แพทย์ไทยตายอย่างไร
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ข้อมูลจากการศึกษาเรื่องการเสียชีวิตของแพทย์ไทย พศ.2535-2544 ที่ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ได้ศึกษาไว้จากข้อมูลแพทย์ทั้งหมด 28,000 คน พบว่าเสียชีวิตแล้ว 1,035 คน เสียชีวิตในปี 2535-2544 จำนวน 440 คน สามารถศึกษาได้ 262 คน (60%) ในส่วนนี้มีอายุตายเฉลี่ย 61.2+ 17.8 ปี
สาเหตุที่ตายในแพทย์ผู้มีอายุมากคือ มะเร็ง โรคหัวใจและไตวาย สาเหตุการตายในแพทย์ผู้มีอายุน้อยคืออุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และถูกฆาตกรรม โดยเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับถึง 35% ในกลุ่มนี้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายกว่าครึ่งคือ 51% แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ถึงเป็นแพทย์แต่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งก็ระยะสุดท้ายเสียแล้ว ซึ่งไม่ต่างจากประชาชนไทยทั่วไป
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบอันดับสาเหตุการตายของแพทย์และประชาชนไทย ลำดับ แพทย์ไทย ประชาชนไทย 1 มะเร็ง หัวใจ 2 หัวใจ มะเร็ง 3 อุบัติเหตุ ติดเชื้อ 4 ติดเชื้อ อุบัติเหตุ 5 ชรา ชรา
จะเห็นว่าเหตุตายของแพทย์และประชาชนไทยไม่แตกต่างกันมากนักใน 5 อันดับแรก แต่สังเกตว่าแพทย์เสียชีวิตจากมะเร็งเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากการสัมผัสสารก่อมะเร็งมากขึ้นและความเครียดที่สูงขึ้น หรืออาจเป็นเพราะว่ามะเร็งเป็นโรคเดียวที่รักษาไม่ได้ ในขณะที่แพทย์เราสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายกว่า เมื่อเป็นโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆจึงเสียชีวิตได้น้อยกว่า
อาจารย์สมเกียรติได้เจาะลึกไปที่การฆ่าตัวตาย พบว่ามีแพทย์ฆ่าตัวตาย 18 คน จาก 262 คน(6.9%) เป็น ชาย 17 คน หญิง 1 คน ส่วนใหญ่อายุ 25-35 ปี ส่วนใหญ่เป็น แพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป แต่ที่แปลกคือมีจิตแพทย์ฆ่าตัวตายถึง 3 ราย ทั้งหมดมีประวัติการรักษาทางจิตเวชเพียง 3 ราย สาเหตุที่ฆ่าตัวตาย คือปัญหาครอบครัว และปัญหาคนรัก ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน พบว่าสัดส่วนการใช้ยานอนหลับของแพทย์สูงขึ้น ซึ่งน่าจะแสดงถึงความเครียดที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ยังพบว่ามีแพทย์ติดเชื้อเอดส์จำนวน 1 ราย
จากการศึกษาต่อถึงภาวะสุขภาพแพทย์ไทย พบว่าแพทย์มีรายได้นอกเวลาประมาณ ครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ความเร่งรีบในการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้แพทย์มีประวัติหลับในขณะขับรถ 15% และในกลุ่มนี้ 1 ใน 5 เคยหลับในมากกว่า 2 ครั้ง
แพทย์มีการเจ็บป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ( Allergy ) เป็นส่วนใหญ่ รองมาเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคในยุคดิจิตอล คือไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง อยู่ในวิถีการบริโภคที่เกินสมดุลและอยู่ในสิ่งแวดล้อมของสังคมเมืองที่มากด้วยมลพิษและสารเคมี
วิชาชีพแพทย์ซี่งถูกคาดหวังให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำที่เป็นต้นแบบด้านสุขภาพสำหรับประชาชนนั้น คงไม่ง่าย เพราะสุขภาพส่วนใหญ่ของแพทย์ก็ไม่ได้ดีเด่นแตกต่างจากประชาชนมากนัก เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของแพทย์แล้ว เผื่อว่าจะได้เข้าใจแพทย์มากขึ้นว่า แพทย์เองก็เป็นเพียงปุถุชนธรรมดาเท่านั้น
Relate topics
- "หมอประเวศ" ซัดสาธารณสุขไทยเหลว เหตุพัฒนาแต่ยอด
- ความเชื่อเรื่องวิญญาณ
- 30 บาท กับทางออกไม่ให้โรงพยาบาลเจ๊ง
- ห้ามโฆษณาเหล้า จะลดการดื่มเหล้าได้จริงหรือ
- FTA ไทย-สหรัฐ สุขภาพคนไทยจะรุ่งหรือร่วง?
- แก้จนของจริงที่คำปลาหลาย
- ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน
- ผู้สูงอายุเฮ ใส่ฟันปลอมฟรีทั้งปาก
- สุขภาพผู้สูงอายุ กับ กลไกซีอีโอ
- มองมุมกลับ ขยะล้นเมือง