สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน

by kai @29 พ.ย. 48 14:45 ( IP : 58...240 ) | Tags : มุมมองหมอ

ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน


โครงการการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อการส่งต่อผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวน 232 คัน เป็นข่าวคราวกระเส็นกระสายมาตลอดปี 2548 เพราะมีปัญหาการอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนกลาง จนเป็นที่ครหาเรื่องความไม่โปร่งใสและมีความไม่ชอบมาพากล จนทั้งบริษัทโตโยต้าและนิสสัน ต่างยืนยันราคาที่ยื่นซองว่าไม่สามารถขายในราคากลางได้ จนต้องมีการล้มการประมูลถึง 7 ครั้งนั้น เป็นผลให้ต้องมีการย้ายฟ้าผ่าปลัดกระทรวงสาธารณสุข จนทำให้ในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนก่อนคือ ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ต้องประกาศลาออก เพื่อยุติความวุ่นวายในกระทรวงสาธารณสุข

บัดนี้การประกวดราคาได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีพิเศษ ที่มี นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ เป็นประธานแล้ว มีการปลดล็อคสเป็คเจ้าปัญหา แล้วเจรจาจนได้ข้อยุติให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์(ประเทศไทย) ให้ชนะการประมูล ในราคาคันละ 1,467,000 บาท ซึ่งช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขประหยัดงบประมาณได้ถึง 56 ล้านบาท
สามารถนำไปจัดซื้อรถพยาบาลเพิ่มได้อีก 36 คัน

ทางชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะไปว่า การจัดซื้อรถพยาบาลฉุกฉินในราคาดังกล่าวนี้เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว และถึงเวลาที่โรงพยาบาลต่างๆ จะได้รับรถพยาบาลคันใหม่ตามโครงการไปใช้ หลังจากที่ต้องรอกันมาตั้งแต่ปี 2547 หรือรอกันมากว่า 1 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะ ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินคันใหม่ ที่มีความพร้อมในการส่งต่อและทำให้เจ้าหน้าที่มีความอุ่นใจมากขึ้นระหว่างการเดินทาง เนื่องจากโอกาสที่เครื่องยนต์จะขัดข้องระหว่างทางจะน้อยกว่ารถพยาบาลคันเก่าที่ใช้อยู่ จึงอยากจะขอให้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดการส่งมอบรถพยาบาลโดยเร็ว

เรื่องนี้ยังรอฝ่ายการเมืองตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่หากไม่ลงนามเซ็นสัญญาจัดซื้ออีก ก็คงมีอะไรในกอไผ่เป็นแน่ หากจัดซื้อได้เร็ว โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะได้รับรถเร็ว

อย่างไรก็ตาม ตามที่นายวิเชฎช์ โรจนธรรมกุล ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการจัดหารถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ได้สรุปผลสอบสวนส่งให้ ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 นั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีหลายประเด็นที่ส่อเจตนาทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการล๊อคสเป็คว่า ผู้ประกอบรถพยาบาลต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9000 ในด้านการประกอบตกแต่ง ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้กับรถพยาบาล ซึ่งปรากฏว่า ทั้งประเทศมีเพียงบริษัทพูลภัณฑ์พัฒนาจำกัดเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ได้รับ ISO 9000 อีกทั้งผลการสอบสวนยังปรากฏว่า บริษัทพูลภัณฑ์พัฒนา ได้รับ ISO เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2547 ก่อนการออกประกาศประกวดราคาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 เพียง 1 วัน เท่านั้น

จากการล็อคสเป็คดังกล่าว ทำให้ทั้งบริษัทสยามนิสสัน ออโตโมบิล และบริษัทโตโยต้า นนทบุรี ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาหมดทางเลือก จำเป็นต้องให้บริษัทพูลภัณฑ์พัฒนา จำกัด เป็นผู้ประกอบรถพยาบาลแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ไม่สามารถสร้างกลไกการแข่งขันให้ได้รถพยาบาลในราคาที่เหมาะสมได้ เมื่อปลดล๊อคทำให้บริษัทที่โตโยต้าได้ว่าจ้างให้ บริษัท สุพรีมโพรดักส์ จำกัด เป็นผู้ประกอบรถพยาบาลแทน ซึ่งทำให้ราคาการประกอบรถลดลงมาถึง 1 แสนบาท

ใครเป็นคนล๊อคสเป็ค ใครสั่งให้ล๊อคสเป็ค ใครได้ใต้โต๊ะจากกรณีนี้ เรื่องนี้มีหลักฐานพอสมควร สามารถดำเนินการสืบหากับขบวนการไอ้โม่ง ที่ทำให้มีการล๊อคสเป็กในกรณีดังกล่าวนี้ให้ถึงขั้นเข้าคุกได้ ก็คงต้องรอดูความจริงใจของรัฐบาลที่ประกาศล้างคอรัปชั่น ว่าจะพูดจริงทำจริงไหม เพราะงานนี้หากล้างกันจริงๆ อาจมีคนดังของไทยรักไทยเสียศูนย์แน่นอน งานนี้จึงอาจเงียบหายไปในสายลม นี่แหละครับประเทศไทย

มุมมองหมอ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว