพเป็นความจำเป็นที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานของสังคม  แต่ความซับซ้อนของระบบที่มีอยู่มาก  ทำให้การประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้เกิดขึ้นจริง  มีช่องว่างในรอยต่อ  มีช่องโหว่ในระหว่างการดำเนินการที่ทำให้อุดมคติที่งดงามถูกบั่นทอนลงไป
วันหนึ่งที่นายยิ้มลูกชายตำรวจได้บรรลุนิติภาวะ  เขาก็หลุดออกจากการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากสิทธิเบิกได้ของครอบครัวข้าราชการเสียแล้ว  ต้องมาทำบัตรทอง  ระหว่างยื่นคำขอยังไม่ทันที่บัตรจะทำเสร็จ  นายยิ้มได้ไปสมัครงานที่โรงงานปลากระป๋อง  เขาต้องเข้าระบบประกันสังคม  บัตรทองที่ได้มาต้องยึดคืนตามระเบียบ  ซึ่งในทางปฏิบัติใช่ว่าจะยึดกันได้ง่ายๆ  นายยิ้มทำงานได้ครึ่งปีเกิดอุบัติเหตุจากงานนิ้วเกือบขาด  กำลังทำเรื่องเบิกกองทุนเงินทดแทน  แล้วเบื่อหน่ายจะลาออกจากงานเพื่อมาเรียนต่อ  ก็ต้องมาทำบัตรทองอีก  ระหว่างเดินทางไปสอบเรียนต่อถูกรถชนปางตาย    บัตรทองยังไม่ได้  บัตรประกันสังคมหมดความคุ้มครองแล้ว  สิทธิ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไม่รู้จะเรียกจากใครเพราะชนแล้วหนี  เช่นนี้แล้วจะเรียกว่ามีความต่อเนื่องของการประกันสุขภาพได้อย่างไร  ข้อจำกัดมากมายและความต่อเนื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการประกันสุขภาพที่สำคัญยิ่ง    ปรากฏการณ์ของนายยิ้มเป็นตัวอย่างที่ยิ้มไม่ออกที่พบได้เสมอในทางปฏิบัติจริงของทุกโรงพยาบาล  สุดท้ายคนไข้ก็แบกรับภาระไป  หรือไม่หากโรงพยาบาลใจดีก็แบกรับภาระร่วมกัน  แบ่งๆกันไปกับผู้ป่วย  โดยที่เงินกองทุนต่างๆไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้ตรงตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดของการบริหารจัดการความซับซ้อนของระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยก็คือ  การรวมกองทุนประกันสุขภาพให้เป็นกองทุนเดียว    แต่ให้มีการดูแลกองทุนเป็นแบบ 1 กองทุน  3 ระบบ  เพื่อให้คงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกันไว้ต่อไป  เพื่อลดความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่าน  และในส่วนของกองทุนเงินทดแทน  และกรณีผู้ประสบภัยจากรถนั้นให้กองทุนประกันสุขภาพเป็นธุระในการติดตามทวงถามแทนผู้ป่วย
กองทุนประกันสุขภาพที่รวมเป็นกองทุนเดียว ( single  fund ) คืออุดมคติของการบริหารจัดการที่ลดความซ้ำซ้อนและความซับซ้อนในระบบ  สร้างความเท่าเทียม  เสมอภาค  และคุณภาพการบริการให้แก่คนไทยทุกคนในสังคมไทย
นพ.สุภัทร  ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ  จังหวัดสงขลา 2  มิถุนายน 2547

Comment #1
kanoom (Not Member)
Posted @12 ม.ค. 51 13:24 ip : 125...137

บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค สมารถใช้รักษากรณีผ่าตัดโรคหัวใจได้หรือไม่ ?

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว