สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

"หมอประเวศ" ซัดสาธารณสุขไทยเหลว เหตุพัฒนาแต่ยอด

by wanna @23 ก.พ. 50 11:03 ( IP : 124...203 ) | Tags : มุมมองหมอ
photo  , 320x210 pixel , 46,230 bytes.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 กุมภาพันธ์ 2550 15:30 น.

"หมอประเวศ" แนะ 7 กลยุทธ์ระบบสุขภาพชุมชนเยียวยาสังคม ชี้ชัดหากระบบสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง ระบบสาธารณสุขของประเทศจะเข้มแข็งตามไปด้วย ชูเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพชุมชน ระบุ 100 กว่าปีที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขไทยยังล้มเหลว เพราะมัวแต่พัฒนายอด จนละเลยชุมชนที่เป็นฐานสำคัญ

ศูนย์การประชุมไบเทค- วันนี้ (22 ก.พ.) ในการประชุมวิชาการ Primary Care ระดับประเทศครั้งที่ 2 หัวข้อ "ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการงานสุขภาพชุมชน" ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง "ระบบสุภาพของชุมชนคือฐานรากของระบบสุขภาพ" โดยกล่าวว่า ประเทศไทยต้องเดินทางยาวไกลกว่า 30 ปี กว่าที่แม่น้ำทุกสายในระบบสาธารณสุขจะมาบรรจบกัน วันนี้ผู้นำชุมชน หมออนามัย และบุคลากรสาธารสุขในทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันผลักดันระบบสุขภาพชุมชนอย่างเข้มแข็งมีพลัง จนประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ว่าวันนี้ได้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพชุมชนที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องสุขภาพจากการเยียวยารักษา โรคหรือยา มาเป็นสุขภาวะ ซึ่งครอบคลุมเรื่องสุขภาพทั้งหมด อันจะนำไปสู่การบูรณการเรื่องสุขภาพเข้ากับทุกๆ เรื่องภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขความยากจน หรือการสร้างความปลอดภัยภายในชุมชน "แนวคิดเรื่องระบบสุขภาพนั้นง่ายมาก แต่เราทำพลาดไปนานกว่า 100 ปีมาแล้ว เพราะฐานด้านสุขภาพของเราไม่แข็งแรง เพราะมัวแต่ไปเสริมความแข็งแรงแก่ส่วนยอด ไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารณสุขที่เน้นแต่ยอด แต่ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา หรือประชาธิปไตยก็เป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ฐานของระบบสุขภาพแท้จริงคือชุมชนที่จะต้องแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ"

ศ.นพ.ประเวศกล่าวต่อว่า การเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพชุมชนจะต้องมีการดูแลตัวเอง ครอบครัวดูแลกันเอง และชมชนดูแลกันเอง ที่สำคัญสังคมต้องตั้งเป้าหมายของระบบสุขภาพชุมชนให้ชัดเจนตรงกัน โดยผ่าน 7 กลยุทธ์ คือ

  1. เศรษฐกิจพอเพียง สัมมาชีพเต็มพื้นที่ หากเศรษฐกิจชุมชนดำเนินไปด้วยความพอเพียง จะทำให้สร้างแผนแม่บทชุมชนตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อุดมคติ หากมีชุมชนหลายร้อยแห่งแล้วที่สามารถทำวิจัยได้เอง โดยมีองค์กรต่างๆ เข้ามาสนับสนุน เพราะเรื่องของสุขภาพจำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน

  2. สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมไทยไม่ควรมีคนถูกทอดทิ้ง เช่น คนแก่ เด็กติดเชื้อเอดส์ เพราะขณะนี้ชุมชนเราเข้มแข็งขึ้นมาก หนึ่งตำบลโดยเฉลี่ยมีสิบหมู่บ้าน เราช่วยเหลือกันได้หมด นอกจากนั้นทาง สปสช. เองก็ยินดีจ่ายเงิน 37.50 บาท/หัว รวมกับ อบต. และโรงพยาบาลบางแห่ง ขณะที่รัฐมนตรีพม. ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมก็จะสมทบเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นหากชุมชนทำการสำรวจทุกบ้าน แล้วให้การช่วยเหลือ โดยใช้กลไกของชุมชนเอง ไม่เกินหนึ่งเดือนสังคมไทยก็จะไม่เกิดการทอดทิ้งกัน

  3. การดูแลรักษาโรคที่พบบ่อย หากสามารถดูแลเรื่องโรคที่พบบ่อยได้ตั้งแต่ระดับตนเอง ครอบครัว และชุมชน จะช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณได้มาก ส่งผลให้ความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลลดลง รวมถึงอาจลดปัญหาแพทย์ฟ้องร้องได้

  4. การดูแลเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ด้วยขณะที่ประชากรไทยร้อยละ 2.5 จะป่วยเป็นโรคนี้ แต่ส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าถึงการรักษาได้ ทั้งๆ ที่โรคนี้ต้องกาการรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นลักษณะปัจเจก ดังนั้นหากหันมาดูแลสุขภาพของชุมชนด้วยการควบคุมโรคนี้ ประเทศก็จะประหยัดเงินค่าบริการสุขภาพไปได้มหาศาล

  5. ปัญหาผู้สูงอาย ที่มักจะเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เวลาไปโรงพยาบาลแต่ละทีผู้สูงอายุจะลำบากมาก รวมทั้งบางคนยังไม่มีเงินค่ารถไปโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นการมีพยาบาลเยี่ยมบ้านเป็นประจำ จะเปลี่ยนจากนรกเป็นสวรรค์สำหรับพวกเขา ระบบสุขภาพชุมชนจึงต้องดูแลที่บ้าน ที่ชุมชนเป็นหลัก ดังโรงยาบาลบ้านแพ้ว ที่จะมีพยาบาลคอยออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่มีอยู่ในชุมร้อยกว่าคนอย่างสม่ำเสมอ

  6. การควบคุมโรค ถ้าชุมชนเข้มแข็ง จะสามารถควบคุมโรคไม่ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นที รักษาที ความเข้มแข็งของระบบสุขภาพจึงไม่ใช่โรงพยาบาลศิราช หรือโรงพยาบาลรามาฯ เข้มแข็ง แต่ต้องเป็นชุมชนเข้มแข็งมากพอจะควบคุมโรคได้

  7. การสร้างเสริมสุขภาพ หากทำได้ทุกชุมชน จะเข้มแข็งขึ้นทั้งประเทศ

"ถ้าเป้าหมายทั้ง 7 ประการสามารถเป็นจริงในทุกชุมชน จะเกิดความยุติธรรมในชุมชน ถึงมีความขัดแย้งก็จะมีกลไกในการคลี่คลายความขัดแย้ง สิ่งเหล่านนี้จะทำให้เกิดสวรรค์บนดิน เราทำได้ เราพร้อมแล้วทั้งแนวคิด ทั้งกำลัง ระบบสาธารณสุขเองก็มีหมออนามัยและอื่นๆ อีกมาก เช่น เครือข่ายพยาบาลเพื่อชุมชน สถานีอนามัยที่มีในทุกตำบลที่จะร่วมมือกันเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพชุมชน"

ศ.นพ.ประเวศกล่าวต่อว่า การทำความดีไม่ต้องขออนุมัติ ที่สำคัญการเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาพชุมชนต้องคิดเป็นจุดเดียว อย่าไขว้เขว เพราะระบบสุขภาพทั้งหมดคือสุขภาพชุมชน หากชุมชนเข้มแข็ง ระบบสาธารณสุขก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย

"เริ่มมีการผลิตพยาบาลของชุมชนขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากสภาการพยาบาล และ อบต. ที่จะส่งเยาวชนในชุมชนไปเรียนพยาบาล จบแล้วก็กลับไปทำงานในชุมชน มีเงินเดือนให้ คาดว่าประมาณ 10 ปีข้างหน้า อาจผลิตพยาบาลชุมชมได้มากถึง 70,000 -100,000 คน ที่จะเข้ามาดูแลคนภายในชุมชนของตนอง"

ศ.นพ.ประเวศกล่าวด้วยว่า การจะเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนได้สำเร็จนั้น ต้องมีกลไกการสนับสนุนในรูปของเครือข่ายระบบสุภาพชุมชน ทั้งเครือข่ายพยาบาล ครู นักธุรกิจ และสื่อเพื่อชุมชน รวมทั้งต้องมีภาคีส่งเสริมสุขภาพชุมชนระดับจังหวัดและระดับชาติ ที่จะต้องทำการ Mapping อย่างต่อเนื่องว่าแต่ละจังหวัดมีโรงพยาลชุมชนไหนที่เข้มแข็งบ้าง และมีมากน้อยแค่ไหน โดยการ Mapping นี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสนับสนุนงานเชิงวิชาการและนโยบาย

"ระบบสุขภาพชุมชนคือประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ทั้งหมดนี้จะใช้ใจนำ อย่าเอาความรู้นำ ต้องเอาใจที่มีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์นำ เพราะจะทำให้เรากล้าหาญ กล้าเรียนรู้ การทำได้เช่นนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม ดังคำพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ศ.นพ.ประเวศกล่าว